ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงพื้นที่ตรวจสอบ “ปลากระเบนราหู” ที่ลอยตายในแม่น้ำแม่กลอง ล่าสุด พบอีก 2 ตัว พร้อมยืนยันเจอสารพิษ ต้นเหตุตายผิดธรรมชาติ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบ
เมื่อช่วงเช้าวันนี้ 6 ต.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ และอาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมคณะ ได้เดินทางมาที่บริเวณบ้านท้ายหาดรีสอร์ต ตำบลท้ายหาด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อพิสูจน์การตายของปลากระเบนราหูเจ้าพระยา ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Himantura chaophraya”
จากนั้นได้ลงเรือของสำนักงานเจ้าท่าที่ 3 และเรือของเทศบาลตำบลอัมพวา โดยเรือได้วิ่งมาถึงบริเวณตำบลท้ายหาด พบปลากระเบนราหูลอยตาย ตรวจสอบพบว่าเป็นเพศเมีย มีอายุกว่า 50 ปี กว้าง 2 เมตร ยาว 30 ซม. และพบปลากระเบนตายอีกที่บริเวณหน้าวัดปากน้ำ ตำบลแควอ้อม เขตอำเภออัมพวา มีอายุกว่า 20 ปี จึงใช้เรือลากมาขึ้นฝั่งที่บริเวณหน้าวัดท้ายหาด จากการผ่าพิสูตร DNA พบว่าเป็นปลาเพศเมีย 2 ตัว ตั้งท้องทั้ง 2 ตัว
ร.ศ.สพ.ญ.ดร. นันทริกา กล่าวว่า รู้สึกเสียใจที่เห็นปลากระเบนราหูเจ้าพระยา ต้องมาเจอสารพิษตายจำนวนมากมายเช่นนี้ ตนเองและคณะได้มาศึกษาวิจัยปลากระเบนราหูเจ้าพระยาที่แม่น้ำแม่กลอง เมื่อปี 51 พร้อมฝังไมโครชิพ เอาไว้บริเวณหางของมัน จุดแรกที่ได้รับแจ้งที่บริเวณริมอ่าวตำบลคลองโคน ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. จนถึงขณะนี้ ตายไปแล้วกว่า 25 ตัว “มันตายแบบผิดธรรมชาติ สารพิษพวกนี้อยู่ในสารฟอกย้อม หรือส่วนประกอบของคลอรีน”
...
ร.ศ.สพ.ญ.ดร. นันทริกา กล่าวต่อว่า ปลากระเบนราหูเจ้าพระยา เป็นสัตว์อนุรักษ์ เป็นมรดกของชาติ หากินผิวพื้นดินใต้น้ำ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันตรวจสอบว่า สารพิษมีที่มาจากไหนกันแน่ เนื่องจากปากอ่าวแม่น้ำแม่กลอง กระแสน้ำไหลขึ้น-ไหลลงผ่าน 3 อำเภอ จึงพบปลาลอยตายในแม่น้ำแม่กลอง ทั้ง 3 อำเภอ
อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมคณะได้ตั้งกลุ่มอนุรักษ์ปลากระเบนราหูเจ้าพระยา ในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามขึ้นแล้ว เพื่อช่วยกันดูแลสอดส่องสิ่งผิดปกติที่จะเกิดขึ้นต่อไป.