“เมื่อก่อนชาวบ้านปลูกฝิ่นกว่าจะขายได้ต้องหลบๆซ่อนๆ ปลูกฝิ่นขายได้เงิน แต่คนที่รวยคือพ่อค้ารับซื้อ หลังปี 2520 ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯมาเยี่ยมเป็นครั้งแรก พวกเราจึงเริ่มมีตัวเลือกอาชีพที่ดีขึ้น ทำให้รู้ว่ามีพืช ผัก หลายชนิดที่ปลูกบนดอยได้ดี ทั้งผลไม้เมืองหนาว บ๊วย บร็อคโคลี่ พลับ ลูกไหน ผักอายุสั้น ไม่ต้องคอยหลบซ่อนปลูกฝิ่นตามป่าเขาเหมือนอย่างในอดีต ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ชาวบ้านดีขึ้น”
สิทธิพล แสงทวีเจริญผล ชาวบ้านหมู่ 8 ต.เวียง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย บอกว่า ตัวเองมีโอกาสดีกว่าหลายๆคน ได้เรียนหนังสือ หลังจบเทคนิคช่างยนต์เข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ ในโรงงาน แต่เบื่อชีวิตการเป็นลูกจ้างถึงขยันแค่ไหน ก็ไม่มีเงินมากพอเลี้ยงครอบครัว เลยตัดสินใจกลับมาบ้านเกิดปลูกผักแล้วใช้ชีวิตอย่างพอเพียง... ตามศาสตร์พระราชาในไร่มีผลไม้เมืองหนาวเป็นรายได้ประจำปี หากจะอยู่ให้ได้ต้องสร้างรายได้ต่อเดือน
ช่วงแรกเพื่อนบ้านปลูกผักอะไรทำตาม โดยยังไม่เข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์ เพราะไม่เข้าใจระบบ ผักที่ปลูกเก็บขายได้ ต้องขนบรรทุกทั้งหมดเข้าตลาดในตัวเมือง เสียเวลา ค่าขนส่ง ถึงปลายทางผักเริ่มไม่สด และขายไม่หมด หลายครั้งขนไป 200-300 กก. ขายได้ 50-80 กก. ที่เหลือต้องทิ้งไว้ข้างล่าง ไม่รู้จะขนกลับมาทำไม ทุนหายกำไรหด กระทั่งทางเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ชักชวนให้เข้าไปอบรม เมื่อเข้าใจระบบจึงเป็นสมาชิก
...
หลังจากเป็นสมาชิกสหกรณ์ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาขนส่ง ผักที่ส่งขายมีความสดใหม่ ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกกดราคา ที่สำคัญการปลูกผักแต่ละช่วง สหกรณ์จะเป็นผู้กำหนด วางแผนให้เป็นแบบ ‘ตลาดนำการผลิต’ เพื่อส่งเข้าไปขายในร้านสุกี้ชื่อดังในตัวเมือง
สำหรับพื้นที่ปลูกผัก สิทธิพล บอกว่า หากใช้พื้นที่มากเกินจะทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง ผักไม่มีคุณภาพ จึงปรับพื้นที่แค่ 2 งาน ทำเป็นแปลงย่อยๆ 4 แปลง ไว้สลับกันปลูก แปลง 1-2 เก็บผักขาย ครั้งต่อไปเปลี่ยนไปปลูกแปลงที่ 3-4 ส่วนแปลงเดิมปรับพื้นที่ใส่ปุ๋ยหมัก วิธีนี้ช่วยให้โรคเชื้อราใต้ดินไม่เกิดขึ้นง่าย และผักที่เป็นตัวเอกทำเงินได้ดีที่สุดคือ ‘เซเลอรี่’
เพื่อให้ได้ต้นกล้าเซเลอรี่ปลอดโรค จะใช้ต้นพันธุ์จากโครงการหลวงพร้อมกับปัจจัยการผลิตตัวอื่นๆ โดยสหกรณ์เป็นแหล่งเงินทุนดูแลให้ทั้งหมด ช่วงระยะเวลา 3 เดือน ก่อนที่เซเลอรี่จะถอนและเก็บขาย เจ้าหน้าที่โครงการหลวงจะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง พร้อมสุ่มตรวจความปลอดภัยตามหลักมาตรฐาน GAP ก่อนเก็บเซเลอรี่ทั้งหมดส่งเข้าโครงการหลวง ทำการบรรจุ แล้วส่งไปจำหน่ายยังร้านค้าต่างๆที่ร่วมโครงการ
...
ส่วนรายได้แต่ละปีจากการปลูกผักในพื้นที่ 2 งาน สิทธิพลบอกว่า แต่ละปีรายได้เฉลี่ย 200,000–250,000 บาท แต่ถ้าปีไหนฝนฟ้าดี ดึงมุ้งกางปิดหนีฝนทัน 300,000– 500,000 บาท เคยได้มาแล้ว.
เพ็ญพิชญา เตียว