ศิรินทร์ยา สิทธิชัย (แฟ้มภาพ)
จากคู่แฝดกัญชา บัญชี‘ยาเสพติด’ ทําเส้นใยสิ่งทอ
เลขาธิการ ป.ป.ส. เผย ครม.มีมติเห็นชอบผลักดัน “กัญชง” พืชคู่แฝด “กัญชา” เป็นพืชเศรษฐกิจใช้ประโยชน์นำมาทอเส้นใยผ้าใช้ในครัวเรือนและเชิงอุตสาหกรรม มีข้อแม้ต้องมีปริมาณสารเสพติดน้อยกว่าร้อยละ 1 ของน้ำหนักแห้ง ป้องกันเอาไปใช้ในทางที่ผิด ขณะนี้นำร่องทดลองปลูกใน 6 จังหวัดภาคเหนือและอีสานตอนบน
ยกระดับ “กัญชง” พืชคู่แฝดนี้มีลักษณะคล้ายกัญชา เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 ธ.ค. นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีการส่งเสริมการปลูกกัญชงที่อยู่ในบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ให้เป็นพืชเศรษฐกิจว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกฎกระทรวงเรื่องการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชง หรือเฮมพ์ (Hemp) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ปลูกกัญชงสำหรับใช้ประโยชน์ทอเส้นใยผ้าในครัวเรือนและเชิงอุตสาหกรรม ขณะนี้กฎกระทรวงดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนการประกาศในราชกิจจานุเบกษา สาระสำคัญของกฎกระทรวง คือสายพันธุ์กัญชงที่จะปลูกได้ต้องมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol หรือ THC) ไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง วัตถุประสงค์ของการขออนุญาตกำหนดไว้เพื่อ 1.ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน 2.ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมในเชิงพาณิชย์ 3.ปลูกสำหรับการศึกษาวิจัย 4.ผลิตเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกตามข้อ 1-3 ข้างต้น 5.เพื่อจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ลำต้นสด หรือส่วนอื่นตามที่ได้รับอนุญาต และ 6.เพื่อใช้ประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษกำหนด ผู้รับอนุญาตต้องมีแผนการผลิต แผนการจำหน่าย การใช้ประโยชน์ตามขั้นตอนที่ได้รับอนุญาต มีสถานที่รักษาเมล็ดพันธุ์ตามวัตถุประสงค์ของการอนุญาต รวมทั้งมีการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสาร THC ในกัญชงที่ปลูก
...
“สำหรับแนวทางควบคุมและกำกับดูแลการปลูกกัญชง เพื่อเตรียมส่งเสริมยกระดับกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ นำเส้นใยมาผลิตเสื้อผ้า กระเป๋า นั้นยังคงมีการควบคุมจากภาครัฐ กำหนดการขออนุญาตปลูก พื้นที่ปลูกและให้ใช้ประโยชน์ได้เฉพาะตามที่ได้รับอนุญาต รวมทั้งการตรวจวัดปริมาณสาร THC ของกัญชงที่ปลูกต้องไม่เกิน ร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำกัญชงไปใช้ในทางที่ผิด” นายศิรินทร์ยากล่าว
ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ทดลองปลูกกัญชงเพื่อการวิจัยในด้านเมล็ดพันธุ์ ส่งเสริมการปลูกและสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนากระบวนการแปรรูปจากเส้นใย โดยจำกัดเขตทดลองปลูกใน 6 จังหวัด 15 อำเภอ ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่วาง อ.แม่ริม อ.สะเมิง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงราย 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เทิง อ.เวียงป่าเป้า อ.แม่สาย จ.น่าน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.นาหมื่น อ.สันติสุข อ.สองแคว จ.ตาก 1 อำเภอ คือ อ.พบพระ จ.เพชรบูรณ์ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองเพชรบูรณ์ อ.หล่มเก่า อ.เขาค้อ และ จ.แม่ฮ่องสอน 1 อำเภอ คือ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน