“จากการทำงานร่วมกับผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการมาตลอด ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ได้เห็นถึงศักยภาพ ในการทำงานที่มีทั้งความรู้ ความคิดและการแก้ไขปัญหา จึงเชื่อว่างานต่างๆจะเดินหน้าต่อไปได้ ณ นาทีนี้เชื่อมั่นในความแข็ง แกร่งของข้าราชการ ว่าจะทำงานร่วมกับ รมว.ศึกษาธิการคนใหม่ได้เป็นอย่างดี ผมจึงไม่ห่วงอะไร จากนี้ก็จะไปปฏิบัติหน้าที่ใหม่อย่างสุดความสามารถ”
คำกล่าวในวันอำลาตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2559 ของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี จากการคุมบังเหียนกระทรวงคุณครูเป็นเวลา 1 ปีกับอีก 108 วัน ที่ดูเสมือนจะฝากความหวังในการขับเคลื่อนงาน การศึกษาชาติไว้กับข้าราชการในฐานะผู้ปฏิบัติ
ในโอกาสที่ ปี 2559 “ลิงชุลมุน” กำลังจะผ่านพ้นไป ในอีก 2 วันข้างหน้า “ทีมการศึกษา” ขอย้อนเวลากลับไปตั้งแต่เปิดศักราชต้อนรับปีวอก หลังเข้ามาเรียนรู้งานด้านการศึกษาเพียงไม่กี่เดือน พล.อ.ดาว์พงษ์ ได้เดินหน้าปฏิรูปการศึกษาจนเกิดผลในหลายเรื่อง
เริ่มตั้งแต่การขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา และปัญหาที่เกี่ยวเนื่อง ด้วยการใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ปีเดียวถึง 15 คำสั่ง ทั้งยังชงขอใช้ ม.44 เพิ่มเติมไปเรียบร้อยแล้ว 2 คำสั่ง และจ่อคิวอีก 1 คำสั่ง
...
ประเดิมคำสั่งแรกก็สร้างความฮือฮาให้กับสังคมด้วยการปรับโครงสร้างการ บริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการใหม่ ให้มีการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค โดยจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค มี รมว.ศึกษาธิการเป็นประธาน เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงาน
และตั้ง คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ กศจ. มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการการศึกษาในจังหวัด ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาลงไปสู่ภูมิภาค โดยมีสำนักงานศึกษาธิการภาค 18 ภาค ปฏิบัติภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ และขับเคลื่อนการศึกษาระดับภาคและจังหวัด เพื่อเตรียมรองรับการปรับโครงสร้างใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการที่จะมีขึ้นในอนาคต
พร้อมสั่งยุบคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา 225 เขตทั่วประเทศ เหตุผลเพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่เป็นเอกภาพ แล้วโอนอำนาจทั้งหมดให้ กศจ.ดำเนินการแทน ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการ “ล้างบางขั้วอำนาจเก่า” ที่ไม่เคยมีใครกล้าแตะ
ตามมาด้วย ม.44 เรื่องให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ซึ่งหมายความว่า รัฐจะต้องจัดการศึกษาให้กับเด็กไทย ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา ที่มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาความยากจน ท่ามกลางการถูกมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดจาก “ปมร้อน” ในร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้เรียนฟรีตามการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี จนเกือบเสียรังวัด
จากนั้นไม่นานก็นำ ม.44 มาใช้ในปมปัญหาที่เกาะกินใจผู้คนในสังคมมาเป็นเวลายาวนาน นั่นคือ เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนและนักศึกษา เพื่อจัดระเบียบสังคมและแก้ปัญหานักเรียน–นักเลงที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนและสังคม ทั้งยังเกิดภาพลักษณ์ในทางลบจนส่งผลกระทบต่อค่านิยมในการเรียนต่อสายอาชีวศึกษา
และยาแรงที่ คสช.หยิบมาใช้คือ การดึงพ่อ แม่ ผู้ปกครอง มาร่วมรับผิดชอบ หากลูกหลานกระทำความผิด พ่อ แม่มีสิทธิ์ต้องเจอโทษด้วย โดยมีสิทธิ์ถูกเรียกเก็บเงินประกัน และหากกระทำผิดซ้ำเงินประกันจะถูกริบเข้ากองทุนคุ้มครองเด็ก พ่วงด้วยมาตรการดัดหลังศิษย์เก่าที่ชอบยุยงส่งเสริม หรือสนับสนุนรุ่นน้อง ด้วยกฎเหล็กต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับ 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าเหตุนั้นรุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต โทษจะขยับเป็น 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
...
