จากที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้นำเสนอรายงานพิเศษ เช็กค่าหอยัง? เปิดเรตราคาค่าน้ำ-ไฟ หอพักฟันกำไรโหดผิดไหม? ได้มีประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
ด้วยเหตุนี้ เราจึงรวบรวมความคิดเห็น ประสบการณ์ ที่ประชาชนรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมของหอพักหรืออพาร์ตเมนต์เหล่านี้ที่เรียกเก็บค่าน้ำ ค่าไฟ ในอัตราที่ไม่เป็นธรรม มาตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้!
ประชาชนแต่ละพื้นที่ ร้องเรียนปัญหาค่าน้ำ-ไฟ หอพักแพง
สมาชิกเฟซบุ๊กรายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า “...ย่านคลองหลวง จ.ปทุมธานี เก็บค่าไฟแพงมาก หน่วยละ 8 บาท ส่วนค่าน้ำใช้แค่ 4 หน่วย ต้องเสีย 100 บาท...”
ขณะเดียวกัน สมาชิกเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า “...อพาร์ตเมนต์แถบอมตะนคร จ.ชลบุรี ค่าน้ำหน่วยละ 30-40 บาท ส่วนค่าไฟหน่วยละ 7-8 บาท...”
สมาชิกเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ร้องทุกข์ว่า “...ที่เจอคือแถวศาลายา ค่าไฟ 8 บาท ค่าน้ำ 29 บาท หอใหม่ ช่วยตรวจด้วย ค่าน้ำแพงมากๆๆๆๆ...”
สมาชิกเฟซบุ๊กรายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า “...นี่ยังน้อย ที่เราอยู่ ไฟ 15 น้ำ 20 ซ.จรัญ 3X โหดมาก แต่ตอนนี้ย้ายแล้ว...”
...
ชาวหอร้องทุกข์! มิเตอร์หมุนเร็ว ไร้มาตรฐาน โดนค่าไฟอื้อ
ต่อมาได้มี แหล่งข่าวรายหนึ่ง ส่งอีเมลเข้ามาให้ข้อมูลกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถึงปัญหาของเก็บค่าไฟหอพัก โดยเนื้อหาในอีเมลระบุว่า “...ราคาต่อหน่วยไม่ใช่ปัญหา เพราะมีการยอมรับกันตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ มิเตอร์หอพักเป็นมิเตอร์ราคาถูก ห่วย ไม่ได้มาตรฐาน มักจะหมุนเร็วกว่ามิเตอร์มาตรฐานของการไฟฟ้า ทำให้จำนวนหน่วยขึ้นมากกว่าที่ควร ประเภทใช้นิดเดียวตัวเลขมโหฬารควรมีการกำหนดมาตรฐานตรงนี้มากกว่า ฝากประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย...”
ทั้งนี้ สอดคล้องกับความคิดเห็นหนึ่งในเฟซบุ๊กที่ร้องเรียนเข้ามาว่า “...ค่าไฟหน่วยเท่าไรรู้ตั้งแต่ก่อนเช่าแล้ว แต่ปัญหาที่พบ คือ มิเตอร์หมุนเร็วเกิน เมื่อคำนวณเป็นยูนิตเปรียบเทียบกับมิเตอร์ที่อื่นๆ ก็จะรู้ได้เลยว่าผิดปกติ...”
อยุติธรรม! หอพักเก็บค่าน้ำเหมาจ่าย ใช้น้อย จ่ายเยอะ
ขณะที่ อีกมุมหนึ่งมองถึงปัญหาที่หอพักเรียกเก็บค่าน้ำแบบเหมาจ่าย โดยสมาชิกเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า “...หอพักโกงชัดๆ ค่าน้ำหน่วยละ 18 บาท ใช้ไป 1 หน่วย แต่เรียกเก็บ 100 บาท ทำให้คนไม่ประหยัดน้ำ ใช้น้ำไปหน่วยเดียวเปิดทิ้งอีก 4 หน่วย เรียกเก็บ 100 บาทเหมือนกัน ใครมีหน้าที่ตรวจสอบหน่อย สคบ. ทำงานเพื่อประชาชนบ้างได้ไหม...”
