ย้อนดูภาคธุรกิจเมืองไทยใช้เทคโนโลยีเออาร์ หวังขยับขยายบริการสู่ผู้บริโภค พร้อมบทสรุปว่าทำไมเราถึงเห็นเออาร์รอบตัวมากขึ้น…
เมื่อพูดถึง "เทคโนโลยีเออาร์" (Augmented Reality : AR) หลายคนอาจมองว่าเป็นเทคโนโลยีไกลตัว ฟังแล้วยากจะเข้าใจ และคงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของเรา และหากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีความคิดเช่นนั้น เราต้องคงขอให้คุณคิดใหม่ เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีเออาร์ได้เข้ามามีบทบาทอยู่ในชีวิตของคุณอย่างแยบคาย อาจเพียงว่าคุณยังไม่รู้ตัว!
ตามที่ "ไทยรัฐออนไลน์" ได้เคยแนะนำให้คุณรู้จักกับเทคโนโลยีเออาร์ไปก่อนหน้านี้ หากยังไม่แน่ใจว่าเทคโนโลยีเออาร์มีอยู่รอบตัวจริงหรือ เราจะพาคุณเข้าสู่โลกจินตนาการเสมือนจริงนี้อีกครั้ง เพื่อรำลึกและค้นหาคำตอบว่ามีเทคโนโลยีเออาร์ในรูปแบบไหนบ้างที่วนเวียนอยู่รอบตัวคุณ
ในต่างประเทศ...เทคโนโลยีเออาร์มีบทบาทอย่างแพร่หลายแทบทุกภาคธุรกิจ เช่น การจำลองภาพโบราณสถานให้ปรากฏขึ้นทันทีที่ใช้สมาร์ทโฟนส่องไปยังหนังสือประวัติศาสตร์, ช็อปปิ้งให้สมจริงยิ่งขึ้นด้วยการทดลองสวมเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับผ่านโปรแกรมที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว, เกมต่างๆ ที่ทำให้ผู้เล่นรู้สึกสมจริงยิ่งขึ้นด้วยภาพแบบ 3 มิติ หรือมองเห็นได้ 360 องศา, สร้างสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบมัลติมีเดียเพียงใช้สมาร์ทโฟนส่องไปยังปกหนังสือ, การค้นหาสถานที่ให้ปรากฏเป็นรูปแบบ 3 มิติ และ 360 องศาในแอพพลิเคชั่นนำทาง, การส่องมือถือไปยังฉลากข้างขวดเครื่อปรุง เพื่อดูข้อมูลวัตถุดิบภายในขวด เป็นต้น
...
ส่วนในประเทศไทย...ธุรกิจที่นำเทคโนโลยีเออาร์เข้ามาใช้งานจนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและโด่งดังไปทั่วโลก คือ "เกมโปเกมอน โก" (Pokemon Go) กับโหมด AR ที่ทำให้การไล่ล่าโปเกมอนสมจริงยิ่งขึ้น เหมือนว่ามีโปเกมอนโผล่ขึ้นมาอยู่หน้าคุณเลยทีเดียว
"ไปรษณีย์ไทย"
ก็เคยเปิดตัวแอพพลิเคชั่นค้นหาสถานที่ทำการไปรษณีย์บริเวณใกล้เคียง โดยใช้เทคโนโลยีเออาร์เช่นกัน เพียงใช้สมาร์ทโฟนส่องออกไปบริเวณรอบๆ ตัวคุณ ระบบก็จะปรากฏที่ทำการฯ ในพิกัดต่างๆ รอบตัวคุณขึ้นมาทันที ทั้งยังสามารถแชร์ข้อมูลผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ด้วย
"หนังสือเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9"
เมื่อหลายปีที่ผ่านมาเคยมีการจัดทำหนังสือเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีเนื้อหาเข้าใจง่ายและมีภาพประกอบเป็นการ์ตูนวาดสวยงามเหมาะสำหรับเด็กๆ โดยการใช้งานก็ผสานเข้ากับเทคโนโลยีเออาร์และสมาร์ทโฟนที่มีแอพพลิเคชั่นพร้อมใช้งาน เพียงยกขึ้นส่องก็จะเห็นภาพและข้อความต่างๆ ลอยขึ้นมาจากหน้าหนังสือ
"การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค"
หลายๆ หน่วยงานต่างมีแอพพลิเคชั่นออกมาให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค แต่สำหรับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน ทั้งยังรวมเข้ากับเทคโนโลยีเออาร์เพื่อให้บริการ 8 ฟังก์ชั่น เช่น การ์ตูน 3 มิติ, บริการติดต่อคอลล์เซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง, บริการข้อมูลลูกค้าเชื่อมโยงระบบเข้ากับค่าใช้ไฟฟ้าทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
"ดิ เอ็มดิสทริค"
ห้างหรูอย่างดิ เอ็มโพเรี่ยม และดิ เอ็มควอเทียร์ ก็เคยออกแบบถุงช็อปปิ้งให้มีชีวิตชีวาและแหวกแนวจากถุงแบบเดิม ด้วยการทำถุงช็อปปิ้งแบบพิเศษให้ปรากฏเป็นภาพไดโนเสาร์แบบ 3มิติ เพียงใช้มือถือส่องไปที่สัญลักษณ์ถุงช็อปปิ้งดังกล่าว เพื่อสร้างสีสันใหม่ให้กับการถ่ายภาพในบริเวณศูนย์การค้าดังกล่าว
มาไกลถึงตอนนี้ หากคุณยังสงสัย...ว่าทำไมเทคโนโลยีเออาร์จึงต้องถูกหยิบยกมาใช้ในภาคธุรกิจในประเทศไทย ทั้งที่ความเข้าใจในเทคโนโลยีดังกล่าวของผู้ใช้งานยังอยู่ในระดับต้องเร่งสร้างความรู้
คำตอบก็คือ...เทคโนโลยีเออาร์นั้นใช้งานง่าย เพียงคุณมีสมาร์ทโฟน (หรือแท็บเล็ต) ซึ่งสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นได้ ก็แค่ดาวน์โหลดแอพของบริการต่างๆ ที่เปิดใช้เทคโนโลยีเออาร์พร้อมกับใช้ควบคู่กับอุปกรณ์เสริมของแต่ละบริการ ซึ่งส่วนมากจะใช้ร่วมกับหนังสือหรือแผ่นป้ายที่มีสัญลักษณ์ตามที่กำหนด จากนั้นก็เปิดแอพที่ใช้งานและนำสมาร์ทโฟนไปส่องบริเวณดังกล่าว ก็จะได้ภาพ 3 มิติ หรือมุมมองแบบ 360 องศา แปลกตาและแตกต่างไปจากเดิม
...
ประกอบกับสมาร์ทโฟนที่จำเป็นต้องมีไว้ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีเออาร์นั้น ก็เป็นสิ่งที่คนไทย (รวมทั้งคนทั่วโลก) ต่างมีใช้งานอย่างแพร่หลาย แถมยังใช้กันคล่องแคล่วจากการแชต การใช้โซเชียล ถือเป็นการปลูกฝังและสร้างความคุ้นชินในการใช้แอพพลิเคชั่นให้แก่ผู้บริโภคทุกเพศ ทุกวัย โดยไม่ทันรู้ตัวว่าเป็นพฤติกรรมที่ทำให้ตนเองได้ใกล้ชิดเทคโนโลยีขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน...ก็ยังสร้างช่องทางใหม่ ให้แบรนด์สามารถเข้าถึงชีวิตประจำวันของผู้บริโภคได้อย่างแยบยล
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เราจะเห็นเทคโนโลยีเออาร์รายล้อมอยู่รอบตัว ท่ามกลางยุคธุรกิจดิจิตอลเช่นในปัจจุบัน...!