ขอน้อมเกล้าฯ เยาวเรศ เกตุกษัตริย์
ใจจะพลัด จากกาย สายสวรรค์
ด้วยนอบน้อม ยอมทุกอย่าง พลางรำพัน
นึกถึงวัน อันอดีต ที่ผ่านมา
ซับน้ำตา เป็นสายเลือด เพราะเชือดจิต
ไม่คลายคิด บรมบาท คาดไม่ถึง
เครื่องดนตรี หลั่งสายเลือด ด้วยรำพึง
ใจคิดถึง ยังตรึงจิต มิรู้ลืม
ระพี สาคริก
บ้านระพี สาคริก
๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙
...
บทกลอนข้างต้นนั้น ศ.ระพี แต่งขึ้นหลังจากทราบข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ศ.ระพี สาคริก ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน และผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น 'บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย' ทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ กับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส.ช่วง พ.ศ.2495 และยังได้ทำหน้าที่เป็นโฆษกหน้าพระที่นั่งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีกด้วย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รับความอนุเคราะห์จากศาสตราจารย์ ระพี สาคริก สำหรับการให้สัมภาษณ์พิเศษในครั้งนี้ ณ สถาบันวิจัยพืชผล กรมวิชาการเกษตร
เมื่อถามถึงความปลื้มปีติที่ได้ถวายงานใกล้ชิดกับพระองค์ท่านนั้น คงจะกลั่นกรองออกมาบรรยายไม่หวาดไม่ไหว เพราะตลอดเวลาที่ได้รับใช้ตั้งแต่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินกลับมาจากต่างประเทศนั้นก็เป็นระยะเวลาหลายสิบปี
ราษฎรผู้รับใช้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท กล่าวว่า “ตอนที่ในหลวงเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ผมดีใจมาก ด้วยความที่ผมสนิทกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ อยู่แล้ว จึงตามเข้าวังไปด้วย ตอนนั้นพระองค์ประทับอยู่ที่ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ชั้นบน ส่วนชั้นล่างเป็นเครื่องส่งวิทยุ ท่านทำของท่านเอง
หลังจากนั้นก็นัดกันเล่นดนตรี ทุกวันศุกร์ 5 โมงเย็น เราจะเจอกันที่ชั้นล่างพระที่นั่งอัมพรสถาน พระองค์ทรงตรงต่อเวลามาก ตรงเป๊ะเชียว พอ 5 โมงเย็น รถยนต์พระที่นั่งถึงบันไดพระตำหนักเป๊ะเลย พระองค์ท่านก็เสด็จขึ้นไปชั้นบนเพื่อเปลี่ยนฉลองพระองค์ทรงเสื้อเชิ้ตธรรมดา มีพระเสโทโชกพระวรกายเชียวล่ะ
พอลงมาชั้นล่างก็เลี้ยวเข้าห้องเครื่องส่งวิทยุก่อน จูนจนได้ที่แล้วถึงได้ออกมาทรงดนตรีกับพวกเรา เล่นดนตรีเสร็จก็ทรงเลี้ยงอาหารค่ำ แต่ในหลวงท่านเพลิดเพลินกับการเล่นดนตรีมาก มหาดเล็กไปกราบบังคมทูลเสวยอาหารค่ำ ท่านเล่นเพลินไม่ยอมลงมาเสวย ประเดี๋ยวเดียวพอสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ เสด็จผ่าน พระองค์ท่านก็รีบลุกไปเสวยเลย (หัวเราะ)”
“มีครั้งหนึ่งเสด็จฯ ศูนย์บำบัดโรคเรื้อนที่วัดเขาสุกิม จ.จันทบุรี ในหลวงทรงขับรถจี๊ปวิลลี่เอง ลุยน้ำได้ พื้นน้ำถึงพื้นรถ ขับไปท่านก็สงสัยว่าทำไมราชการถึงจัดให้ขับอ้อมไปทางนู้น ทำไมไม่ตรงไปทางนี้ ท่านก็เลยทราบว่า ราชการเขากลัวจะเห็นพวกโรคเรื้อน แต่ในหลวงท่านหยุดรับดอกไม้จากคนเป็นโรคเรื้อน ตักกระบวยเสวยน้ำ ท่านไม่ได้ถือตัวอะไรเลย
...
