ประเด็นร้อน “แม่น้ำโขง” ที่ “ลุงตู่” ตอบนักข่าวเรื่องระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เสมอเหมือนกับว่า...จะเมินเสียงค้านจากนักอนุรักษ์

ประเด็นปวดหัวใจที่บอกว่า...“การระเบิดร่องน้ำในแม่น้ำโขง ทำคนเดียวไม่ได้อยู่แล้ว...การดำเนินการอะไรก็ต้องมีการสมยอมกันทั้ง 4 ประเทศ ไม่ใช่อยู่ที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง อีกทั้งแม่น้ำโขง ก็ไม่ใช่ของประเทศไทยเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศไม่ใช่หรือ แล้วถ้ามีการดำเนินการจะเสียประโยชน์ตรงไหน”

เพียรพร ดีเทศน์ ในฐานะที่ทำงานอนุรักษ์และติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2545 ตอบว่า...แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ ที่ใช้ร่วมกัน ระหว่าง 6 ประเทศ จากต้นกำเนิดบนเทือกเขาหิมาลัย-จีน ผ่านพม่า ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม รวมความยาว 4,409 กิโลเมตร

เฉพาะประเทศไทยที่แม่น้ำโขงไหลผ่านพรมแดนก็มีถึง 8 จังหวัด คือ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ข้อตกลงเดินเรือเสรีแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ลงนามโดย 4 ประเทศ นำโดยจีน พม่า ลาว ไทย เมื่อเดือนเมษายน 2543 นำมาสู่การผลักดันโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ “ระเบิดแก่งแม่น้ำโขง” ที่มีแนวคิดจะทำให้แม่น้ำโขงตอนบนอันมีเกาะแก่งสลับซับซ้อน ไม่เหมือนแม่น้ำอื่นใด กลายเป็นเพียง “คลองเดินเรือ” ให้เรือขนาดอย่างน้อย 500 ตัน...เดินทางได้จากจีนตอนใต้ที่เมืองซือเหมา มณฑลยูนนาน ลงมาจนถึงเมืองหลวงพระบางของลาว...ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาจีน “ระเบิดแก่ง” ดำเนินการปรับปรุงร่องน้ำได้แค่ในเขตจีน ลาว พม่า โดยมีการปรับปรุงแก่งใหญ่ๆทั้งหมด 10 แก่ง แต่มาติดที่แก่งที่ 11 คือแก่งคอนผีหลง บริเวณพรมแดนไทย-ลาว อ.เชียงของ จ.เชียงราย เนื่องจากเพราะชาวบ้านไม่เห็นด้วย และขณะนั้นกระทรวงกลาโหมได้คัดค้าน เนื่องจากอาจกระทบพรมแดนไทย-ลาว

...

จีนได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก ลาว และพม่า ทำให้เรือจีนขนาด 300 ตันสามารถเดินเรือลงมาถึงท่าเรือเชียงแสนได้สบายๆ แต่ติดที่ไทยยังยืนกรานไม่ยอมให้ดำเนินโครงการอย่างเด็ดขาด แม้กระทั่งเรือสำรวจจีนจะเดินทางผ่านบริเวณพรมแดน จากสามเหลี่ยมทองคำถึงผาได อ.เวียงแก่น เจ้าหน้าที่ไทยก็ขอความร่วมมือขึ้นเรือและปิดผนึกอุปกรณ์การสำรวจทั้งหมดอย่างเข้มงวด

แต่สุดท้าย...เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้มีมติให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศ ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ค.ศ.2015-2025 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศ ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง

และการดำเนินงานเบื้องต้น (งานศึกษาสำรวจออกแบบ) รวมทั้งเห็นชอบให้กรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานปฏิบัติและประสานงาน

“ครูตี๋” หรือ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ มองว่า ปัจจุบันมีถนนเชื่อมสู่จีน คือถนน R3A (จากยูนนาน จีน) ผ่านลาว และข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 จากเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้วมุ่งตรงเข้าสู่ไทยที่ อ.เชียงของ แต่จีนยังไม่พอ...เพราะจีนต้องการเดินเรือทางน้ำโขง

ด้วยเห็นว่ามีต้นทุนถูกที่สุดเพราะเอาเรือใหญ่ล่องมา เป็นผลประโยชน์โดยตรงของจีนเพียงฝ่ายเดียว ประเด็นแม่น้ำโขงนั้น ต้อง ขอบอกว่า “แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ”...เป็น shared river แปลว่า...ใช้ร่วมกัน ไม่ใช่ของไทย ของใคร แต่ “ใช้ร่วมกัน”

นับตั้งแต่ยุคบรรพกาล ชุมชนสองฝั่งน้ำก็ใช้...รักษามาโดยตลอด ที่สำคัญประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง...ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม ก็มี “ข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538” ใช่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

เนื้อหาใจความที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า...ถ้าตอบว่าเป็นเรื่องของทรัพยากรก็หมดมาตั้งแต่ข้างบนแล้ว ปัญหาวันนี้น้ำข้างบนที่จะไหลลงมาข้างล่างก็ยังไม่พอเลย?

