ที่ประชุม สปท.เห็นชอบปรับร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ แนะดึงตำรวจ-ทหารช่วยคุมนโยบายยันปฏิบัติ หนุนนายกฯ ใช้อำนาจเต็มตั้ง กปช. ก่อน ก.ม.บังคับใช้

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 59 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคตะ ประธาน สปท. เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาระเบียบวาระรับทราบ รายงานความคิดเห็นของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เรื่องผลการศึกษาและข้อสังเกตร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.... เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาดำเนินการต่อไป

โดย พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธาน กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการสื่อสารมวลชน คนที่หนึ่ง กล่าวสรุปรายงานว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ยังขาดเนื้อหาที่ต้องเพิ่มเติม กมธ.การสื่อสารมวลชน จึงเสนอแนวคิดประเด็นกฎหมาย เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมทุกมิติของความมั่นคงทางทหาร และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ด้วยการวางกรอบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานความมั่นคงทุกองค์กร เพื่อทำหน้าที่ป้องกัน และตอบโต้เชิงรุก ควรกำหนดหน่วยงานหลักรับผิดชอบให้ชัดเจนในการดูแล ควบคุมสถานการณ์ด้านการรักษาความมั่งคงความปลอดภัยไซเบอร์ทั้งในภาวะปกติ และเมื่อเกิดสถานการณ์ร้ายแรงในภาวะฉุกเฉิน ควรให้เจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจ ดำเนินการทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติการ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับผ่านประชามติ แต่ตั้งคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) ทำหน้าที่ไปพลางก่อน เพราะหากต้องรอกฎหมายฉบับนี้ผ่าน สนช.จนมีผลบังคับใช้ อาจเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงและกระทบนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล

ขณะเดียวกัน ยังมีสมาชิก สปท.บางรายอภิปรายไม่เห็นด้วย เช่น นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปท. อภิปรายว่า อันตรายจากความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จำเป็นต้องให้ข้าราชการเข้ามากำกับเอกชนทุกขั้นตอนหรือไม่ มันจำเป็นต้องมีรายละเอียดขั้น และระยะเวลาคอยกำหนดบ้างหรือไม่ กปช. ไม่มีตัวแทนจากประชาชน และภาคเอกชนมาร่วม ไม่อยากให้รูปแบบการปฏิวัติดิจิทัลทำลายความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย เราเสีย กสทช.ที่เป็นอิสระไปแล้ว

...

ส่วน นายสมพงษ์ สระกวี กล่าวว่า ไทยอยากเป็นประเทศ 4.0 แต่ ไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ กำลังจะยกโขยงออกจากประเทศไทย เพราะกฎหมายคอมพิวเตอร์ที่กำลังพิจารณา และร่างกฎหมายความมั่งคงไซเบอร์ฉบับนี้

ด้าน พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ชี้แจงว่า กฎหมายฉบับนี้มุ่งคุมครองระบบอินเทอร์เน็ต ต่างจาก พ.ร.บ.คอมพ์ ที่มุ่งคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ร่างตัวนี้ไม่ได้เน้นเนื้อหา แต่เน้นระบบคอมพิวเตอร์ของประเทศ ที่ทราบดีว่า เว็บไซต์ส่วนราชการถูกโจมตีทุกวัน ความเสียหายเป็นร้อยล้าน แต่ไม่ปรากฏเป็นข่าวเพราะจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรฐานกลางให้แต่ละหน่วยงานไปวางระบบรักษาความปลอดภัย

ขณะเดียวกัน กมธ.ก็เพิ่มเติมมาตรการเข้มข้นทางความมั่นคงการทหาร ด้านประชาชนก็จะได้รับการสนับสนุนการให้ความรู้กฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สุดท้ายที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายฉบับดังกล่าวด้วยคะแนน 141 ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง เพื่อส่งให้ ครม.พิจารณาต่อไป