เมื่อสมัย 30-40 ปีก่อน ประเทศไทยเคยมีปัญหาการก่อการร้ายของกลุ่มคอมมิวนิสต์ หลายครั้งถูกลอบโจมตีทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ และหากยังจำกันได้ ในหลวง รัชกาลที่ 10 หรือ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร” ในขณะนั้นได้เคยเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมให้กำลังใจแก่ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ อส. ซึ่งถือเป็น “รั้วของชาติ” ถึงพื้นที่อันตราย นอกจากนี้ ยังได้ทรงร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารหาญแนวหน้าอีกด้วย
ย้อนรอย พระปรีชา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ที่ฐานปฏิบัติการบ้านนาจาน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะขอพาย้อนเวลากลับไป เมื่อปี พ.ศ.2519-2520 หลายพื้นที่ในประเทศไทยยังเป็นถิ่นทุรกันดาร และบางพื้นที่ก็เต็มไปด้วยภยันตรายจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ นับเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติในขณะนั้น...
หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทรงเยี่ยมเยียนราษฎร ในการนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ตามเสด็จพระราชบิดาและพระราชมารดาด้วย
...
ที่สำคัญคือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ยังได้เสด็จฯ ทรงเยี่ยมทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร ณ ฐานปฏิบัติการในถิ่นทุรกันดาร และเต็มไปด้วยภยันตราย โดยที่พระองค์มิได้ทรงหวาดหวั่นพระราชหฤทัยแต่ประการใด
เกี่ยวกับการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมทหาร ตำรวจ ในเขตอันตรายในครั้งนี้ บรรดาแม่ทัพ นายกอง รวมทั้งกองทัพบกไทยได้เคยกราบบังคมทูลทัดทานถึงภยันตรายให้ทรงทราบแล้ว แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ก็ยังคงตั้งพระราชหฤทัยที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมทหารยังแนวรบอยู่เสมอ...
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2520 ในช่วงเวลาประมาณบ่ายโมง (13.00 น.) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จฯ จากเชียงใหม่ไปยังจังหวัดพิษณุโลก เมื่อถึงสนามบินจังหวัดพิษณุโลก พระองค์เสด็จฯ ไปยังฐานปฏิบัติการบ้านนาจาน อ.ชาติตระการ โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง มี พล.ท.สมศักดิ์ ปัญจมานนท์ แม่ทัพกองทัพภาคที่ 3 และ นายชาญ กาญจนนาคพันธ์ ผวจ.พิษณุโลก ตามเสด็จ
อันว่า ฐานปฏิบัติการบ้านนาจานนั้น เป็นฐานซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครประจำอยู่ ฐานดังกล่าวเปรียบเสมือนด่านหน้าที่จะสกัดศัตรู ซึ่งเดินทางข้ามลำน้ำโขงจากฝั่งลาว แขวงเมืองเวียงไชย ผ่านท้องที่จังหวัดเลย ผ่านเขา “ธนูทอง” ลงสู่ อ.ชาติตระการ
ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่ต่างยืนยันว่าเคยเห็น เฮลิคอปเตอร์ไม่ปรากฏสัญชาติบินมาลงจอดที่ยอดเขา “ธนูทอง” โดยเฉพาะเมื่อปี 2519 ยังได้มีกลุ่มคนร้ายดักสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 8 นาย ด้วยอาวุธจรวด อาร์.พี.จี. โดยยิงใส่รถจี๊ปมาแล้ว
หลังจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จฯ ถึงค่าย ได้มีพระราชดำรัสถามบรรดาเจ้าหน้าที่ประจำฐานแห่งนี้ถ้วนทั่วทุกคน นอกจากนี้ ยังทรงมีพระมหากรุณา ทรงแนะนำให้จัดปรับปรุงบังเกอร์ให้ปลอดภัยอีกด้วย
จากนั้น เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมฐานปฏิบัติการบ้านกุ่ม อ.นครไทย ทรงเล็งเห็นว่าฐานแห่งนี้มีความแน่นหนา และมีอันตรายน้อยกว่าบ้านนาจาน หลังจากทรงตรวจเยี่ยมทหาร ตำรวจ แล้ว ได้เสด็จฯ กลับมาพักแรมที่ฐานบ้านนาจาน ทั้งๆ ที่ กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดที่ประทับแรม และพระกระยาหารไว้ที่ฐานบ้านกุ่มเรียบร้อยแล้ว
...
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มีพระราชประสงค์ใช้ชีวิตของพระองค์ ดุจ ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครทุกคน จึงเสวยอาหารกระป๋องกับทหาร ตำรวจ และประทับแรมในกลุ่มบังเกอร์ และตรัสกับเจ้าหน้าที่ฐานดังกล่าวนั้น จนตลอดทั้งคืน ยังความปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณแก่เหล่าบุรุษผู้กล้าหาญแห่งบ้านนาจานเป็นล้นพ้น
รุ่งขึ้นวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2520 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จฯ ออกบ้านนาจานไปยังฐานปฏิบัติการ ทุ่งสมอ อ.เมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งฐานแห่งนี้เป็นฐานปืนใหญ่ด้านหน้าเข้าสู่ “เขาค้อ” ซึ่งนับเป็นกองบัญชาการฝ่ายใต้ของกลุ่มผู้ก่อการร้ายในสมัยนั้น
สมรภูมิเดือดเมื่อปี พ.ศ.2512 ที่มาพิชัยสงคราม “เสือตะครุบเหยื่อ”
ที่แห่งนี้มีตำนาน...หากย้อนไปเมื่อ 8 ปีก่อน ก่อนที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จะเสด็จฯ พื้นที่ตรงนี้คือจุดสีแดง ที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายได้เข้ายึด โดยเฉพาะยอดดอยหลายแห่งใน อ.นครไทย เริ่มที่ แม้วป่าหวาย ภูขี้เถ้า (จ.เลย) คอมมิวนิสต์ตั้งกองบัญชาการที่ 23 ฝ่ายเหนือขึ้น
ต่อมา กองทัพภาคที่ 3 ได้เข้าตีที่ ภูหินร่องกล้า กลุ่มผู้ก่อการร้ายได้หลบหนีเข้าป่า และไปสร้างปราการ “เขาค้อ” และอาจจะมี “ปืนต่อสู้อากาศยาน” หรือ “จรวดขนาดเบา” ติดอยู่ด้วย
...
เครื่องบิน เอฟ 105 ได้รับการร้องขอจากภาคพื้นดิน ให้ทำการ “แอร์สไตรก์” แต่กลับถูกยิงตก นักบินโดดร่มลงในป่า “รัง” แดนศัตรู กองพลร่มศูนย์สงครามพิเศษ จึงใช้แผน “เสือตะครุบเหยื่อ” จู่โจมดิ่งพสุธาลงในแดนผู้ก่อการร้ายหวังเพื่อช่วยชีวิตนักบิน
จากปฏิบัติการอันเฉียบพลันของพลร่มและทหารภาคพื้นที่ กองทัพภาคที่ 3 กับ ทหาร “คอหนัง” นาวิกโยธิน ปะทะ ผู้ก่อการร้าย กลางสมรภูมิ “ลำน้ำเข็ก” ทหารไทยได้พลีชีพ รวมกับผู้ก่อการร้ายได้เสียชีวิตรวมกันนับร้อย จนกระทั่งไปถึงจุดที่เครื่องบินตก แต่กลับไม่พบนักบิน จึงได้ค้นหา และแน่ใจว่านักบินคงเสียชีวิตแล้ว จึงถอนกำลังกลับ สุดท้ายได้ทำการกวาดล้างได้สำเร็จ ต่อมาจึงได้มีการตัดถนนผ่าน แล้วส่งทหารเข้าไปปฏิบัติการไว้หลายแห่งอีกด้วย...
คนร้ายระดมยิง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง
เวลา 09.00 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จฯ ถึงฐานปืนใหญ่ทุ่งสมอ เมื่อฟังบรรยายสรุปจากฝ่ายยุทธการ กองทัพภาคที่ 3 แล้ว จึงเสด็จฯด้วยรถสายพานลำเลียงพลพระที่นั่ง ไปยังฐานปฏิบัติการ “สมเด็จ” โดยมีเฮลิคอปเตอร์ “กันชิพ” 2 เครื่องบินถวายการอารักขา
ฐานปฏิบัติการ “สมเด็จ” ห่างจาก ฐานปืนใหญ่ทุ่งสมอ 8 กม. โดยเส้นทางอยู่ในเขตอิทธิพลของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ระหว่างนั้นเป็นเวลาประมาณบ่ายโมง จู่ๆ ผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ทั้ง 2 ลำอย่างหนาแน่น
...
