ภาพขบวนรถฮามานะซึ ที่ไทยกำลังรับมอบจากญี่ปุ่น ถ่ายโดยสมาชิกยูทูบ : MediaTraveller05
โซเชียลมาพร้อมดราม่า! รฟท.รับมอบรถไฟมือ 2 จากญี่ปุ่น ก็ยังเป็นประเด็น หวั่นไทยกลายเป็นสถานที่ทิ้งเศษเหล็ก แต่ย้อนประวัติไปดูพบไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยรับของเก่ามาใช้ ขบวนรถบลูเทรนนั่นก็ของฟรี ยังใช้ได้...
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาโลกโซเชียลพากันวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทยอยรับมอบรถไฟเก่าจากญี่ปุ่น ซึ่งขบวนรถบางส่วนได้ส่งตรงมาถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยชาวเน็ตบางส่วนแสดงความเป็นกังวลว่าไทยอาจกลายเป็นพื้นที่ทิ้งขยะที่ญี่ปุ่นไม่ต้องการใช้แล้ว แต่บางส่วนมองว่ารถไฟหากได้รับการบำรุงรักษาดี ก็จะมีอายุการใช้งานที่ยืนยาว อีกทั้งตัวรถที่ประเทศไทยจะได้รับมอบจากญี่ปุ่น ก็เป็นรถที่มีอายุเพียง 20 กว่าปีเท่านั้น และสาเหตุที่ญี่ปุ่นปลดระวางเนื่องจากในเส้นทางที่เคยใช้งานถูกทดแทนด้วยขบวนรถไฟความเร็วสูง
ทีมข่าวสายตรวจโซเชียล ไทยรัฐออนไลน์ พบว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยรับมอบรถไฟเก่าจากญี่ปุ่น โดยก่อนหน้านี้ย้อนไปประมาณ 10 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็เคยรับมอบขบวนรถบลูเทรนมาแล้วจากบริษัทรถไฟญี่ปุ่นตะวันตก (JR-West) โดยถูกนำมาดัดแปลงความกว้างของล้อ และปรับปรุงห้องโดยสารใหม่ทั้งตู้นั่งและตู้นอน จนกระทั่งถูกนำมาทำขบวนพิเศษพืชสวนโลก ปี 2549 ก่อนที่ต่อมาจะถูกนำมาพ่วงกับขบวนรถไฟทางไกล สายต่างๆ ทั่วประเทศ ขณะที่บางส่วนถูกนำไปดัดแปลงเป็นขบวนรถหรู สำหรับเช่าเหมาพิเศษโดยเฉพาะ
...
ทั้งนี้ ขบวนรถไฟที่ไทยกำลังทยอยรับมอบจากญี่ปุ่นนั้น เป็นตู้โดยสารประเภทนั่งของขบวนฮามานะสึ จากบริษัทรถไฟฮอกไกโด ที่วิ่งจากสถานีชินอะโอโมริ - ชิโตเซะ จังหวัดซัปโปโร ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการในปี 2531 และถูกยกเลิกการเดินรถไปเมื่อเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา เพื่อหลีกทางให้กับรถไฟความเร็วสูง (ชินคันเซ็น) ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากกรุงโตเกียว - ฮอกไกโด ด้วยระยะเวลาเพียง 4 ชั่วโมงนิดๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากประเทศไทยแล้วยังมีอีกหลายประเทศที่ได้รับมอบรถไฟเก่าจากญี่ปุ่นเพื่อนำไปใช้งานขนส่งมวลชนต่อ เช่น ประเทศเมียนมา ที่ปัจจุบันมีรถไฟเก่าญี่ปุ่นให้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่าตู้โดยสารที่ไทยได้รับมอบนั้น จะถูกนำไปพ่วงให้บริการกับขบวนเส้นทางใด แต่อาจมีความเป็นไปได้ว่าจะถูกพัฒนาเป็นรถไฟท่องเที่ยวโดยเฉพาะ.
ขอบคุณภาพ : http://jprail.com , 109 fan