พวกเราทุกคนไม่ได้คิดแค่ว่าทำ 'หนังสือพิมพ์' แต่เรากำลังใช้ 'หัวใจ' บันทึกเหตุการณ์ 'ประวัติศาสตร์' ทั้งความสุข ความโศกศร้าของคนทั้งประเทศ เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของคนไทย...
ผู้บริหารหนุ่มฉายแววตามุ่งมั่นบอกผมแบบนั้น และเว้นจังหวะก่อนกล่าวเสียงหนักแน่น เป็นเสียงที่รู้สึกได้ว่าออกมาจากหัวใจว่า 'หลังจากนี้ไปหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษครบ 100 วันในหลวงสวรรคต ออกจากแท่นพิมพ์วันที่ 20 ม.ค.ออกไปจะไม่ใช่ของเราไทยรัฐ แต่มันเป็นหนังสือพิมพ์ของคนไทยทุกคน'
20 ม.ค.จะกลายเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่จะถูกจดจารบนหน้าประวัติศาสตร์ในใจคนไทย ไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสได้เปิดใจ วัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวีหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมสำคัญในงานครั้งนี้ กับ หนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษครบ 100 วันในหลวงสวรรคต แสง สี เสียง และสื่อประสม
หนังสือพิมพ์ที่ย้ำว่าเป็นมากกว่ากระดาษเพราะมันถูก 'ถักทอ' เรียงร้อยออกมาจาก 'หัวใจคนไทย' ที่เกิดอยู่ในผืนแผ่นดินไทยท่ีปกครองโดยธรรมของพระราชา
...
Q : เชื่อว่าทันทีที่ภายในรู้ว่าจะเกิดโปรเจกต์นี้ ต่างก็ตื่นเต้น เต็มตื้นไปด้วยความรู้สึกในการร่วมเป็นหนึ่งเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์สุดพิเศษมากเกินประมาณ แต่ถ้าจะอธิบายให้คนทั่วไปรู้และเข้าใจ ความอิ่มเอมแบบที่เราอิ่มเอมที่ร่วมเป็นหนึ่งในการบันทึกประวัติศาสตร์การแสดงความอาลัยต่อการสวรรคตของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 อยากให้คุณเล่าให้ฟังหน่อยว่าโปรเจกต์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับสุดพิเศษนี้เริ่มต้นมาจากอะไรครับ
A : เริ่มจากที่เรานั่งคุยกันว่าอยากทำหนังสือสักหนึ่งฉบับที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ 'พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช' ภายหลังที่พระองค์เสด็จสวรรคต เราก็มาประชุมกันว่าในฐานะที่ทำงานตรงนี้มีอะไรที่ทำได้อย่างสุดความสามารถแล้วเป็นโปรเจกต์ที่สามารถใช้ศักยภาพของทุกๆ สื่อในไทยรัฐกรุ๊ปเข้ามามีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ได้บ้าง สิ่งที่ผมคิดได้คือเทคโนโลยี AR (อ่านเพิ่ม : พลิกโฉมหนังสือพิมพ์! 'ไทยรัฐ' ผุดแอป AR มิติใหม่รับยุคดิจิตอล, Thairath AR พร้อมเสิร์ฟ! รู้จัก 2 ผู้เนรมิตแอปประวัติศาสตร์บทใหม่ นสพ.) ซึ่งมันตอบโจทย์ชีวิตของผู้คนยุคนี้ที่มีสมาร์ทโฟน ดูวิดีโอคลิปแทบทั้งหมด จึงเป็นที่มาของหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษนี้ที่มีทั้งแสงสีเสียง และสื่อประสม ซึ่งถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของวงการสื่อที่นำเทคโนโลยีตรงนี้มาใช้ผสมผสานทั้งแสง สี เสียง ได้เต็มอรรถรสการรับชม โดยที่ต้องไม่ทิ้งความมีคุณค่าของกระดาษหนังสือพิมพ์ จึงเกิดเป็นโปรเจกต์พิเศษนี้ขึ้นมา
Q : ช่วยเล่าการแบ่งงาน การร่วมทำงาน ผสานกันด้วยหัวใจจงรักภักดีของคนสื่อไทยรัฐกรุ๊ป เพื่อทำหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษนี้ให้ฟังหน่อย
กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์เป็นคนรวมคอนเทนต์จัดทำ หาภาพ หรือเขียนข้อเขียนต่างๆ ที่อยู่ในตัวหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ส่วนไทยรัฐทีวีเข้ามาเสริม นำมัลติมีเดียผ่านแอป AR ตัดต่อ ภาพเสียง หรือค้นหาภาพกราฟิกที่เราทำขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น 3 D ที่จะมาอยู่บนหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ไทยรัฐออนไลน์เป็นคนที่ติดต่อ ช่วย develop หาพาร์ทเนอร์เพื่อให้เกิดแอปพลิเคชันนี้ เรียกว่าเป็นงานแรกเลยก็ว่าได้ ไทยรัฐได้ใช้สื่อสามแขนงของเราผสมผสานร่วมกันทำงานออกมาในงานนี้
ซึ่งต้องขอบคุณที่ทุกคนตั้งใจทุ่มเทมากๆ หลายครั้งก็ต้องประชุมกันในวันหยุด ที่สุดก็มาลงตัวว่าเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษ 32 หน้า เนื่องในวาระ 100 วัน แห่งความอาลัย ในรูปแบบ แสง สี เสียง และสื่อประสมทั้งฉบับแนบไปพร้อมกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยมีแอปพลิเคชัน THAIRATH AR (ฟรี)ที่ใช้ควบคู่กัน
...
Q : หนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษจำนวน 32 หน้าจะมีอะไรบ้างที่ตั้งใจไว้
มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ตั้งแต่หลังมีแถลงการณ์สำนักพระราชวัง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต เรื่องราวความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจของประชาชนทั้งประเทศ การรอการเคลื่อนพระบรมศพของพระองค์ท่าน การไปเฝ้ารอการสักการะย้อนไปถึง มีเรื่องราวของพระราชกรณียกิจต่างๆ หรือสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทำให้ประเทศชาติ ทำเพื่อประชาชนคนไทยที่ผ่านมา กระทั่งเรื่องราวส่วนพระองค์ที่หลากหลาย พระปรีชาสามารถของในหลวง รัชกาลที่ 9 และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเทคโนโลยีตัวนี้ (AR) จะทำให้ผู้อ่านอ่านผ่านเทคโนโลยีมากมายที่ว่านี้ได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
ส่วนตัวผมชอบและภาคภูมิใจกับทุกหน้านะครับ ให้เลือกหน้าไหนเป็นพิเศษไม่ได้ เพราะมันมีความหลากหลายทางอารมณ์ ให้เลือกหน้าใดหน้าหนึ่งเป็นพิเศษไม่ได้ เพราะทุกหน้ามาจากความตั้งใจจริงของพวกเราทั้งหมด บางหน้าก็มีบทเพลงที่พระองค์พระราชนิพนธ์ บางหน้าก็เป็นเรื่องราวที่สำคัญหรือพระราชกรณียกิจ เราก็ทำกราฟิกอธิบายให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นก็มีความสำคัญ หรือบางหน้าที่เป็นพระราชดำรัสอวยพรปีใหม่ที่ท่านพระราชทานพร ก็มีความซาบซึ้ง ผมเลือกไม่ได้จริงๆ เพราะแต่ละเรื่องราวมีความสำคัญที่สุด ทุกอย่างมีความสำคัญมันจะขาดไปสักช่วงสักตอนเรื่องก็จะไม่สมบูรณ์
Q : ในวันที่ 20 มกราคมนี้ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิเศษครั้งนี้พิมพ์ 3 ล้านฉบับในครั้งเดียว เป็นการพิมพ์หนังสือพิมพ์คราวเดียวที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
ใช่ครับ ปกติหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจะพิมพ์วันละ 1 ล้านฉบับอยู่แล้ว มาครั้งนี้เราพิมพ์ถึง 3 ล้านฉบับ เรียกว่าเป็นการพิมพ์หนังสือพิมพ์ที่มากที่สุดในประเทศไทย แล้วก็น่าจะมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการหนังสือพิมพ์ หรือวงการพิมพ์เลยทีเดียว เพราะเราตั้งใจอยากกระจายให้ถึงประชาชนให้ได้มากที่สุดให้ทุกคนมีโอกาสได้มาครอบครอง
...
หนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษนี้เราเรียกว่า 9 ดาว ซึ่งมีการเตรียมงานล่วงหน้าเพื่อให้ปรากฏสู่สายตาประชาชนให้สมบูรณ์แบบที่สุด นอกจากเรื่องเตรียมกระดาษ และเทคโนโลยี การเตรียมคอนเทนต์ต่างๆ ที่อยากจะนำเสนอโดยเฉพาะรูปภาพซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของเรา ไทยรัฐมีคลังภาพเหล่านี้มหาศาล ซึ่งเป็นโอกาสที่เราได้หยิบยกรูปภาพทรงคุณค่าเหล่านี้ที่เก็บมานาน แม้กระทั่งช่างภาพบางท่านไม่มีชีวิตอยู่แล้ว เอามาให้ตีพิมพ์ครั้งนี้ หลายภาพเป็นภาพที่ทรงคุณค่า และเชื่อว่าจะมีบางภาพที่ยังไม่เคยเห็น แล้วอยากให้ทุกคนเห็นกัน
Q : ถามความรู้สึกส่วนตัวอยากให้คุณเล่าหน่อยว่าแต่ละช่วงเวลา แต่ละขั้นตอนที่โปรเจกต์พิเศษนี้เดินทาง ความรู้สึกของคุณเป็นอย่างไร
การทำงานที่มันยากหนักหนาสาหัส กว่าจะคัดกรอง กว่าจะทำทุกๆ อย่างเพื่อไม่ให้มีความผิดพลาด เราต้องละเอียดทุกๆ ขั้นตอน ความละเอียด ความเหมาะสม การเลือกภาพการจัดวาง แม้กระทั่งข้อเขียนต่างๆ เราคำนึงถึงตรงนี้เป็นอย่างมาก (เน้นเสียง) ต้องไม่มองข้ามแม้แต่เรื่องเล็กๆ
ถามว่ารู้สึกอย่างไรในแต่ละจังหวะก้าวกว่าจะมีหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษนี้ออกมา มันเป็นความร่วมมือร่วมใจของพวกเราชาวไทยรัฐทุกคนไม่มีใครเกี่ยงเลย อย่างที่บอก มันไม่ใช่งานประจำที่เราต้องรับผิดชอบ แต่ทุกคนแม้ว่าจะหาวันประชุมกันไม่ได้ ในวันธรรมดา แต่ก็สละเวลามาทำงานกันในวันหยุด มาประชุมกัน เพื่อที่จะให้หนังสือพิมพ์เล่มนี้สมบูรณ์แบบที่เราตั้งใจเอาไว้
...
Q : ตอนนี้รู้สึกอย่างไรบ้างก่อนที่หนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษเล่มแรกออกมาจากแท่นพิมพ์ปรากฏสู่สายตาของคนไทยทั้งประเทศ
ตื่นเต้น แล้วก็กังวลด้วยว่า จะผิดพลาดหรือว่าจะไม่สมบูรณ์หรือเรียบร้อย แต่เชื่อว่า ด้วยความทุ่มเทของทุกๆ ฝ่าย การทุ่มเทของทีมงานทุกๆ คน ทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งน่าแปลกเพราะทุกอย่างที่ดูว่ายาก และหนัก แต่มันก็ราบรื่นราวกับมีปาฏิหาริย์ หันไปทางไหนใครๆ ก็เข้ามาช่วยเหลือให้มันผ่านพ้นไปด้วยดี
อย่างที่ผมเคยพูดไป 'หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เราไม่ได้คิดว่าเป็นหนังสือพิมพ์ แต่เรากำลังบันทึกประวัติศาสตร์เป็นการถวายงานอีกครั้งครั้งสุดท้าย' ก็ว่าได้ ทำเพื่อคนไทยที่รักและเทิดทูนพระองค์ท่านมาก ที่สำคัญได้ทำงานชิ้นนี้เพื่อเทิดพระเกียรติให้แด่ท่าน หนังสือพิมพ์เล่มนี้ไม่ใช่แค่ของคนไทยรัฐ แต่มันเป็นของคนไทยทั้งประเทศ
Q : ขออนุญาตย้อนกลับไปวันที่น้ำตาคนไทยท่วมเป็นมหาสมุทร 13 ต.ค. คุณทำอะไรอยู่
