ทุกคนคงจะทราบดีว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระผนวช เป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 แต่หลายๆ คนคงยังไม่ทราบว่า พ่อหลวงของปวงชนชาวไทยพระองค์นี้ ทรงมีความผูกพันกับศาสนาพุทธ โดยเฉพาะอริยสงฆ์สายวัดป่ากรรมฐาน เป็นอย่างยิ่ง และในวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้ขอนำบทความจากหนังสือ "ในหลวง กับพระป่ากรรมฐาน" มานำเสนอให้ทุกคนได้อ่านกัน รับรองว่าใครที่ได้อ่านแล้ว นอกจากจะได้เห็นถึงแก่นธรรมจากพระอริยสงฆ์แล้ว ยังได้เห็นพระราชจริยวัตรอันงดงามของเหนือหัวภูมิพล ที่น่าเลื่อมใสอีกด้วย
ในหลวง กับ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล "หลวงปู่ การละกิเลสนั้น ควรละกิเลสอะไรก่อน"
จากบันทึกของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หรือ พระครูนันทปัญญาภรณ์
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2522 เมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมพระราชโอรสและพระราชธิดาสองพระองค์ พระราชสุณิสา และ พระเจ้าหลานเธอ รวม 7 พระองค์ ได้เสด็จฯ ที่วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ มาที่วัด 18.40-19.30 น.
...
หลังจากตรัสถามถึงสุขภาพอนามัยของหลวงปู่ดูลย์แล้ว ทรงอาราธนาให้หลวงปู่แสดงพระธรรมเทศนาและทรงอัดเทปไว้ด้วย
ที่น่าสนใจคือ เมื่อหลวงปู่แสดงพระธรรมเทศนาย่อๆ ถวายจบแล้ว
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ตรัสถามหลวงปู่ว่า...
"หลวงปู่ การละกิเลสนั้น ควรละกิเลสอะไรก่อน"
หลวงปู่ถวายวิสัชนาว่า..."กิเลสทั้งหมดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อนให้ละอันนั้นก่อน"
ทุกครั้งที่ล้นเกล้า ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ เยี่ยมหลวงปู่ หลังจากเสร็จพระราชกรณียกิจในการเยี่ยมแล้ว เมื่อจะเสด็จฯ กลับ ทรงมีพระราชดำรัสสุดท้ายว่า
"ขออาราธนาหลวงปู่ให้ดำรงขันธ์อยู่เกินร้อยปี เพื่อเป็นที่นับถือของปวงชนทั่วไป หลวงปู่รับได้ไหม"
ทั้งๆ ที่พระราชดำรัสนี้เป็นสัมมาวจีกรรม พระราชทานพรแด่หลวงปู่โดยพระราชอัธยาศัย หลวงปู่ไม่กล้ารับ และไม่อาจฝืนสังขาร จึงถวายพระพรว่า
"อาตมารับไม่ได้หรอก แล้วแต่สังขารเขาจะเป็นไปของเขาเอง"
ทั้งนี้ ในวันที่ 12 มีนาคม 2526 เวลา 18.19 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยมหลวงปู่ ทำให้ผู้รักษาพยาบาลหลวงปู่ต้องตกตะลึงเป็นอันมาก เนื่องจากไม่มีผู้ใดทราบมาก่อนว่าพระองค์ท่านจะเสด็จฯ
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล มีนามเดิมว่า ดูลย์ เกษมศิลป์ เป็นชาวจังหวัดสุรินทร์ อุปสมบทครั้งแรก อายุ 22 ปี ได้เข้าศึกษานักธรรมตรี อยู่วัดสุทัศนาราม จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ.2458 ได้พบและศึกษาอบรมพระธรรมปฏิบัติกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่วัดบูรพาราม และญัตติเป็นธรรมยุต เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2416 ที่วัดสุทัศนาราม จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระมหารัตน์รฏฐปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ พระศาสนดิลกเป็นพระกรรมวาจาจารย์
วันที่ 5 ธันวาคม 2522 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชวุฒาจารย์ มรณภาพ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2526 สิริอายุได้ 95 ปี 26 วัน พรรษา 65
...
พระลิขิตธรรม หลวงปู่เทสก์ "พระมหากษัตริย์ไทยของเรา มีข่าวไปทางใด เสด็จประพาสที่ไหน คนนิยมนับถือเคารพบูชากราบไหว้"
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการ พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฎ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เป็นประจำ
ในลิขิตธรรมของหลวงปู่เทสก์ ได้กล่าวถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 ไว้ดังนี้
"พระมหากษัตริย์ไทยของเรา มีข่าวไปทางใด เสด็จประพาสที่ไหน คนนิยมนับถือเคารพบูชากราบไหว้ คนที่ไม่ได้เห็นก็อยากจะเห็น คนที่ไม่เคยกราบก็อยากกราบ คนที่ไม่เคยอยากไหว้ก็อยากไหว้ เพียงได้ยินข่าวก็ชื่นอกชื่นใจ กับความเมตตาปรานี ความดีของพระองค์ นี่เป็นตัวอย่างของความดี และคุณของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกๆ พระองค์ ตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์มาได้ 200 ปี มีพระมหากษัตริย์มาแล้ว 9 พระองค์ทั้งองค์ปัจจุบัน ได้ปกปักรักษาเอกราชอธิปไตยมาโดยลำดับ เราทุกๆ คนซึ่งเกิดมาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารพากันทำมาหากินอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีความเดือดร้อน ก็เพราะบารมีของพระองค์เหล่านั้นปกเกล้าปกกระหม่อม บางคนอาจเกิดในกรุงรัตนโกสินทร์นี้หลายครั้งหลายหน และได้เฝ้าพระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์แล้วก็ได้"
...
พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฎ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม อรัณยวาสี หรือ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี มีชื่อเดิมว่า เทสก์ เรี่ยวแรง เกิดวันเสาร์ ที่ 26 เมษายน 2445 ที่บ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นบุตรของนายอุส่าห์ และนางครั่ง เรี่ยวแรง
บรรพชา เมื่ออายุ 18 ปี ที่บ้านเค็งใหญ่ จ.อุบลราชธานี มีพระอาจารย์ลุย เป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นอายุย่างเข้า 22 ปี ได้อุปสมบท ณ วัดสุทัศนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2466 ได้เข้านมัสการพระอาจารย์มั่นเป็นครั้งแรก ณ บ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี พร้อมกับพระมหาปิ่น ปัญญาพโล
หลวงปู่เทสก์ เคารพและศรัทธา อาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นอย่างมาก กระทั่ง อาจารย์มั่นถึงแก่มรณภาพในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2492 จึงเดินทางกลับไปร่วมงานปลงศพที่สกลนคร ในปี 2493 ออกธุดงค์ผจญภัยครั้งใหญ่ไปยังดินแดนภาคใต้และพำนักจำพรรษาอยู่ภูเก็ตนาน ถึง 15 ปี
ตั้งแต่ปี 2505 หลวงปู่เทสก์ มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย กระทั่งวันที่ 5 ธันวาคม 2533 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฎ์ และได้มรณภาพ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2537 ณ วัดถ้ำขาม อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร สิริรวมอายุได้ 92 ปี 7 เดือน 21 วัน พรรษา 71
...
ไม่เห็นมีขบวนแห่...นึกว่าใส่ชฎา เรื่องเล่า 2 หลวงปู่ผู้ไม่รู้จักพ่อหลวง ร.9
เหตุการณ์ครั้งนี้ คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต ได้เขียนไว้ในหนังสือฐานสโมบูชา ระบุว่า…
วันหนึ่งหลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ จ.เลย ไปเยี่ยมหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล ขณะนั้น ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมากราบหลวงปู่ขาว เป็นวาระแรก ทางบ้านเมืองจึงส่งข่าวให้ทางวัดเตรียมตัวรับเสด็จ หลวงปู่ขาวทราบว่า เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจะเสด็จฯ ก็เตรียมหนีทันที หลวงปู่ขาวซึ่งบ่นเช่นกันว่าไม่ทราบว่าจะ "พูด" ด้วยอย่างไร ขอให้หลวงปู่ชอบอยู่ด้วยกันเป็นเพื่อน
อ้อนวอนกัน จนสุดท้าย หลวงปู่ก็ใจอ่อนยอมอยู่ด้วย โดยเป็นที่เข้าใจว่าท่านจะไม่ต้องพูดอะไรเลย และหลวงปู่ขาวก็ไม่ต้องพูดอะไรเท่าไรนัก ด้วยทางบ้านเมืองจะมาช่วยดูแลกำกับด้วย
ถึงวันที่กำหนด หลวงปู่ทั้งสอง ก็ครองจีวรอย่างเรียบร้อยรออยู่จนเย็น ท่านก็บ่นกันว่า...