ผมดูจากแววพระเนตรของพระองค์ท่านนั้น รู้สึกได้ว่าพระองค์ท่านเป็นเพื่อนกับคนพวกนี้จริงๆ ความเป็นเพื่อนมันเหนือกว่าอะไรทั้งหมดเลย และเป็นวิธีการที่ผมนำมาใช้วางตัวกับนิสิต ม.เกษตรฯ กับอธิการบดีเป็นเพื่อนกัน กินด้วยกัน นอนด้วยกัน ลำบากด้วยกัน ผมถือว่าอำนาจนี้เหนืออื่นใด ไม่ใช่อำนาจที่เป็นวัตถุแต่เป็นอำนาจทางใจต่างหาก”
ตลอดระยะเวลาที่อาจารย์ระพีได้ถวายงานรับใช้อย่างใกล้ชิดนั้น ได้ทราบมาตลอดว่ากษัตริย์แห่งสยามพระองค์นี้ ทรงงานหนักมาก ไม่ว่าจะเสด็จไปยังที่ห่างไกลความเจริญ เสี่ยงอันตรายแค่ไหนก็ตาม ศ.ระพี เล่าต่อว่า “บางวันพระองค์ท่านทรงดนตรีถึงกลางดึกตีหนึ่งตีสองกว่าจะเสด็จขึ้นบรรทม และตอน 7 โมงเช้า เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งก็มารออยู่แล้ว พระองค์ออกไปทรงงานกับชาวเขาในถิ่นทุรกันดารตั้งแต่เช้า อีกทั้ง เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเวลาบินช่วงหน้าร้อนจะมีแรงกระเทือนมากๆ ค่อนข้างเสี่ยงที่จะตกอย่างยิ่ง แต่ในหลวงกับสมเด็จพระราชินี ก็เสด็จฯไปหาประชาชนท่ามกลางกระแสลมแบบนั้น”
...
อาจารย์ระพี เผยถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ตรัสไว้เมื่อครั้งมีรับสั่งโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯเป็นการส่วนพระองค์ว่า “พระองค์ท่านมีรับสั่งว่า ติดตามผลงานของอาจารย์มาตลอด อย่าท้อนะ และผมเองได้ถวายสัจจะกับพระองค์ท่านไว้ว่า ข้าพระพุทธเจ้า จะขอทำงานถวายชีวิต แล้วพระองค์ก็ทรงเอาน้ำสังข์หลั่งที่ศีรษะ”
“และยังมีพระดำรัสที่พระองค์เคยตรัสไว้แล้วผมประทับใจมากๆ พระองค์เคยตรัสไว้ว่า เป็นคนไทยด้วยกันแท้ๆ ต้องคิดเหมือนกันด้วยหรือ โอ้โห ในหลวงพระองค์นี้ทรงปราดเปรื่องมาก นี่เป็นสิ่งที่ทำให้คนที่หลบซ่อนอยู่ในป่าออกมาจากป่าและตั้งใจจะสร้างสถานศึกษาเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่านด้วย”
หากพูดถึงพระราชอารมณ์ขันของในหลวง รัชกาลที่ 9 นั้น อาจารย์ระพี เล่าให้ฟังว่า “มีอยู่วันหนึ่งไม่มีใครคาดคิดมาก่อน พระองค์ท่านทรงพระสำราญดนตรีอยู่ในหอประชุม ม.เกษตรฯ อยู่ๆ พระองค์ท่านก็ลุกจากเก้าอี้พระที่นั่ง เสด็จไปคว้าไมโครโฟนแล้วตรัสว่า อาจารย์ระพี สีซอให้ควายฟัง ตอนนั้นคนในหอประชุมฮากันตรึมเลย (หัวเราะ)”
...
“พระองค์ท่านทรงให้ความใกล้ชิดเป็นอย่างมาก สังเกตได้ว่าเวลาพระองค์ท่านทรงดนตรีจะทรงพระสำราญอย่างเป็นกันเองกับทุกคน ดูแววพระเนตรแล้วเหมือนกับท่านให้ความเป็นเพื่อนกับทุกคน หยอกเย้ากันอย่างสนุกสนานไม่ถือตัว” เมื่อพูดถึงท่อนนี้ จู่ๆ สุภาพบุรุษสูงวัยที่นั่งอยู่ตรงหน้ากลับนิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนเอื้อนเอ่ยบทกลอนบทหนึ่งออกมาด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
“เพื่อนกินสิ้นทรัพย์แล้วแหนงหนี หาง่ายหลายหมื่นมีมากได้
เพื่อนตายถ่ายแทนชี-วาอาตม์ หากยากฝากผีไข้ยากแท้จักหา”
น้ำตาแห่งความอาลัยรื้นอยู่ภายในดวงตาของชายซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมา 93 ปี เป็นราษฎร 5 แผ่นดิน ที่ช่วงชีวิตนี้ได้เคยถวายงานอย่างใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ท้ายที่สุดนี้ อาจารย์ระพีได้เล่นไวโอลินถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยความอาลัยในครั้งนี้ด้วย