เมื่อวานนี้ผมเขียนเล่าถึงความในใจของพวกเราในเครือไทยรัฐ ทั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, ไทยรัฐออนไลน์และไทยรัฐทีวี กับความมุ่งมั่นในการจัดทำหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิเศษ “แสง สี เสียง และสื่อประสม” เนื่องในวาระ 100 วันแห่งความอาลัย ที่พสกนิกรชาวไทยมีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9

โดยนำความถนัดของพวกเราทั้ง 3 สื่อ ทั้งการเขียน การถ่ายภาพ และการถ่ายทำวีดิโอมาไว้ในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน ทำให้กลายเป็นหนังสือพิมพ์พูดได้ ร้องไห้ได้ หัวเราะได้ ฟังเพลงได้

ยกตัวอย่างไว้ว่า หากท่านผู้อ่านใช้โทรศัพท์มือถือที่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Thairath AR ไว้เรียบร้อยแล้ว ส่องไปในภาพที่มีจุดเครื่องหมายบ่งบอกไว้ของทุกๆหน้า ท่านก็จะพบกับภาพเคลื่อนไหวจากวีดิโอที่บันทึกเหตุการณ์เดียวกัน มาประกอบการอ่านของท่านด้วย

ซึ่งจะทำให้การอ่านของท่านมีรสชาติมากขึ้น เพราะจะมีภาพและเสียง ตลอดจนแสงสีมาให้ท่านชมของจริงในเรื่องเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องสร้างจินตนาการ

ไม่ว่าวีดิโอการอ่านประกาศสำนักพระราชวังของโฆษกหนุ่มกรมประชาสัมพันธ์ ที่สั่นสะเทือนขวัญและเรียกน้ำตาคนไทยทั้งประเทศ, ภาพการแห่พระบรมศพ, การบันทึกเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับประวัติศาสตร์โดยท่านมุ้ย, ภาพและพระสุรเสียงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และเพลงพระราชนิพนธ์ไม่น้อยกว่า 2-3 เพลง

...

ผมจำเป็นต้องตัดออกไปเพลงหนึ่ง เพราะเนื้อที่เกิน ขออนุญาตนำมาเรียนเพิ่มเติมในวันนี้ได้แก่เพลง เหมือนเคย ของ บอย โกสิยพงษ์ ที่ในหลวง ร.9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงโปรดเพื่อประกอบกับภาพสไลด์ชุด อภิเษกสมรส

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น เพราะจากไทยรัฐฉบับพิเศษของเราซึ่งมีถึง 32 หน้า เฉลี่ยหน้าละ 2 จุด 2 วีดิโอ รวมแล้วจึงไม่ต่ำกว่า 60 วีดิโอที่เราคัดเลือกมาสำหรับหนังสือพิมพ์บันทึกประวัติศาสตร์ฉบับนี้

เทคนิคที่นำมาใช้นี้ท่านผู้อ่านคงทราบแล้วว่าในภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Augmented Reality หรือ AR

ซึ่งจะสร้างกราฟฟิก 3 มิติ แสง สี เสียง แบบ 360 องศาจากโลกเสมือนซ้อนทับกับโลกของความเป็นจริง โดยใช้อุปกรณ์บางอย่างเข้าช่วย ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต แว่นตา หรือกล้อง ฯลฯ

บางท่านก็เรียกเจ้า AR นี้ว่า เทคโนโลยีความจริงเสริม ซึ่งเป็นการผนวกโลกแห่งความเป็นจริงและโลกดิจิทัลเข้าด้วยกัน

ตัวอย่างที่เด่นชัดของ AR ก็คือเกม โปเกมอน โก ที่ฮิตสุดขีดเมื่อปีที่แล้วนั่นเอง ท่านที่หลงใหลเกมนี้มาก่อน คงจะจำได้ถึงความตื่นเต้นสุดขีด เมื่อมองเห็นโปเกมอนมากระโดดเด้งดึ๋งๆอยู่บนเตียงของเรา

ในทางสื่อสิ่งพิมพ์ก็มีการนำเทคโนโลยี AR มาใช้หลายปีแล้ว แม้ในบ้านเราก็มีการทำอยู่บ้าง แต่มักจะทำเพียงไม่กี่ภาพ หรือไม่กี่จุดในสื่อสิ่งพิมพ์แต่ละฉบับ

แต่สำหรับไทยรัฐฉบับพิเศษของเรา จะทำถึง 60 กว่าจุด 60 กว่าวีดิโอ มากที่สุดเท่าที่เคยมีการใช้เทคนิคนี้สำหรับการทำหนังสือพิมพ์บ้านเรา

ต้องขอขอบคุณ “อุ๊คบี” หรือ OOKBEE ด้วยครับ ที่มาร่วมหัวจมท้ายกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับนี้

แน่นอนการจะเข้าดูได้ต้องมีการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Thairath AR อย่างที่ว่า ก็ขอเชิญท่านเปิดอ่านวิธีดาวน์โหลดได้ในหน้าโฆษณาของไทยรัฐ ซึ่งเราจะตีพิมพ์ให้ทราบเป็นระยะๆ

ก็มาถึงคำถามสำคัญคำถามหนึ่งว่า สำหรับผู้อาวุโสจำนวนมากในประเทศนี้ ซึ่งไม่สันทัดเทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งพ่อแม่พี่น้องชาวต่างจังหวัด อีกจำนวนมากที่ไม่มีมือถือ แต่มีความจงรักภักดีเปี่ยมหัวใจ สมควรจะแสวงหาหรือเก็บหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิเศษนี้ไว้เป็นที่ระลึกหรือไม่?

ผมขอยืนยันว่าสมควรอย่างยิ่งครับที่จะไปซื้อไทยรัฐฉบับวันที่ 20 ม.ค. สำหรับ กทม.และภาคกลาง และ 21 ม.ค. สำหรับเหนือ อีสาน ใต้ เพื่อจะได้ฉบับพิเศษเป็นของแถมทันทีที่ออกวางตลาด

เพราะเนื้อหาสาระที่เรารวบรวมไว้ ภาพนิ่งที่เราลงตีพิมพ์ไว้ ซึ่งจะมีทั้งภาพใหม่และภาพเก่าที่หาดูยาก ประกอบกับการพิมพ์ในระบบ 4 สีทุกหน้าอย่างสวยงาม...แค่นี้ก็เกินคุ้มแล้วครับ ที่จะเก็บไว้ในห้อง หรือหิ้งหนังสือ หรือหลายๆท่านก็เก็บไว้บนหิ้งบูชา

เพื่อให้ลูกๆหลานๆในอนาคตได้อ่านเอกสารบันทึกประวัติศาสตร์ฉบับนี้ รวมทั้งตัวเราเองด้วยที่สามารถจะหยิบขึ้นมาอ่านได้ทุกเมื่อ... เพื่อน้อมรำลึกถึงในหลวง ร.9 ของพวกเราชาวไทย.

“ซูม”