การจัดระเบียบและแก้ปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่มีการนำ ม.44 มาเป็นเครื่องมือ ด้วยการตั้งคณะกรรมการเข้าไปควบคุมมหาวิทยาลัย ที่มีปัญหาทั้งในเรื่องของหลัก สูตรที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ผลิตบัณฑิตไม่มีคุณภาพ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ หรือมีปัญหาธรรมาภิบาลของสภามหา วิทยาลัยหรือผู้บริหาร จนเกิดการร้องเรียนและฟ้องร้องทางคดี ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการจัดการศึกษา และกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศ
ประเดิมคำสั่งด้วยการควบคุม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ก่อนทยอยเป็นระลอกตามคำแนะนำของ คณะกรรมการการ อุดมศึกษา หรือ กกอ. เข้าควบคุม มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก และล่าสุดเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2559 บอร์ด กกอ. ยังมีมติจะส่งคำแนะนำให้ รมว.ศึกษาธิการเข้า แก้ปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยเพิ่มเติมอีกต่อเนื่องแบบไม่หยุดยั้ง ด้วย คำสั่งเรื่องการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน จากเดิมที่อยู่ต่างสังกัดมารวม อยู่ในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อให้การจัดการอาชีวศึกษาเป็นไปอย่างมีเอกภาพ เชื่อมโยง และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งยังมีการใช้ ม.44 ปลดผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ.
...
และนอกเหนือจากการใช้ ม.44 ในการ ขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิรูปการศึกษาแล้ว กระทรวงศึกษาธิการขณะอยู่ภายใต้การนำของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ยังมีนโยบายพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูอย่างเป็นระบบ ผ่าน โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ให้เร่งดำเนินโครงการระยะแรกเป็นเวลา 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2559-2561ส่วนระยะต่อไปตั้งแต่ปี 2562-2572 ให้ นำไปบรรจุในแผนปฏิรูปประเทศไทย ด้วยความหวังว่าจะดึงคนดี คนเก่ง เข้ามาเป็นครู แล้วส่งกลับไปบรรจุในภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในชุมชนท้องถิ่น และลดการโยกย้ายซึ่งเป็นปมปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้
พร้อมสั่งปรับรูปแบบการอบรมและพัฒนาครู เพื่อไม่ให้ครูต้องทิ้งห้องเรียน มีการพัฒนาครูสอนภาษาอังกฤษ การให้ครูที่สอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สอบวัดความรู้ เพื่อการพัฒนาที่ตรงจุด การบรรจุครูให้ครบชั้นและสอนตรงตามสาขา
...
การทบทวนปรับปรุงหลักสูตร และคลอดแนวทางการบริหารจัดการเวลาเรียนของเด็กไทย กับนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อให้เด็กได้เรียนอย่างมีความสุข ด้วยการลดการบ้านต่อวัน และเพิ่มเวลารู้ผ่านกิจกรรมที่เด็กสนใจ การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้านการคิดคำนวณและการอ่านออกเขียนได้ การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนที่เน้นการให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ และรู้จักแก้ปัญหา ทั้งยังเน้นการสอนให้เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม ควบคู่ไปกับการมีความรู้ การยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ และประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดโครงการโรงเรียนประชารัฐ
ทั้งยังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยขยาย โครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อให้นักเรียนที่อยู่ในชนบทห่างไกล ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู มีครูไม่ครบชั้น และที่สำคัญคือสั่งเดินหน้ามาตรการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ด้วยเป้าหมายการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 120 คน จำนวน 15,703 โรง ผ่าน โครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน เพื่อคุณภาพทางการศึกษาที่ดีของเด็ก ซึ่งในปี 2559 ได้ยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไปแล้วจำนวน 702 โรง
“ทีมการศึกษา” คงไม่สามารถฟันธงว่า ยุทธศาสตร์ที่กระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนมาตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็มที่ผ่านมา จะเดินมาถูกทาง จนถือได้ว่าเป็นทางออกของการปฏิรูปประเทศ อย่างที่สังคมตั้งความหวังไว้หรือไม่ เพราะหลายเรื่องยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับสังคมได้เต็มร้อย ว่าจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยได้จริง เนื่องจากคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องตัดสิน
แต่สิ่งที่เราต้องขอฝากความหวังกับรัฐบาล คสช. คือความจริงใจและจริงจัง ในการเร่งแก้ปัญหาวิกฤติการศึกษาชาติ ไม่ว่าจะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มากี่ครั้ง กี่คน ก็ต้องเดินหน้าขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษา กลายเป็นทางออกปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง
เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงแม้ข้าราชการจะเป็นจักรกลสำคัญ ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้เห็นผล แต่รัฐมนตรี ที่เป็นหัวขบวนนำทัพการปฏิรูปการศึกษาชาติ ย่อมมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
อย่าให้แสงไฟที่เห็นอยู่ปลายอุโมงค์ในปี 2559 “ลิงชุลมุน” ต้องดับมืดลงในปี “ไก่ทอง” 2560 เลย!!!
ทีมการศึกษา