สมุทรสงคราม "ดอนหอยหลอด" น้ำทะเลเน่าหนัก ทำพบซากกระเบนราหู-ลูกปลาลอยน้ำตายเกลื่อน ส่งผลต่อระบบนิเวศในพื้นที่อย่างรุนแรง ขณะชาวบ้านช่วยชีวิตกระเบนราหูได้ 2 ตัว จนท.รุดมาตรวจสอบ เจาะเลือดหาเชื้อโรค

วันที่ 8 ต.ค. 59 กรณี พบซากกระเบนราหู ลอยน้ำตายเกลื่อน ในแม่น้ำแม่กลอง 18 ตัว และลูกปลากระเบนอีกจำนวนมาก โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา ชาวประมงพื้นบ้านพบปลากระเบนราหู หนีตาย จึงช่วยชีวิตนำเข้าฝั่ง บริเวณหมู่ 4 ต.นาโคก อ.เมืองสมุทรสาคร เป็นปลาราหู เพศเมีย ขนาด 2 เมตร หนัก 200 กก.

ช่วงสายวันนี้ ชาวประมงบ้านปาบมาบ ต.บางแก้ว อ.เมืองสมุทรสงคราม พบฝูงปลากระเบนราหู จำนวน 4 ตัว กำลังหนีตายสภาพอ่อนเพลีย บริเวณดอนหอยหลอด ห่างจากฝั่งประมาณ 2 กม. จึงใช้เชือกร้อยหูปลานำมาเข้าฝั่ง ผูกไว้ที่ปากคลองปาบมาบได้ 1 ตัว แจ้ง นายสายชล แสงจันทร์ กำนันตำบลบางแก้ว ทราบ ประสานงานไปยัง นายนรินทร์ ทรงนิพิฐกุล นายอำเภอเมืองสมุทรสงคราม ประสานงานให้นายอุทัย สิงห์โตทอง ประมงจังหวัด นายกอบศักดิ์ เกตุเหมือน ผอ.ศูนย์วิจัยพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสงคราม พร้อมชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ใช้อวนตาถี่เข้าไปล้อมปลากระเบนราหูเพศเมีย ขนาด 1.30 เมตร หนักประมาณ 100 กก. นำไปอนุบาลไว้ที่ศูนย์เพาะเลี้ยงประมงชายฝั่ง ต.ลาดใหญ่

...

นอกจากนี้ยังพบซากปลากระเบนราหู ขนาดใหญ่ ลอยในคลองแควอ้อม หน้าวัดแก้วเจริญ ต.เมืองใหม่ อ.อัมพวา-ในคลองอัมพวา หน้าวัดจุฬามณี อ.อัมพวา และริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง บริเวณหน้าวัดแก้วฟ้า ต.บ้านปรก อ.เมืองสมุทรสงคราม รวมพบซากปลากระเบน 23 ตัว ช่วยชีวิตได้ 2 ตัว

รศ.ดร.สัตวแพทย์หญิง นันทริกา ชันซื่อ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รุดมาตรวจสอบพร้อมเจาะเลือดปลากระเบนราหู นำไปตรวจสอบหาเชื้อโรค จากการสังเกตการณ์นั่งเรืออีป๊าบออกจากในทะเล บริเวณดอนหอยหลอด น้ำทะเลเป็นสีดำปนสีน้ำตาล ส่งกลิ่นเหม็นเป็นวงกว้าง ที่ติดกับชายฝั่งทะเลจังหวัดสมุทรสาคร ชาวประมงพื้นบ้าน จับปลาดุกทะเลที่ลอยสภาพอ่อนเพลีย มาเป็นอาหารจำนวนมาก

นายรถ ตายาน อายุ 47 ปี ชาวประมงพื้นบ้าน ปาบมาบ ต.บางแก้ว อ.เมืองสมุทรสงคราม กล่าวว่า น้ำทะเลเน่าเสียไหลเข้ามาในคลองปาบมาบในวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา กุ้ง-หอย-ปู-ปลา ตายหมดแน่ ในปีนี้เกิดเหตุการณ์แบบนี้มาแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง

ด้าน ร.ท.พัชโรดม อุนสุวรรณ ประธานรมชมคนรักปลากระเบนราหู จังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า รู้สึกเสียใจที่ปลากระเบนราหูเจ้าพระยา เป็นสัตว์น้ำจืดขนาดใหญ่ ที่พบครั้งแรกในแม่น้ำเจ้าพระยา นักวิจัยต่างชาติทั้งยุโรป อเมริกา ร่วมมือกับ รศ.ดร.สัตวแพทย์หญิง นันทริกา ชันซื่อ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำจากจุฬาฯ ลงมาในพื้นที่แม่น้ำแม่กลอง ศึกษาวิจัยปลากระเบนราหู ตั้งแต่ปี 2551-2555 พร้อมฝังไมโครชิปไว้ที่โคนหางปลากระเบนราหู จำนวน 100 ตัว ปลากระเบนราหูเจ้าพระยา เป็นสมบัติของคนไทยทุกคน ที่ควรอนุรักษ์เอาไว้ ทั้งเรื่องหิ่งห้อย ปลากระเบนราหูเจ้าพระยา มันบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ โดยน้ำเสียครั้งนี้ จะกระทบถึงหิ่งห้อยไปด้วย เรามันเมืองปลายน้ำก้นอ่าว "กอไก่" ต้องประสานงานร่วมแก้ไขปัญหาร่วมกันถึงผลกระทบความเสียหาย ที่ประเมินคุณค่าไม่ได้

...