เพียรพร ตอบว่า “ข้างบน” หรือแม่น้ำโขงตอนบนในยูนนาน จีน มีเขื่อนสร้างตั้งแต่ปี 2539 คือเขื่อนมานวาน จนเวลานี้ก็สร้างไปแล้ว 6 อภิมหาเขื่อน และกำลังก่อสร้างอีก 3 เขื่อน เขื่อนใหญ่ที่สุดคือเขื่อนเซี่ยวหวาน สูงถึง 292 เมตร

ด้วยเขื่อนทั้ง 6 แห่งของจีน น้ำโขงปริมาณมหาศาลถูกกักเก็บอยู่ในอ่างเก็บน้ำ ทุกวันนี้เขื่อนของจีนระบายน้ำ-กักน้ำ โดยเขื่อนจิงหง ...Jinghong Dam ที่เชียงรุ้ง ห่างพรมแดนไทยไปราวๆ 340 กม. ก็ส่งผลกระทบกับบ้านเราเต็มๆ เพราะน้ำโขงที่ อ.เชียงแสน ในฤดูแล้งแทบจะร้อยทั้งร้อยไหลมาจากจีน

ผู้สังเกตการณ์ต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า...น้ำโขงที่จีนจะปล่อยลงมาหรือไม่นั้น ส่วนใหญ่เพื่อประโยชน์ของจีน เขาปล่อยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า และเดินเรือสินค้าของเขาเอาของมาขายเรา หากเขาจะเดินเรือ เขาก็ปล่อยน้ำมา ไม่สนว่ามวลน้ำนั้นจะท่วมหาดทราย-แปลงเกษตรริมฝั่งฤดูแล้ง

หรือพัดเรือ-บ้านเรือนชาวบ้านริมโขงเสียหาย หรือในฤดูน้ำหลาก เขื่อนก็กักเก็บน้ำไว้ เป็นการใช้งานเขื่อนโดยไม่สนใจฤดูกาลตามธรรมชาติ

สิบกว่าปีมานี้พบว่าเขื่อนจีนทำเอาระบบนิเวศ วงจรน้ำขึ้น-น้ำลง ตามฤดูกาลของแม่น้ำโขงแปรปรวน แต่ถึงกระนั้น แม่น้ำโขงก็ยังไม่ “พัง” เพราะยังมีเกาะแก่ง ระบบนิเวศที่ยังคงอยู่ โดยเฉพาะบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ที่ จ.เชียงราย

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำ คือ เรียกร้องให้จีน-เจ้าของเขื่อนแก้ไขปัญหานี้ทันที โดยบริหาร...ใช้งานเขื่อน โดยคำนึงถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายน้ำ และฤดูกาล

“ขณะนี้แม่น้ำโขงตอนบนเกิดความเสียหายไปบางส่วน ก็ต้องรีบแก้ไข...ฟื้นฟู ไม่ควรคิดว่าเลยตามเลย...แล้วปล่อยให้ใครมากระทืบซ้ำ ให้ตายไปจริงๆนะคะ”

สุดท้าย...ท่านนายกรัฐมนตรีประเทศไทยบอกว่า “ถ้าจะพูดถึงทรัพยากร เรื่องของเขื่อนปากมูล อยากถามว่าแล้วประมงพื้นบ้านหาเงินได้วันละเท่าไร น้ำมันตื้นขนาดนี้จะหาเงินได้เท่าไร แล้วก็มีการระบายน้ำทิ้งวันละไม่รู้กี่แสนลูกบาศก์เมตร ไปคิดกันเอาเอง?”

...

เพียรพร ตอบว่า ลุ่มน้ำโขงเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก The World’s Largest Inland Fisheries ประชาชนหลายล้านคนใน 4 ประเทศน้ำโขงตอนล่างจับปลาและสัตว์น้ำได้ปีละ 1.9-4 ล้านตัน...ปลาแม่น้ำโขงเป็นแหล่งโปรตีนที่ชาวบ้านจับได้ฟรีๆ

จากแม่น้ำ เป็นแหล่งรายได้ แหล่งอารยธรรมของภูมิภาคนี้ รวมทั้งอารยธรรมสมัยนครวัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ทะเลสาบเขมร

“ราคาปลาน้ำโขงปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่าราคาแพง และหายาก เช่นที่เชียงของ จ.เชียงราย ปลาเนื้ออ่อนหรือปลานาง ราคากิโลกรัมละ 450 บาท หากมีคนหาปลาจับได้ บรรดาร้านอาหารต่างแย่งกันซื้อ...ปลาน้ำโขงทุกวันนี้มีเงินก็ไม่ใช่ว่าจะได้กิน”

ที่ลาวใต้-สีพันดอน ชาวบ้านสามารถจับปลาน้ำโขงได้มากถึงฤดูกาลละ 1-10 ตันต่อครอบครัว มีรายได้นับล้านบาท ที่กล่าวว่ามี...“การระบายน้ำทิ้ง” ต้องขอตอบว่าไม่มีค่ะ แม่น้ำโขงที่ไหลไปนั้น คือสิ่งหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต หล่อเลี้ยงระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากแม่น้ำอเมซอน แม่น้ำโขงไม่ใช่ท่อน้ำหรือคลอง แม่น้ำโขงมีวัฏจักรน้ำขึ้นน้ำลงหมุนเวียนตามฤดูกาล

“แม่น้ำโขง” คือชีวิต คืออู่ข้าวอู่น้ำผู้คนริมเส้นทางน้ำ...เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า.