วันนั้นอยู่ที่สำนักงาน คอยติดตามข่าวสาร ในขณะเดียวกันจังหวะมีแถลงการณ์ยืนยันออกมาก็ต้องวิ่งสั่งงานเราก็ต้องชัวร์ว่าทุกอย่างดำเนินไปได้ ในฐานะสื่อเราก็ต้องรายงานให้กับประชาชนรับทราบ ช่วงเวลานั้นผมซึมแล้ว (เสียงเศร้า) แต่หลายส่วนที่เราสั่งงาน ทีวีพร้อมไหม เว็บไซต์เราก็ต้องเตรียมพร้อมเวลาทุกครั้งที่เกิดเหตุใหญ่ เว็บไซต์เราคนจะเข้ามาดูเยอะมาก เราจะต้องเตรียมความพร้อมระบบ คอนเทนต์ต่างๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากๆ ต้องปรึกษาผู้ใหญ่บ่อย อันไหนได้ไม่ได้
พอเมื่อจบงานเรียบร้อยในวันนั้นเรียบร้อย ไปดูทีวี เว็บไซต์ ไปดูแท่นพิมพ์หนังสือพิมพ์เสร็จแล้ว ถึงบ้านตี 2 จู่ๆ น้ำตามันก็ไหลออกมา ด้วยความรู้สึกสูญเสีย ตกใจ ใจหาย ไม่คิดว่าวันนี้จะมาถึง และไม่อยากให้มันมาถึง
Q : ไม่คิดว่าจะเกิดในช่วงยุคสมัยเรา
เราไม่เคยคิดครับ แล้วก็ไม่เคยคิดว่าจะเกิดในช่วงชีวิตเรา สำหรับผมพระองค์ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ท่านเป็นต้นแบบ เป็นแบบอย่าง เป็นแรงบันดาลใจ ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดยอด สำหรับคนไทยทั้งประเทศ เราจะเห็นว่าหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา ถ้าไม่มีพระองค์ท่านประเทศไทยเดินหน้าลำบาก จนกระทั่งมาถึงวันนี้ หลายเหตุการณ์เชื่อว่าพระองค์ท่านเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ เรียกว่า เป็นได้ทุกอย่างสำหรับพวกเรา เราจะเป็นคนไทยที่เกิดในรัชกาลที่ 9 รุ่นสุดท้าย พวกเราถือว่ามีบุญที่ครั้งหนึ่งเกิดมาอยู่ในร่มพระบารมีและทรงดูแลพวกเรามาอย่างยาวนาน
สุดท้ายถ้าเป็นไปได้ ผมตั้งใจไม่ลืมคำสอนของท่านไม่ว่าจะทรงจากเราไปกี่ปีๆ ผ่านไปก็จะต้องยึดมั่นในคำสอนเป็นคนดีของสังคม ทุกคนต้องช่วยกัน และก็พาประเทศไทยไปข้างหน้า ก้าวหน้าสิ่งที่ท่านอยากเห็นมากที่สุดคือคนไทยรักกัน
Q : สุดท้ายวันที่ 20 ม.ค. คุณคาดหวังอะไรทันทีที่หนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษครบ 100 วันในหลวงสวรรคตออกจากแท่นพิมพ์บ้าง
คาดหวังว่า ประชาชนจะสนใจและเก็บหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษเล่มนี้รักษาไว้อย่างดีที่สุด เพื่อเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของพสกนิกรชาวไทย ให้เราระลึกถึง คิดถึงพระองค์ท่านตลอดไป
Q : พระองค์ท่านยังทรงไม่ไปไหน?
พระองค์อยู่ในใจพวกเราทุกคน อย่างที่ผมย้ำเสมอว่า 'แม้ว่าไทยรัฐจะทำหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษนี้ขึ้นมา ทันทีที่ทุกกระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้น และสู่สายตาประชาชนทั้งประเทศ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้จะไม่ใช่ของใครคนได้คนหนึ่ง เราหวังว่ามันเป็นหนังสือพิมพ์ของคนไทยทั้งประเทศจริงๆ'
INTERVIEW : RAYDO LifeStyle
VIDEO CONTENT : HELOG