โฆษก กรธ.รับโละ กกต.จว.เหตุแก้ปัญหางบประมาณ-เด็กเส้น ชี้หากร่าง ก.ม.กกต.ใหม่ประกาศใช้ จะทำให้บางคนพ้นสภาพตามคุณสมบัติใหมม่ รธน. ยัน กรธ.ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ใครเป็นพิเศษ
เมื่อวันที่ 15 พ.ย.59 นายนรชิต สิงห์เสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในรายการ "เจาะลึก ทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์" ถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.โดยเฉพาะเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ที่จะให้มีการยุบ กกต.จังหวัดแล้วจัดให้มีการตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัดขึ้นมาแทนว่า ทาง กรธ.ได้รับฟังข้อดีข้อเสียการมี กกต.ประจำจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมามีการวิจารณ์กันว่า คนที่เข้าไปเป็นๆ คนของใคร รวมถึงปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะทำหน้าที่อย่างมาก 4 ปี เมื่อมีการเลือกตั้งท้องถิ่น จึงมีการคิดกันว่าถ้าต้องแก้สองจุดนี้จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มีกลไกถาวร อาจจะมีการแบ่งเขตของแต่ละจังหวัดเป็นคนในพื้นที่ โดยให้มีการเลือกล่วงหน้าว่าเป็นใคร แต่เมื่อถึงเวลาจัดการเลือกตั้งคนเหล่านี้จะเข้าไปช่วยดูจัดการเลือกตั้งร่วมกับ กกต. เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น ก็อาจจะเป็นลักษณะในพื้นที่ก็จริง แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่อาจจับสลากกันซึ่งจะทำให้ สามารถทำหน้าที่โดยไม่ลำบาก นี่คือแนวความคิดใหม่
ส่วนจำนวนผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัดจะมีจำนวนกี่คนนั้น เรื่องนี้อยู่ในรายละเอียดอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งอาจมีเอ็นจีโอเข้าไปเสริมด้วย รวมทั้งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย และจะสนับสนุนให้มีผู้มาเสริมช่วยในการเลือกตั้งทุกครั้ง ซึ่งต้องอาศัยตัวแทนพรรคการเมืองช่วยเป็นหูเป็นตาด้วย ดังนั้นหากมีการเลือกตั้งจริงคนที่จะมีบทบาทอย่างมากตามรัฐธรรมนูญใหม่คือกระทรวงมหาดไทย จะมีผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัดเข้าไปตรวจสอบการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้ถือว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ตกผลึกแล้วและถือว่าเป็นร่างกรธ.แล้ว
...
เมื่อถามว่า กกต.ค้านแน่ๆ กับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ นายนรชิต กล่าวว่า ตนไม่คาดการณ์ดีกว่า ทุกครั้งเขาก็รับฟังตลอดเมื่อเราได้มีการประชุม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งความเห็นของ กกต.ก็คงต้องรับฟัง ยังมีโอกาสอีก เพราะร่าง พ.ร.บ.กฎหมายลูกต้องเสนอกับ สนช.
เมื่อถามว่า กรธ.บอกว่าไม่มีแนวคิดและบทบัญญัติรีเซต กกต.ทั้ง 5 คน แต่เกิดไฟต์บังคับเล็กๆ ในบางบทบัญญัติที่ว่าถึงเรื่องคุณสมบัติ กกต.ที่ถูกยกระดับขึ้น และอาจเป็นเหตุทำให้กกต.บางคนต้องพ้นไป จริงหรือไม่ นายนรชิต กล่าวว่า ทาง กรธ.ยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง แต่ขอเรียนว่าไม่ได้มองถึง กกต.แต่มองถึงองค์กรอิสระทุกองค์กร ด้วยหลักการง่ายๆ คือ ร่าง รธน. มีคุณสมบัติและมีความเข้มงวดขึ้น ที่เราเขียนไว้ว่าคุณสมบัติและข้อห้ามที่เข้มงวดขึ้นเมื่อ รธน.ประกาศใช้เมื่อใดทุกองค์กรอิสระจะอยู่ภายใต้ รธน.นั้น ถ้าคุณสมบัติของแต่ละท่านไม่ถึง เราก็เพียงแต่เขียนว่าให้มีคณะกรรมการสรรหาขึ้น และกกต.อย่างนี้อยู่ในบทเฉพาะกาล เพราะเห็นอยู่แล้วว่า รธน.กำหนดให้มีกกต. 7 คน แต่ขณะนี้มีอยู่ 5 ก็ต้องบวกอีก 2 เลยกำหนดว่าให้มีกรรมการสรรหาขึ้นมา ซึ่งคนเหล่านี้จะเป็นคนพิจารณาคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งกกต.ต้องวินิจฉัยให้เสร็จภายใน 15 วัน และคำวินิจฉัยจะเป็นที่สุด ดังนั้นขอตอบคำถามที่ถามว่า "ว่าใช่ครับ แต่ยืนยันเราไม่ได้มุ่งหมายใคร หรือองค์กรใดโดยเฉพาะแต่ว่าเมื่อ รธน.ประกาศใช้ก็เป็นไปตามนั้น"
เมื่อถามว่า ถ้าโฟกัสไปที่ กกต.เดิมทั้ง 5 คน คณะกรรมการสรรหาก็จะพิจารณาว่าคุณสมบัติเป็นอย่างไร ถ้าเป็นไปตามที่บัญญัติใหม่ก็ทำหน้าที่ต่อแต่ถ้าไม่เป็นตามบทบัญญัติใหม่ก็จะต้องพ้นสภาพ นายนรชิต กล่าวว่า พ้นสภาพแต่เราเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าใครที่พ้นสภาพให้ปฏิบัติหน้าที่ จนกระทั่งมีการแต่งตั้งคนใหม่แทนเพื่องานจะได้ไม่สะดุด
เมื่อถามว่า ถ้าเช่นนั้นคุณสมบัติที่กำหนดใหม่ โดยให้ กกต.จะต้องดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจเทียบเท่าระดับอธิบดี อัยการ ผู้พิพากษา 10 ปี เป็นต้น ถ้าใช้สเปกนี้ อดีต ผช.หรือรองอธิการบดีก็ต้องพ้นสภาพ นายนรชิต กล่าวว่า "ถูกต้อง"
เมื่อถามว่า อย่างนี้หมายถึง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.จะต้องไปก่อนเลยใช่หรือไม่ นายนรชิต กล่าวว่า "ตนไม่ได้พิจารณา กรธ.ยังไม่ได้พิจารณา"