สมาชิกเฟซบุ๊กรายหนึ่ง เล่าประสบการณ์ของตัวเองว่า “...หอผมคิดค่าน้ำเริ่มต้น 10 หน่วยๆ ละ 28 บาท ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย 280 บาท ถ้ามิเตอร์ขึ้นมา 1 หน่วยก็บวกไปอีกหน่วยละ 28 บาท หน่วยงานไหนตรวจสอบได้ช่วยตรวจสอบด้วยครับ เดือดร้อนมาก 30% ของรายได้ก็ต้องมาจ่ายค่าที่พัก ขอบคุณครับ...”
เช่นเดียวกับ สมาชิกเฟซบุ๊กอีกรายก็ประสบปัญหาเดียวกัน “...ค่าน้ำค่าไฟเก็บราคาไม่ปกติ เช่น บอกค่าน้ำหน่วยละ 17 บาท แต่เขาไม่เก็บ 17 บาท เพราะใช้เดือนแค่หน่วยเดียว เขาเก็บ 80 บาท บอกว่าเหมาจ่าย 3 หน่วย หน่วยที่ 4 ถึงจะเก็บ 17 บาท แล้วมันใช้แค่หน่วยเดียว แต่ก็ต้องจ่าย 80 ทำไงได้ไม่เข้าใจ ทำไมไม่มีหน่วยงานเข้ามาควบคุมพวกหอพักปล่อยผู้เช่าผจญกันเอง ยังมีเสียค่าเน็ต ค่าไฟ ที่แพงเกินจริงอีก...”
...
ร้องสคบ. ตรวจสอบ ขอความเป็นธรรมให้ผู้บริโภค
จากนั้น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ติดต่อไปยัง สมาชิกเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นในรายงานพิเศษชิ้นดังกล่าว โดย ผู้เช่ารายนี้ ไม่ขอเปิดเผยชื่อเนื่องจากยังอาศัยอยู่ในหอพักนั้น เธอให้ข้อมูลกับเราว่า ตนรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมของหอพักแห่งหนึ่ง ย่านบางแสน จ.ชลบุรี โดยเจ้าของหอพักติดประกาศขึ้นค่าน้ำที่ประตูทางเข้าอพาร์ตเมนต์ ว่า จะมีการขึ้นค่าน้ำจากเดิม 25 บาท เป็น 40 บาท พร้อมอ้างว่า สำนักงานการประปาฯ มีการขึ้นอัตราค่าน้ำ
ผู้เช่ารายนี้ ยังกล่าวอีกว่า ตนอยู่ที่นี่มา 5-6 ปี โดยที่ยังทนอยู่ เพราะใกล้แหล่งอำนวยความสะดวก และเป็นจุดที่รถรับส่งที่ทำงานวิ่งผ่าน แต่เริ่มจะหาซื้อคอนโดเพื่ออยู่เองแล้ว เพราะค่าเช่าหอพักกับค่าผ่อนคอนโดแต่ละเดือนแทบไม่แตกต่างกัน
“สคบ. ควรมาตรวจสอบไหม ถ้ามาตรวจสอบแล้ว เจ้าของหอปรับราคาค่าน้ำลดลง แต่ไปขึ้นค่าเช่าห้องแทนจะยิ่งหนักกว่าเดิมหรือไม่ รวมทั้ง สคบ. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีเพดานหรือควบคุม ค่าเช่า ให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เช่าด้วย” หนึ่งในผู้เดือดร้อน ขอความเป็นธรรม
...
