วิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีเออาร์ในประเทศไทย อะไรเป็นปัจจัยสนับสนุน สาเหตุใดเป็นอุปสรรค อนาคตจะเป็นอย่างไร…

อย่างที่เคยเกริ่นไปแล้ว ว่า "เทคโนโลยีเออาร์" (Augmented Reality : AR) เริ่มมีบทบาทและแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่หลายครั้งยังไม่ทันรู้ตัว ว่านั่นคือเทคโนโลยีที่เรียกว่าเออาร์!

จากความนิยมใช้งานสมาร์ทโฟนและแอพพลิเคชั่น ที่กลมกลืนกับการใช้ชีวิตประจำวันของคนยุคเสพติดแชตและโซเชียล จนกลายเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ยิ่งทำให้ภาคธุรกิจเล็งเห็นโอกาสจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ทั้งการขยายบริการและสินค้า สร้างการรับรู้ในแบรนด์ รวมถึงประโยชน์สูงสุดในการช่วยให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างเจาะจงและใกล้ชิด

สำหรับแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีเออาร์ในประเทศไทย อาจเรียกได้ว่า...อยู่ในช่วงเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ แม้ว่าอุปกรณ์ที่ต้องใช้งานในฝั่งผู้บริโภคจะมีเพียงสมาร์ทโฟน แอพพลิเคชั่น และอุปกรณ์เสริม เช่น หนังสือ หรือป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ


แต่ในฝั่งของผู้ให้บริการนั้น การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเออาร์ หมายถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับเทคโนโลยี! นอกจากต้องมีงบประมาณลงทุนด้านเทคโนโลยี ยังต้องมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่สามารถรองรับการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้แก่ผู้บริโภค และเมื่อพูดถึงงบประมาณที่ธุรกิจต้องลงทุนให้เทรนด์เออาร์นี้ อาจใช้งบประมาณไม่มากเท่ากับการใช้ระบบไอทีในรูปแบบอื่น รวมถึงการลงทุนกับสื่อประเภทต่างๆ เพื่อทำตลาด จัดอีเวนต์ หรือทำแคมเปญให้ติดหูติดตาผู้บริโภค

และแม้ว่าเทคโนโลยีเออาร์จะดูมีประโยชน์และข้อดีกับภาคธุรกิจในยุคที่ทุกแบรนด์ต้องแข่งขันบนโลกดิจิตอล แต่ก็ยังมีปัจจัยที่อาจสร้างข้อจำกัดต่อการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว คือ เรื่องการพัฒนาระบบที่ทำได้ไม่น่าสนใจมากพอ ระบบไม่เสถียร หรือแม้แต่คอนเทนต์และรายละเอียดในการนำเสนอยังไม่สามารถดึงดูดความสนใจผู้คนได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาสกัดดาวรุ่งเทคโนโลยีเออาร์ได้ทั้งสิ้น

หากใครยังสงสัยว่า ภาคธุรกิจจำเป็นต้องลงทุนกับเทคโนโลยีเหล่านี้ไปทำไม นำเม็ดเงินมาลงทุนกับด้านงานบริการลูกค้าหรือบริการหลังการขายเพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ผู้บริโภคจะไม่ดีกว่าหรือ คำตอบ คือ…หลายๆ ธุรกิจเดินทางมาจนใกล้ถึงทางตันเสียแล้ว จะให้ลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งหมดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ไหนจะมีเรื่องการลงทุนจำนวนมหาศาล ไหนจะเรื่องภาพจำในแบรนด์ที่ผู้บริโภคมีมาอย่างยาวนาน ดังนั้น การเพิ่มเติมเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่ได้สร้างความยุ่งยากในการใช้งานแก่ผู้บริโภค แต่สามารถลงทุนได้และสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับภาพลักษณ์หรือแบรนด์เดิมได้ ยิ่งทำให้...เทคโนโลยีเออาร์ อาจกลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในเวลานี้ โดยเฉพาะแบรนด์หรือธุรกิจที่ดำเนินกิจการในรูปแบบเดิมๆ มาอย่างยาวนาน

...


อ่านมาจนถึงตรงนี้ หลายคนอาจยังรู้สึกว่าเทคโนโลยีเออาร์ไม่ใช่สิ่งสำคัญของภาคธุรกิจ ซึ่งความคิดเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเทคโนโลยีเออาร์นี้... "ถือเป็นเทรนด์" หมายถึงเป็นแนวโน้มในอนาคต เป็นรูปแบบใหม่ๆ ที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสนใจ เพราะยุคนี้สมัยนี้ ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ต้องพึ่งพาแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้งาน ดังนั้น การต่อยอดการใช้งานด้วยแอพพลิเคชั่นจึงถือเป็นช่องทางที่สร้างโอกาสได้ง่ายและอยู่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากที่สุด

และแม้ว่าผู้บริโภคชาวไทยอาจยังไม่ให้ความสำคัญกับบริการในรูปแบบเออาร์มากนัก แต่เชื่อเถอะว่า เมื่อไหร่ที่ "ยักษ์ใหญ่" สักแบรนด์สักธุรกิจ กล้าขยับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีเออาร์อย่างชัดเจน จนกลายเป็นการเปิดประตูด่านแรก สามารถสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคในวงกว้าง เมื่อนั้น...ตลาดเทคโนโลยีดังกล่าวจะยิ่งเปิดกว้างให้ภาคธุรกิจพากันกระโจนเข้ามาสร้างสีสันได้อย่างหลากหลาย จนท้ายที่สุด เราก็จะได้เห็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเออาร์กับบริการรอบตัวคนไทยอีกหลายรูปแบบ ฟันธง...!!!