ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เคยนำเสนอ พระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากหนังสือ "คำพ่อสอน" (หนังสือเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสการจัดงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒) มาแล้ว ๒ ครั้ง คือ การรวมเรื่องราวถึง “หน้าที่” และ “การทำงาน” และ วันนี้ มีอีกเรื่องหนึ่งมานำเสนอ คือคำที่พ่อสอนถึง “นักเรียนและเยาวชน” ที่พึงปฏิบัติ

เวลาที่เป็นเด็กนั้นมีน้อย ต้องใช้เวลาให้ถูกต้อง ในการสะสมความรู้

...ขอให้นักเรียนทั้งหลายตั้งใจรับความรู้ที่ครูสอน เพราะโอกาสเช่นนี้หายาก ถ้าไม่เอาใจใส่พยายามเรียนก็จะหาโอกาสไม่ได้อีกเพราะเวลาที่เป็นเด็กนั้นมีน้อย จึงต้องขอให้ใช้เวลาให้ถูกต้อง สะสมความรู้ในทางหลักวิชาการและความรู้ทั่วไปให้มาก และดีที่สุด แล้วจะไม่ต้องเสียใจ เมื่อโตขึ้นก็จะสามารถทำหน้าที่ของตน คือทำมาหากินเลี้ยงชีวิตตน และช่วยส่วนรวมให้อยู่ได้ด้วยความก้าวหน้าและด้วยความร่มเย็น...

พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่คณะครู นักเรียน โรงเรียนวังไกลกังวล
วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๑๒

...

แม้เป็นเด็กก็มีหน้าที่อย่างเด็ก คือศึกษาเล่าเรียน

...คนทุกคนมีหน้าที่ต้องทำ. แม้เป็นเด็กก็มีหน้าที่อย่างเด็ก คือศึกษาเล่าเรียน. หมายความว่าจะต้องเรียนให้รู้วิชา ฝึกหัดทำการงานต่าง ๆ ให้เป็น อบรมขัดเกลาความประพฤติและความคิดจิตใจให้ประณีต ให้สุจริต แจ่มใส และเฉลียวฉลาดมีเหตุผล เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถและมีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง...

พระบรมราโชวาท
พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ประจำปี ๒๕๓๕

ความตั้งใจ เป็นเครื่องมือสำคัญจะช่วยกำจัดความเกียจคร้าน ความอ่อนแอ และความท้อถอย

...การจะเล่าเรียนหรือทำการใดๆ ให้สำเร็จได้ด้วยดีโดยตลอดนั้น ขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงเป็นใหญ่ เพราะ ความตั้งใจจริงนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยกำจัดความเกียจคร้าน ความอ่อนแอ และความท้อถอย ได้อย่าง ดียิ่ง จะปลูกฝังความเอาใจใส่ ความขยันหมั่นเพียร ให้เกิดเป็นนิสัย และนิสัยที่ดี ที่ปลูกไว้แต่เยาว์วัย จะเป็น คุณสมบัติติดตัวไปในวันข้างหน้า จะช่วยพาตัวให้องอาจ สามารถเอาชนะอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ได้โดย ตลอด และประสบความสำเร็จความเจริญรุ่งเรืองตลอดไปในชีวิต...

พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่คณะอาจารย์ ครู และนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล
วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๑๗

แม้เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ต้องถูกบังคับ ที่สำคัญที่สุดคือ ตัวเองจะต้องบังคับตัวเอง

...นักเรียนเวลาเป็นนักเรียนก็ถือว่าเป็นเด็ก เมื่อจบการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ เพราะว่าจะต้องไปต่อสู้เอง ไม่มีการดูแลโดยใกล้ชิดเท่ากับเมื่ออยู่ในโรงเรียนและยังถือเป็นเด็กนักเรียน คำว่าเด็กนักเรียนนี้ บางคนอาจไม่ชอบให้ใช้คำว่า “เด็ก” เพราะนึกว่า “เด็ก” นี้เป็นการดูถูกเมื่อเปรียบเทียบกับ “ผู้ใหญ่” ผู้ใหญ่เหมือนเป็นผู้ที่ใหญ่โตแล้ว ไม่ต้องถูกดุ ไม่ต้องถูกเตือน เมื่อเป็นเด็กก็ต้องถูกดุ ถูกเตือน ถูกสอน คำว่า “ถูก” นี้ฟังดูไม่ค่อยดี เหมือนว่ามีการบังคับจิตใจ แต่หากว่าถ้าไม่มีการบังคับจิตใจ พวกเราทุกคนจะเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นเด็กอยู่ได้อย่างไร จะต้องมีการบังคับ มีแตกต่างอยู่ที่ว่า ถ้าผู้อื่นบังคับมันคับใจ แต่ว่าเมื่อพ้นจากสภาพทางการว่าเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ยังต้องถูกบังคับ ผู้อื่นบังคับก็มี แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ตัวเองจะต้องบังคับตัวเอง...