ประสบการณ์สุดยี้! หอพักโหด หักเงินประกันกว่าครึ่ง
ผู้สื่อข่าว ได้สัมภาษณ์ พนักงานบริษัทเอกชนและแอดมินเพจเฟซบุ๊กชื่อดัง (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) อายุ 27 ปี อาศัยอยู่หอพักย่านอินทามระ โดยเธอได้เล่าถึงปัญหาของหอพักว่า “เราเป็นคนต่างจังหวัด มาอยู่กรุงเทพฯ ได้ 8 ปีแล้ว ย้ายหอมาประมาณ 7 แห่ง เพราะครบสัญญาก็จะออก โดยปัญหาและบริการจากหอพักที่พบบ่อยที่สุด และรู้สึกไม่เป็นธรรม คือ การหักเงินประกันตอนย้ายออก โดยแรกเข้าจะต้องจ่ายค่าหอล่วงหน้า 1 เดือน คือ 5,000 บาท จ่ายเงินประกัน 2 เดือน เดือนละ 5,000 บาท เท่ากับ 15,000 บาท พอตอนออกก็จะได้เงินประกันคืน 10,000 บาท แต่กลับถูกหอพักหักเงินไปเยอะมาก 30-40% และอยู่มีครั้งหนึ่งหักเกิน 50% ซึ่งเราก็ยอมรับว่าข้าวของ ผนัง เสื่อมโทรมไปบ้าง แต่ไม่คิดว่าจะหักเยอะ และสงสัยว่าหอพักใช้มาตรฐานอะไรมาหักเงินประกัน และพอเมื่อได้เงินประกันคืน กลับได้ช้ามาก โดยตอนออกจากหอไปแล้วทางเจ้าของหอพักก็ยังไม่ให้เงินประกันคืนเลยไม่รู้เงินที่หักมีค่าอะไรบ้าง ไม่มีการแจกแจง หรืออย่างบางครั้งข้าวของในห้องเสียก่อนเข้า เมื่อแจ้งซ่อมก็ไม่มาซ่อมให้ เช่น ล้างแอร์ กระจกพัง ไฟเสีย จนเราออกจากหอก็ยังไม่ได้ซ่อม สุดท้ายก็โดนหักในค่าประกันอีก”
“นอกจากนี้ เวลาตัดสินใจทำสัญญาก็ต้องอยู่ให้ครบ ไม่งั้นเงินประกันที่ให้ไว้ตอนแรกก็จะไม่ได้คืน แล้วหอส่วนใหญ่ สัญญา 1 ปี จะดีกว่า 3 เดือน เพราะค่าเช่าจะถูกเกือบ 1,000 บาท เจ้าของหอพักปัจจุบัน แนะนำเราว่า อาจลองขายประกันห้องให้คนอื่นไป ถ้าอยู่ไม่ครบจะได้ไม่เสียเงินฟรี เราไม่รู้ว่าทำแบบนี้ได้เหมือนกัน
...
ส่วนค่าน้ำ 18 บาท ค่าไฟ 8 บาท เราก็อยู่มาหลายท่ี จึงพอประมาณได้ว่า อัตราเท่าไรถึงจะถูก เช่น ไฟไม่ควรเกินหน่วยละ 6-8 บาท ค่าน้ำหน่วยละ 20 หรือหอพักบางแห่งมีโปรโมชั่นใช้น้ำไม่เกิน 5 หน่วย จ่ายหน่วยละ 20 หากเกินจะเพิ่มมาอีก 5 บาท ขณะที่ หอบางแห่งไม่แจกแจงมิเตอร์เลยว่า เดือนนี้เท่าไร ไม่มีมิเตอร์ให้เช็ก มันก็ลำบากกับคนเช่า ถูกเอาเปรียบได้ง่ายๆ แต่เราไม่เคยเจอแบบนี้ จะเจอที่รู้สึกไม่เป็นธรรมที่สุด คือ การหักค่าประกันตอนออก” สาววัย 27 ปี เล่าถึงประสบการณ์สุดแย่
อย่างไรก็ตาม เธอยังฝากไปยังภาครัฐที่เกี่ยวข้องด้วยว่า หอพักบางแห่งเปิดให้เช่าเป็นรายวันด้วย จึงสงสัยว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพราะบางครั้งก็ทำให้ชาวหอรู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะคนนอกเข้าออกอยู่ตลอดเวลา แม้จะแยกชั้นก็ตาม
ขณะที่ น.ส.น้ำ (นามสมมติ) อายุ 23 ปี พนักงานบริษัทเอกชน อาศัยอยู่หอพักย่านจตุจักร กล่าวว่า มีความรู้สึกว่าการคิดค่าน้ำ ค่าไฟ ต่อหน่วยการใช้งานของหอพักค่อนข้างสูง ซึ่งเคยลองสังเกตการใช้น้ำ ใช้ไฟฟ้าของตัวเอง ประกอบกับการที่ตนทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ จึงใช้เวลาอยู่ห้องน้อยมากๆ ก็เลยคิดว่าไม่น่าจะแพงขนาดนั้น
นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องค่าที่จอดรถ โดยตนเองไม่ได้ประสบปัญหาโดยตรงเนื่องจากไม่มีรถยนต์ส่วนตัว แต่ก็มีบางครั้งที่ครอบครัวจากต่างจังหวัดเดินทางมาเยี่ยมและต้องจอดรถไว้ที่หอหลายชั่วโมง ซึ่งทางหอพักก็มีการเรียกเก็บค่าที่จอดรถเข้าไปในบิลค่าเช่าด้วย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้นนี้ ยุติธรรมกับพวกเขาแล้วหรือ?????
