หลังจากที่ ไทยรัฐออนไลน์ ได้นำเสนอเรื่องราวของ มาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด ในหัวข้อ ไม่ต้องทะเลาะ! 13 ข้อต้องรู้ ตำรวจตั้งด่านถูกกฎหมายทำไง ไปแล้วนั้น วันนี้จะนำแนวทางในการควบคุมและตรวจสอบการปฏิบัติ มาให้ดูเพิ่มเติม ซึ่ง ตร.ได้ระบุถึง การควบคุมและตรวจสอบการปฏิบัติ ดังนี้

1. เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มต้น หรือเลิกปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจหรือจุดสกัด ให้รายงานทาง ว. ให้ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งอนุมัติให้ตั้งจุดตรวจหรือจุดสกัดดังกล่าวทราบ และเมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติแล้ว ให้ผู้ควบคุมจุดตรวจหรือจุดสกัดดังกล่าว รายงานผลการปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษร เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จนถึงผู้สั่งอนุมัติภายในวันถัดไปเป็นอย่างช้า

2. ให้ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับ สว. ขึ้นไป ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกตรวจการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำด่านตรวจ จุดตรวจ หรือจุดสกัด ที่มีอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

3. ให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา ตามข้อ 2 ที่จะต้องเอาใจใส่กวดขันดูแลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาของตน มิให้ฉวยโอกาสขณะปฏิบัติหน้าที่ประจำด่านตรวจ จุดตรวจ หรือจุดสกัด เรียกหรือรับผลประโยชน์จากผู้ใช้รถที่กระทำผิดกฎหมาย หรือไปดำเนินการจัดตั้งจุดตรวจ หรือจุดสกัด ในเขตเดินรถหรือทางหลวง โดยมิได้รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ และหากตรวจพบว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ใดประพฤติมิชอบในลักษณะดังกล่าว ก็ให้รีบพิจารณาดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไปตามอำนาจหน้าที่ ทั้งทางวินัยและทางอาญา แล้วรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จนถึง ตร. ทราบโดยมิชักช้า การรายงานดังกล่าว ให้ระบุ ยศ นาม ตำแหน่งของข้าราชการตำรวจผู้กระทำผิด พร้อมกับรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดให้ละเอียดชัดเจน

...

4. หากปรากฏว่า ผู้บังคับบัญชาในระดับตั้งแต่กองบังคับการหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือตำรวจอื่น สืบสวนข้อเท็จจริงจนปรากฏชัดเจน หรือตรวจสอบพบว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ด่านตรวจ จุดตรวจ หรือจุดสกัดใด มีพฤติการณ์มิชอบดังกล่าว ตามข้อ 3 หรือจับกุมตัวได้ โดยลักษณะของพฤติการณ์เป็นการกระทำร่วมกันหลายคน และ/หรือเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันหลายวัน ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษทางวินัยแก่ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งกระทำผิดดังกล่าว ฐานบกพร่องละเลยไม่เอาใจใส่ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาของตนอีกส่วนหนึ่งด้วย

จากนั้น ไทยรัฐออนไลน์ จะขอหยิบยกเรื่อง มาตรการป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์ พฤติการณ์สื่อไปในทางทุจริต และการสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน มาให้ได้อ่านกันอีก 5 ข้อ

5. การตั้งด่านตรวจ และจุดสกัด ต้องเป็นไปตามหลักปฏิบัติ ตามมาตรการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด โดยเคร่งครัด เมื่อไม่มีการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ใดหยุดรถเพื่อทำการตรวจ เว้นแต่พบความผิดซึ่งหน้า และต้องไม่เป็นไปในลักษณะการซุ่มจับอย่างเด็ดขาด

6. การตั้งจุดตรวจ ต้องมีแผนการปฏิบัติที่ชัดเจน โดยปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ตั้งจุดตรวจ ช่วงเวลา กำลังพลที่ใช้ และผู้ควบคุมการปฏิบัติ

7. สถานที่ในการตั้งจุดตรวจ และจุดสกัด ให้คำนึงถึงสภาพการจราจร ความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนและเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นสำคัญ โดยจะต้องเป็นสถานที่เปิดเผย ป้องกันความเคลือบแคลงสงสัยจากประชาชน

8. การจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องการจราจรให้ดำเนินการในกรณีที่เป็นความผิดชัดแจ้ง ก่อให้เกิดปัญหาการจราจร หรือความไม่ปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยต้องไม่กลั่นแกล้งหรือหาเหตุในการจับกุม ทั้งนี้ การจับกุมและออกใบสั่ง เจ้าพนักงานจราจรต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

9. กรณีการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด โดยการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยอื่น หรือเจ้าหน้าที่อาสาสมัครร่วมปฏิบัติงาน ให้ผู้ควบคุมจุดตรวจ จุดสกัด ทำการชี้แจงผู้ร่วมปฏิบัติให้เข้าใจอำนาจหน้าที่ รวมถึงการแต่งกายของอาสาสมัครต่างๆ จะต้องมีสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายบอกฝ่าย ที่ไม่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน

อย่างไรก็ตาม ไทยรัฐออนไลน์ เห็นว่า เรื่องราวการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด มีรายละเอียดกฎเกณฑ์ระบุไว้ชัดเจน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็พึงปฏิบัติอย่างดีอยู่แล้ว ทั้งนี้ หากเราปุถุชนประชาชนทั่วไป ทำตามหน้าที่และปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี อยู่ร่วมกันบนกฎกติกา ภายใต้กฎหมายเดียวกัน สังคมไทยก็จะน่าอยู่ยิ่งขึ้น โจร ผู้ร้าย ทุจริตต่างๆ ก็จะหายไปโดยปริยาย

ขอแค่ทุกคนรู้จักหน้าที่ของตัวเอง...ก็เพียงพอ!!