"ไม่เห็นมา ให้รออยู่" องค์หนึ่งบ่น
"นั่นซี ไม่เห็นมา มีแต่ทหารสองคนพ่อลูกมาคุยอยู่เป็นเวลานานสองนาน"
"คนพ่อเพิ่นงามกว่าลูกน่ะ" ท่านวิจารณ์กัน
หลวงปู่ทั้งสองหัวเราะกันจนองค์งอ...เมื่อพระเณรช่วยกันชี้แจงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...เสด็จพระราชดำเนินแล้ว...! พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ...ที่หลวงปู่ว่า ทหาร 2 คนพ่อลูกนั่นแหละ…!!
…ภายหลังได้โอกาสกราบเรียนหลวงปู่ขาว ทำไมหลวงปู่ไม่รู้จักพระเจ้าอยู่หัว และทูลกระหม่อมฟ้าชายล่ะเจ้าคะ (ขณะนั้นท่านยังมิได้ดำรงพระยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร)
ท่านว่า "ไม่เห็นมีขบวนแห่"
ส่วนหลวงปู่ชอบ เมื่อกราบเรียนถามคำถามเดียวกัน ท่านก็ยิ้มอายๆ ตอบว่า "นึกว่าจะใส่ชฎา"
หลังจากเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการหลวงปู่ขาว ที่วัดถ้ำกลองเพลอีกนับครั้งไม่ถ้วน และทุกครั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะโดยเสด็จด้วย จนเป็นที่ทราบกันดีว่าทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยผูกพันต่อหลวงปู่ชอบและหลวงปู่ขาว ก็มี "จิต" ผูกพันต่อพ่อจ้าว แม่จ้าว แผ่เมตตาถวายทุกเวลาและทุกโอกาส ทั้งสองพระองค์และหลวงปู่มี "จิต" ถึงกัน (คำว่า "พ่อจ้าวหลวง" และ "แม่จ้าวหลวง" เป็นคำพูดที่หลวงปู่ขาว และหลวงปู่ชอบ ท่านมักจะใช้ยามเมื่อเอ่ยถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสมอ)
สำหรับ ประวัติ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม มีนามเดิมว่า บ่อ แก้วสุวรรณ เป็นบุตรของนายมอ และ นางพิลา แก้วสุวรรณ เกิดวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2444 ณ บ้านโคกมน อ.วังสะพุง จ.เลย บรรพชาเมื่ออายุ 19 ปี และได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2467 (อายุ 23 ปี) ณ วัดสร่างโศก โดยมีพระครูวิจิตรวิโสธนาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แดง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และได้มรณภาพเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2538 ณ วัดป่าสัมมานุสรณ์ สิริอายุได้ 93 ปี 11 เดือน 27 วัน พรรษา 70
ส่วน หลวงปู่ขาว อนาลโย มีนามเดิมว่า ขาว โคระถา เป็นบุตรของนายรั่ว และ นางรอด โคระถา เกิดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2431 ตรงกับปีชวด ณ บ้านบ่อชะเนง อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันคือ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ)
อุปสมบทเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2462 ณ วัดโพธิ์ศรี จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบัน จ.อำนาจเจริญ) โดยมีพระครูพุฒิศักดิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์บุญจันทร์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ญัตติเป็นธรรมยุต เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2468 โดยมีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ ญัตติพร้อมกับหลวงปู่หลุย จนทสาโร โดยหลวงปู่ขาวเป็นนาคซ้าย หลวงปู่หลุยเป็นนาคขวา (หลวงปู่หลุย บวชก่อน 15 นาที)
มรณภาพ เมื่อวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม 2526 ณ วัดถ้ำกลองเพล อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี (อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ในปัจจุบัน) สิริอายุได้ 94 ปี 4 เดือน 18 วัน พรรษา 57
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชศรัทธาปสาทะ และทรงยกย่องนับถือพระกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นอย่างยิ่ง มีพระราชปฏิสันถาร และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวาระต่างๆ เป็นประจำ อย่างไรก็ดี ตอนหน้า ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะนำเสนอเกี่ยวกับพระเกจิองค์ใด โปรดติดตาม...
ขอบคุณภาพจาก - ในหลวง กับพระป่ากรรมฐาน