ไร้กฎหมายคุมค่าน้ำ-ไฟ! หอพักฉวยโอกาสโก่งราคา
ผู้สื่อข่าวไม่นิ่งนอนใจกับปัญหาของประชาชน รีบนำข้อร้องทุกข์ต่างๆ ไปสอบถามกับ พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเลขาฯ สคบ. ตอบด้วยความหนักใจว่า ปัญหาของเรื่องนี้ คือ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมเรื่องอัตราค่าน้ำ ค่าไฟ ของหอพัก หรือกำหนดเกณฑ์ว่าควรจะมีราคากี่บาท ทำให้ผู้ประกอบการหอพักฉวยโอกาสใช้ช่องว่างทางกฎหมายเรียกเก็บค่าบริการเกินจริง
ผู้สื่อข่าว ถามต่อว่า "ตามกฎหมายที่ระบุว่า ห้ามเก็บเกินความเหมาะสม คือ กี่บาท?" เลขาฯ สคบ. กล่าวว่า ตามหลักแล้วไม่ควรจะเก็บเกินอัตราปกติ คือ 3.8 บาทต่อหน่วย บางแห่งเก็บค่าไฟหน่วยละ 10 บาท ซึ่งถือว่ามากเกินไป เพราะในความเป็นจริงแล้วผู้เช่าใช้เท่าไรควรจ่ายเท่านั้น อีกทั้ง ผู้ประกอบการไม่ควรเอาค่าส่วนกลางมาอ้างในการเก็บค่าน้ำ-ไฟ เกินจริง ซึ่งควรจะนำไปรวมอยู่กับค่าเช่าห้องมากกว่า
จ่อติดมิเตอร์รายห้อง เก็บค่าไฟตามมาตรฐานการไฟฟ้า ป้องกันโกงมิเตอร์
หลังจากที่มีการประชุมหน่วยงานรัฐถึงปัญหาดังกล่าวนั้น พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เผยว่า โดยทั่วไปนั้นมิเตอร์ตามหอพักจะเป็นมิเตอร์ที่เจ้าของติดตั้งเองไม่ใช่จากการไฟฟ้า ทำให้การไฟฟ้าไม่สามารถเข้าไปควบคุมอัตราค่าไฟได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องนี้ คือ ขอให้การไฟฟ้าออกระเบียบใหม่ให้เจ้าของหอพัก อพาร์ตเมนต์ สามารถยื่นคำขอให้ติดมิเตอร์ประจำแต่ละห้องได้ (จากระเบียบเก่าของการไฟฟ้า บ้าน 1 เลขที่จะให้มิเตอร์ 1 ตัว) โดยเจ้าของหอจะต้องเสียค่าบริการมิเตอร์ละ 700 บาท ซึ่งข้อดี คือ ค่าไฟของแต่ละห้องจะมีอัตราตามมาตรฐานของการไฟฟ้า เพื่อป้องกันการเรียกเก็บเกินจริงและป้องกันมิเตอร์หอพักไม่เป็นธรรมได้อีกด้วย
มาตรการสุดท้าย! สคบ. เตรียมเสนอสัญญามาตรฐาน ควบคุมทุกหอพัก
พล.ต.ต.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ได้ให้การบ้านกับทางการไฟฟ้า การประปา กรมการค้าภายใน ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของพวกเขาก่อนไม่ว่าจะเป็นปัญหาค่าไฟ ค่าน้ำต่างๆ ส่วนทางสคบ. เอง ก็เตรียมใช้มาตรการสุดท้าย คือ เสนอคำประกาศสัญญา กำหนดให้สัญญาเช่าหอพัก อพาร์ตเมนต์ เป็นสัญญามาตรฐาน โดยจะควบคุมทั้งหมด ได้แก่ เกณฑ์เรื่องกำหนดระยะเวลาเช่า การเริ่มต้น การสิ้นสุด การรับเงินมัดจำ เงินมัดจำ ค่าสาธารณูปโภค อัตราค่าน้ำ-ไฟ ค่าใช้บริการ ไม่ควรเกินร้อยละเท่าไร โดยทุกหอพักต้องใช้สัญญาเดียวกัน ห้ามผิดสัญญา ถ้าไม่ทำตามสัญญาที่สคบ. กำหนดก็จะมีโทษปรับ ทั้งนี้ จะมีข้อกำหนดออกมาเมื่อไหร่นั้น สคบ.จะพยายามทำให้เร็วที่สุด เพราะต้องหารือกับหลายฝ่าย
รู้หรือไม่? หอพักไร้ใบเสร็จรับเงิน ปรับ 1 แสน จำคุก 1 ปี
