เรานิยมส่งของขวัญ พร้อมบัตรอวยพรกันก่อนวันขึ้นปีใหม่ ...บัตรนั้นสมัยก่อนเคยเรียก สคส.เป็นคำย่อ ที่แปลตรงตัวว่า
ส่งความสุข...แต่เจ้าตัวความสุขนี่ ดูจะส่งให้ถึงกันไม่ค่อยได้
ผมอ่าน เทศนา เรื่อง “แล้วฉันจะเป็นสุข” ชวนม่วนชื่น (เล่ม 1 พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ครั้งที่ 1 พ.ศ.2549) ของพระอาจารย์พรหม แล้วได้ความคิดว่า เจ้าสิ่งที่เรียกว่าความสุขนี้...ส่งถึงกันยากหนักหนา
เมื่ออาตมาอายุ 14 กำลังเตรียมสอบ ที่โรงเรียนมัธยมในลอนดอน พ่อแม่และครู แนะให้หยุดเล่นฟุตบอลตอนเย็น เพื่อจะใช้เวลาทำการบ้าน “พวกท่านว่า ถ้าสอบได้คะแนนดี จะมีความสุข”
อาตมาเชื่อ แล้วก็สอบได้ แต่มันไม่ได้ทำให้มีความสุขเหมือนที่ว่า เพราะต้องเรียนหนักขึ้นอีกสองปี
ในการเตรียมสอบระดับต่อไป พ่อแม่และครูแนะไม่ให้ออกเที่ยวยามค่ำคืน ไม่ให้ไปไล่จีบผู้หญิง ให้อยู่ในบ้านท่องหนังสือ ด้วยเหตุผลเดิม คือถ้าสอบได้ “จะมีความสุข”
เมื่อสอบได้ ความสุขก็ยังไม่มาเพราะต้องเรียนหนักยิ่งกว่าอีก 3 ปี เพื่อจะได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัย
สามปีนี้ พ่อแม่ครู ก็ยังแนะนำคำเดิมๆ ให้อยู่ไกลจากบาร์ และงานเลี้ยง ใช้เวลากับการเรียน เพื่อผลการสอบที่ดี ถึงขั้นนี้
อาตมาเริ่มสงสัย...ความสุขที่พวกท่านย้ำนั้น...คืออะไร และอยู่ที่ไหน
เพื่อนรุ่นพี่บางคนเรียนหนักมาก เมื่อเขาได้รับปริญญาเขาก็ได้ทำงานที่หนัก ด้วยเหตุผลใหม่ แต่กลิ่นอายคล้ายเหตุผลเก่า เพื่อเก็บหอมรอมริบให้ได้เงินมากๆ พอที่จะซื้อของจำเป็น เช่นรถยนต์สักคัน
มีรถยนต์ขับ เพื่อนก็ยังต้องดิ้นรนหาความรัก ซึ่งเชื่อกันว่าคือความสุขยิ่งใหญ่ของชีวิต แต่งงานแล้ว ความสุขที่ว่าก็ยังมาไม่ถึง
เขาต้องทำงานหนักขึ้นไป รับงานพิเศษเพิ่ม เพื่อหาเงินเป็นค่ามัดจำสำหรับซื้อบ้าน...สักหลังเขาบอกอาตมา “ถ้ามีบ้านของเราเอง เราจะมีความสุข”
...
ซื้อบ้านแล้ว ก็ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการผ่อนบ้าน เมื่อมีลูก เขาก็ต้องตื่นแต่กลางดึกเพื่อดูแลลูก ทุ่มเทเงินที่เก็บไว้ใช้ เขาวิตกกังวลกับภาระครอบครัว เริ่มมองเป้าใหม่ ต้องเก็บเงินไปอีกยี่สิบปีข้างหน้า...
“เมื่อลูกๆโตพอที่จะออกจากบ้าน ไปตั้งตัวได้ ถึงวันนั้น ฉันคงมีความสุขเสียที”
กว่าลูกๆจะโตออกจากบ้าน พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ใกล้เกษียณ ถึงเวลานั้น เขาก็ต้องเลื่อนเวลาแห่งความสุขให้ยาวออกไป เพื่อจะได้หาความสุขในยามแก่
และเมื่อเกษียณจากงานแล้ว เริ่มแก่จริงๆแล้ว คนแก่ก็เริ่มสนใจศาสนา และเริ่มไปโบสถ์
“ไปโบสถ์ทำไม” อาตมาถาม “ตายแล้ว เราจะมีความสุข” นี่คือคำตอบ
พระอาจารย์พรหมสรุปเทศนาเรื่องนี้ “สำหรับผู้ที่เชื่อว่า เมื่อได้สิ่งนี้ๆแล้ว ฉันจะมีความสุข” ความสุขของเขา จะเป็นแค่ความฝันในคืนต่อไป
มันเหมือนสายรุ้งเบื้องหน้า ดูเหมือนใกล้เราเพียงไม่กี่ก้าว แต่เราไม่มีวันเอื้อมถึง และจะไม่มีความเข้าถึง...ไม่ว่าในชาตินี้หรือชาติหน้า
ก่อนเรื่อง ฉันจะมีความสุข พระอาจารย์พรหมเทศน์เรื่อง “หินมีค่า” ผมอ่านแล้วก็เผลอคิดว่า หรือว่า ความสุขนั้น คือก้อนหิน
...ก้อนหินมากมายที่หาใส่ในโถความสุข คือก้อนหินแน่ไฉน?...ขอให้อดใจรออ่านในวันต่อไป.
กิเลน ประลองเชิง