พระราชดำรัส
ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียน
ในงานประจำปีโรงเรียนจิตรลดา
วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๑

ผู้มีวิชาการจำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติ นอกจากวิชาความรู้ด้วย จึงจะนำตนนำชาติให้รอดและเจริญได้

...วิชาการต่างๆ ที่เรียนที่สอบไล่กันได้นั้น โดยลำพัง ไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยให้นักเรียนเอาตัวรอดได้ และไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยสร้างสรรค์สิ่งใดให้เป็นประโยชน์แก่ตัว แก่ผู้อื่น แก่บ้านเมืองได้. ผู้มีวิชาการแล้วจำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติในตัวเอง นอกจากวิชาความรู้ด้วย จึงจะนำตนนำชาติให้รอดและเจริญได้. คุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับทุกคนนั้น ได้แก่ ความละอายชั่วกลัวบาป ความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งในความคิดและการกระทำ ความกตัญญูรู้คุณชาติบ้านเมือง และผู้ที่อุปการะตัวมา ความไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น หากแต่มีความจริงใจ มีความปรารถนาดีต่อกันเอื้อเฟื้อกันตามฐานะและหน้าที่. และสำคัญอย่างมากก็คือ ความขยันหมั่นเพียรพยายามฝึกหัดประกอบการงานทั้งเล็ก ใหญ่ ง่าย ยาก ด้วยตนเอง ด้วยความตั้งใจไม่ทอดธุระ เพื่อหาความสะดวกสบายจากการเกียจคร้าน ไม่มักง่าย หยาบคายสะเพร่า...

...

พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่คณะอาจารย์ ครู และนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล
วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๒

เราเป็นผู้เยาว์ เป็นเวลาที่จะต้องสะสมความรู้ ไม่ใช่เรียนเพื่อเอาคะแนน

...ผลที่ได้ที่เป็นคะแนน ที่เป็นประกาศนียบัตร หรือเป็นรางวัลนั้นมีประโยชน์อย่างไร ต้องเข้าใจว่าเราเป็นผู้เยาว์ เป็นเวลาที่จะต้องสะสมความรู้ ไม่ใช่การเรียนเพื่อเอาคะแนน เป็นการเรียนเพื่อที่จะเตรียมตัวสำหรับดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่สังคมและเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ไม่ใช่เรียนสำหรับให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองหรือครูปลื้มใจเท่านั้น แต่สำหรับที่จะให้ตัวเองมีชีวิตรอดต่อไปในอนาคต แล้วก็เมื่อโตขึ้นจะได้รู้ว่าตัวทำดีหรือไม่ดี...

พระบรมราโชวาท
พระราชทานเนื่องในวันปิดภาคเรียนปีการศึกษา ๒๕๑๓
ของโรงเรียนจิตรลดา
วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๔

ความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะติดตัวไปในอนาคต

...ความรู้นี้เป็นสิ่งที่สำคัญ จะติดตัวไปสำหรับอนาคต ถ้าผู้ที่มีความรู้ในด้านวิชาการพยายามจะฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ในชีวิต ในสิ่งที่ดีที่งามที่ควร ให้สามารถที่จะปฏิบัติตนวางตัวให้ดีในสังคมได้เพียงไรก็เป็นกำไรเพียงนั้น กำไรนั้นจะเป็นสิ่งที่จะทำให้ชีวิตและอนาคตมีความรุ่งเรืองได้ รวมทั้งจะทำให้บ้านเมืองอยู่ได้ เพราะว่าพลเมืองมีความรู้ พลเมืองสามารถที่จะเข้าหากันได้เพื่อสร้างสังคมที่แข็งแรง สังคมที่มีระเบียนเรียบร้อยและมีความมั่นคง...

...

กระแสพระราชดำรัส
พระราชทานแก่นักศึกษาวิทยาลัยการค้า
วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๑๖

การศึกษาคือพื้นฐานนำไปสู่การสร้างสรรค์ความเจริญ

...การสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทุกอย่างนั้นต้องเริ่มต้นที่การศึกษาพื้นฐานเดิมก่อน. เมื่อได้ศึกษาทราบชัดถึงส่วนดีส่วนเสียแล้ว จึงรักษาส่วนที่ดีที่มีอยู่แล้วให้คงไว้ แล้วพยายามปรับปรุงสร้างเสริมด้วยหลักวิชา ด้วยความคิดพิจารณา อันประกอบด้วยเหตุผลและความสุจริตจริงใจ ให้ค่อยเจริญงอกงามมั่นคงบริบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป ตามความเหมาะสม ตามกำลังความสามารถ และตามกำลังเศรษฐกิจที่มีอยู่. การงานทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านเมืองจึงจะเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นได้ อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก. หาไม่ความขัดข้องล่าช้าต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะทำให้ต้องสิ้นเปลืองกำลังงาน กำลังสมอง กำลังเงินทองไปอย่างน่าเสียดายไม่มีโอกาสจะกู้กลับคืนมาได้...
พระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๘