ร้อยเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงมีรับสั่งบัญชาการรบในทันที ทรงมีบัญชาให้ทหารสละรถสายพานเข้าทำการกวาดล้างกลุ่มผู้ก่อการร้ายโดยมี ร้อยเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ทหาร ออกปะทะกับผู้ก่อการร้ายอย่างดุเดือด โดยมิทรงหวั่นเกรงอันตรายใดๆ เลย
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จฯ ถึงฐานสมเด็จ พร้อมกับเหล่าทหาร ทรงบัญชาให้ยิงปืนขับไล่ผู้ก่อการร้ายแตกกระเจิงไป เฮลิคอปเตอร์กันชิพถูกยิงเสียหายทั้ง 2 เครื่อง แต่สามารถนำลงจอดที่ฐานทุ่งสมอได้อย่างปลอดภัย
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ประทับที่ฐานสมเด็จ จนผู้ก่อการร้ายล่าถอยไปหมด จึงทรงพระดำเนินนำหน้าทหารม้ามายังฐานปฏิบัติการ “กรุงเทพ” ซึ่งห่างจากฐานปฏิบัติการฐานสมเด็จประมาณ 1 กม. ทรงเยี่ยมทหารแล้วเสด็จขึ้นรถยนต์สายพานลำเลียงพลพระที่นั่งไปยังฐานทุ่งสมอ เสด็จฯ ต่อจากนั้น โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมายังกองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า แล้วเสด็จขึ้นเครื่องบินพระที่นั่งจากพิษณุโลกกลับเชียงใหม่ เมื่อเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน...
ต่อมา หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต่างนำเรื่อง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารมาตีพิมพ์ ประชาชนต่างมีความเป็นห่วงเกรงว่าพระองค์จะทรงเป็นอันตราย กระทั่งกองทัพบก จึงได้มีแถลงการณ์ขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อราษฎรในจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ทราบข่าว จึงนัดรวมตัวกันขึ้นเพื่อทำพิธีปฏิญาณตนเพื่อจัดตั้ง “กองทัพชาวบ้าน” เพื่อต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ด้วย...
เสด็จฯ ร่วมรบกับกองทัพภาคที่ 4 ปะทะกลุ่มก่อการร้าย รับสั่งให้กำลังใจทหาร
ต่อมา เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2520 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเสนอข่าวใหญ่พาดหัวยักษ์ “ฟ้าชายเสด็จใต้ฝ่าดงเข้าเขตอันตราย “เวียงสระ”
โดยมีรายงาน... สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จฯ ยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี พลโทชื่น ธรรมศรี แม่ทัพกองทัพภาคที่ 4 กับ คณะนายทหารตำรวจตามเสด็จไปยังโรงพยาบาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อทรงเยี่ยม ตชด. และทหาร ผู้บาดเจ็บจากการปราบปรามผู้ก่อการร้าย หลังจากมีพระราชดำรัสถามอาการแก่ผู้ป่วยจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว ได้มีพระมหากรุณา พระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้ทหารและตำรวจผู้บาดเจ็บคนละ 1,000 บาท
เมื่อเสด็จลงจากโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ประทับบนรถจี๊ปพระที่นั่ง ทหารพลขับสตาร์ตรถไม่ติด ประชาชนต่างพากันมาเฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จลงไปทรงเข็นด้วยพระองค์เอง พร้อมรับสั่งว่า “รถจี๊ปทหารปืนใหญ่นี้ขี่โรคจัง สตาร์ตไม่ติดขายหน้าชาวบ้าน” ทรงเข็นรถโดยมีทหารช่วยจนสตาร์ตติด แล้วจึงเสด็จขึ้นรถพระที่นั่งทรงเยี่ยมตำรวจ-ทหาร ตามฐานปฏิบัติการต่างๆ ในอำเภอเวียงสระ
ในการเสด็จฯ ทรงเยี่ยมทหารครั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ถูกผู้ก่อการร้ายซุ่มยิงในป่าทึบก่อนจะถึง “ช่องช้าง” ต.พรุพรี อ.เวียงสระ เหตุเกิดเมื่อ 14.00 น. วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2520 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงร่วมกับทหาร ตชด. ยิงตอบโต้ผู้ก่อการร้ายประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นกลุ่มผู้ก่อการร้ายจึงล่าถอยไป การปะทะครั้งนี้เจ้าหน้าที่ปลอดภัย
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงแสดงความห่วงใยต่อทหาร ตำรวจ และ อส. เป็นอย่างมาก ทรงมีรับสั่งกับแม่ทัพภาค 4 และบรรดานายทหารว่า...
“สถานการณ์ภาคใต้หนัก...เราจะอยู่ที่นี่ต่อไป ยังไม่กลับ...”
พระราชดำรัสดังกล่าว สร้างความอบอุ่นใจและซาบซึ้ง แก่เหล่าทหารเป็นอย่างยิ่ง