พล.ต.ต.ประสิทธิ์ อธิบายว่า กฎหมายของ สคบ. มี ประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ธุรกิจให้เช่าที่เรียกเก็บเงินประกันเป็นธุรกิจควบคุมหลักฐานการรับเงินคืน โดยหลักฐานการรับเงินต้องมี สาระสำคัญ ได้แก่
1.ชื่อและที่อยู่ของผู้ประกอบธุรกิจ และของผู้มีอํานาจออกหลักฐานการรับเงิน
2.ชื่อและที่อยู่ของผู้เช่า
3.ชื่อและสถานที่ตั้งของที่อยู่อาศัย
4.กําหนดระยะเวลาเช่าที่อยู่อาศัย โดยระบุวันเริ่มต้นการเช่า และวันสิ้นสุดการเช่า (ถ้ามี)
5.วัน เดือน ปี ที่รับเงินประกัน
6.จํานวนเงินประกัน และข้อความว่า ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันทันที เมื่อสิ้นสุด ระยะเวลาเช่าที่อยู่อาศัยหรือเมื่อสัญญาเช่าที่อยู่อาศัยเลิกกัน เว้นแต่กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประสงค์ จะตรวจสอบความเสียหายที่ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ หากผู้เช่ามิได้ทําความเสียหาย ให้ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงิน ประกันภายใน 7 วัน โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจรับภาระค่าใช้จ่ายในการนําส่งคืนเงินประกันนั้นตามวิธีการ ที่ผู้เช่าแจ้งให้ทราบ
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไม่มีหลักฐานการรับเงิน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่อย่างไรก็ดี เบื้องต้นสคบ.จะเชิญผู้ประกอบธุรกิจหอพักมาพูดคุยกันก่อน เพื่อที่จะขอความร่วมมือ และหลังจากนั้นจะเริ่มตรวจสอบ หากพบเจอก็จะปรับทันที
ท้ายที่สุดนี้ เลขาฯ สคบ. ยังได้ฝากไปถึงประชาชนในฐานะเป็นผู้ที่ดูแลสิทธิผู้บริโภคว่า "หากใครได้รับความเดือดร้อนไม่เป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้ที่ สคบ. หรือสายด่วน 1166 ในเวลาราชการ เรื่องอะไรก็มาร้องได้ก่อน หากไม่เกี่ยวกับ สคบ. เราก็จะช่วยประสานให้ ส่วนเรื่องค่าน้ำค่าไฟ จะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อความเป็นธรรมของผู้บริโภค"
ที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดเพดานค่าน้ำ ค่าไฟหอพัก จึงทำให้ผู้ประกอบการเรียกเก็บกี่บาทก็ได้ โดยที่สุดท้ายก็ไม่มีกฎหมายใดๆ เอื้อมมือเข้าไปจัดการเรื่องนี้ได้สักที อีกทั้ง ชาวหอยังต้องเจอปัญหาการเอารัดเอาเปรียบอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นไม่ยอมคืนเงินประกันหอ มิเตอร์ห่วย และที่แย่ไปกว่านั้นคือ ค่าภาษีของหอพักที่ต้องจ่ายกลับถูกผลักภาระให้กับผู้เช่าเสียอย่างนั้น แบบนี้ยุติธรรมแล้วหรือ?????
มหากาพย์ปัญหาชาวหอยังคงไม่จบสิ้น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ยังคงเกาะติดต่อไป หากมีความคืบหน้าอย่างไร จะรายงานให้ทราบอีกครั้ง.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านเพิ่ม
- สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