สิงห์นักซิ่งบนท้องถนน นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งหน่วยงานภาครัฐเองไม่นิ่งนอนใจ เร่งดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจังในการกำกับดูแลเรื่องนี้ ถึงขั้นงัดงบประมาณก้อนโต จัดซื้อกล้องตรวจจับความเร็วมาใช้ หวังดำเนินการกับผู้กระทำผิด และจากข้อมูลพบว่า ประเทศไทย ใช้กล้องจับความเร็วมายาวนานแล้วกว่า 30 ปี และใช้ระบบ “ใบสั่งอัตโนมัติ” มาแล้ว 12 ปี....

แต่ทว่า... จากสถิติของสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง ตั้งแต่ปี 2556–2559 พบว่าสาเหตุหลักที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต มาจากการขับรถเร็วเกินกว่าที่อัตรากฎหมายกำหนด เฉลี่ยแล้วคิดเป็นประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของอุบัติเหตุทั้งหมด และตัวเลขดังกล่าวก็คงเส้นคงวามาโดยตลอด และที่สำคัญไปกว่านั้น พบว่าผู้ที่ถูกใบสั่งอัตโนมัติจากกล้องจับความเร็ว มาจ่ายค่าปรับเพียง 30% ของใบสั่งที่ส่งไปทั้งหมด!!

เกิดอะไรขึ้นกับระบบการตรวจสอบการกระทำผิดของสยามประเทศ ไฉนคนไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายจารจร? ชักดาบ...ไม่จ่ายค่าปรับแล้วอายัดการต่อทะเบียนได้หรือไม่? ภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำอะไรอยู่ งบประมาณที่ลงไปในส่วนต่างๆ ทำงานเต็มประสิทธิภาพแล้วหรือยัง แล้วเพราะอะไรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงทำงาน “ไม่เชื่อม” กัน วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะเดินหน้าขุดหาสาเหตุ พร้อมหาข้อสังเกตที่น่าสนใจ ว่า...

...

เหตุใดการทำงานของภาครัฐถึง "ไม่บูรณาการ" อย่างที่เขียนไว้โก้หรู

ไม่จ่ายค่าปรับจากกล้องจับความเร็ว ก็ต่อทะเบียนได้!

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมขนส่งทางบก เปิดเผยว่า หากจะทำการอายัดการต่อทะเบียนได้ ก็ต่อเมื่อมีเจ้าพนักงานส่งหนังสือมายังกรมขนส่งทางบกตามกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 141 ทวิ(3) ว่า กรณีที่ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถ ซึ่งได้รับใบสั่งไม่ปฏิบัติตามมาตรา 141 ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจดังต่อไปนี้


(1) ในกรณีที่ทราบที่อยู่เจ้าของรถ ให้พนักงานสอบสวนส่งหมายเรียกให้มารายงานตัว ตามวัน เวลา และ ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในหมายเรียก และให้พนักงานสอบสวนดำเนินการเปรียบเทียบ และว่ากล่าวตักเตือนผู้ได้รับหมายเรียกดังกล่าว


(2) ในกรณีที่ไม่สามารถส่งหมายเรียกได้ พนักงานสอบสวนทำหนังสือส่งไปยังนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนตร์ และตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก เพื่อให้นายทะเบียนแจ้งต่อเจ้าของรถให้ไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกก่อน และระงับการต่อทะเบียนชั่วคราว จนกว่าจะได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน

นอกจากนั้น การกระทำผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวกับรถ อย่างเช่น ไม่มีการทำประกันภัยรถ หรือขาดต่อภาษีเป็นระยะเวลาเกิน 3 ปี ตรงนี้ก็เป็นอำนาจหน้าที่ที่กรมขนส่งสามารถจะอายัดทะเบียนได้

อธิบดีกรมขนส่งทางบก ยอมรับว่า ประเด็นการหลบเลี่ยงค่าปรับจากใบสั่ง และให้อายัดทะเบียนรถรถยนต์นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการพูดถึงมานานแล้ว แต่ประเด็นคือ เราไม่สามารถเอากฎหมายคนละฉบับไปบังคับอีกฉบับนึงได้ เพราะกฎหมายของกรมทางบกจะดูในเรื่อง พ.ร.บ.รถยนต์ องค์กรขนส่ง เจ้าของรถมีหน้าที่ที่จะต้องไปเสียภาษีรถประจำปี ขณะที่ งานด้านจราจร เป็นของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียกจับ ปรับ ออกใบสั่งคนทำผิดกฎจราจร ต้องไปเสียค่าปรับที่สถานีตำรวจ หรือจะไปจ่ายที่ธนาคาร ตามที่ได้มีการอำนวยความสะดวก การเสียภาษีทะเบียนกับขนส่งจึงเป็นคนละกรณีกัน ไม่สามารถเอาเรื่องใบสั่งมาอายัดการต่อภาษีได้

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจาก กองบังคับการตำรวจทางหลวง บอกว่า การอายัดต่อทะเบียนกรณีที่ไม่มาชำระค่าปรับตามใบสั่ง ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเป็นการทับซ้อนทางด้านกฎหมาย เกี่ยวกับการที่ทุกคนที่มีรายได้มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ทั้งภาษีบุคล รวมไปถึงภาษีรถยนต์ การที่เราโดนใบสั่งแล้วไม่ไปชำระค่าปรับ จะมาโยงกับการอายัดต่อทะเบียนไม่ได้

...

“ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการบันทึกข้อมูลของผู้กระทำผิดลงในระบบ เนื่องจากกรมทางหลวงมีระบบจัดเก็บไม่เพียงพอ และลิงก์ข้อมูลก็ไม่ได้ส่งไปยังกรมขนส่งทางบกอีกด้วย จึงทำให้ที่ผ่านมาการออกใบสั่งเป็นเพียงการปรามว่าอย่ากระทำผิด แต่ไม่มีผลทางกฎหมาย และการต่อทะเบียนใดใด แต่ในต่างประเทศ เขาทำงานร่วมกัน เพราะถ้าไม่ไปชำระค่าปรับ ก็จะมีการลงโทษโดยการไม่ให้ต่อใบอนุญาตขับขี่ หรือต่อภาษีรถ แม้กระทั่งการยึดรถเลยก็มี แต่ในส่วนของไทยยังไม่มีการดำเนินการถึงขั้นนั้น”


ทุ่มซื้อกล้องหลายสิบล้าน เสียค่าส่งอีกปีละ 20 ล้าน แต่ได้คืนแค่ 30%

แหล่งข่าวตำรวจทางหลวงยังกล่าวถึงความแตกต่างว่า ใบสั่งจากกล้องจับความเร็ว จะถูกส่งไปถึงผู้กระทำผิดเพื่อเตือนว่า คุณกำลังกระทำผิดและฝ่าฝืนกฎจารจร จึงต้องถูกลงโทษด้วยการเสียค่าปรับ ส่วนหนังสือที่พนักงานสอบสวนจะจัดทำ และแจ้งไปยังกรมขนส่งทางบกเพื่อทำการอายัดการต่อทะเบียนรถ เนื้อหามีการระบุข้อมูลทุกอย่างคล้ายใบสั่ง คือ มีการระบุข้อมูลการกระทำผิดเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ในใบสั่งจะมีรูป แต่ในหนังสือไม่มีรูปการกระทำผิด และที่สำคัญคือ ใบสั่งไม่มีผลบังคับใช้กฎหมายที่สามารถอายัดทะเบียน...

นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากกองบังคับการตำรวจทางหลวง ได้เปิดเผยข้อมูลกับทีมข่าวฯ ว่า เราไม่ได้ติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วถาวร ในถนนสายหลัก ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศที่เขามี และจะมีการส่งข้อมูลเข้าสู่ศูนย์ข้อมูลทันที ซึ่งความจริงประเทศไทยก็ควรมีการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วแบบถาวรเพื่อจะสามารถตรวจจับได้ครอบคลุมกว่า แต่ปัญหาอยู่ที่เรื่องของงบประมาณ ก็เลยต้องใช้วิธีการวิเคราะห์สาเหตุอุบัติเหตุ เพื่อนำกล้องไปไว้ยังจุดดังกล่าว

...

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้กล้องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติบนถนนทางหลวง กว่า 85 จุดทั่วประเทศ โดยงบประมาณของการจัดซื้อกล้องแต่ละครั้ง แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ กล้องขนาดเล็กอยู่ที่ราคา 6 แสนบาท และ กล้องขนาดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาท การตั้งกล้องแต่ละจุด จะต้องเกิดจากการวิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งใช้ระบบสืบสวนสอบสวนสาเหตุทางอุบัติเหตุ และนำข้อมูลมาประกอบเพื่อพิจารณาในการตั้งกล้องแต่ละจุด เมื่อกล้องตรวจจับความเร็วจับภาพผู้กระทำผิดได้ ก็จะมีการส่งข้อมูลการกระทำผิดหรือ ใบสั่ง ส่งทางไปรษณีย์ไปยังที่อยู่ของผู้กระทำผิด มีผู้กระทำผิดในเรื่องการขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จำนวนประมาณ 1 ล้านคน ค่าใช้จ่ายในการจัดส่งจะอยู่ที่ขั้นต่ำใบละ 20 บาท

“สรุปแล้ว งบประมาณในการติดตั้งกล้องของตำรวจทางหลวงทั้งหมดขั้นต่ำ 51 ล้านบาท และค่าการจัดส่งใบสั่งไปให้ประชาชนประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี” แหล่งข่าว กล่าว 

ทั้งนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ลองคำนวนตัวเลขคร่าวๆ หากหักลบจากผู้ที่มาจ่ายเงิน 30% ออก จะพบว่าในแต่ละปีเราต้องเสียค่าจัดส่งไปฟรีๆ ให้กับคนที่ "ชักดาบ" ปีละ 14 ล้านบาท เมื่อมาคูณกับ 12 ปี ที่ดำเนินการมา จะได้ตัวเลข 168 ล้านบาท และมาบวกกับค่าติดตั้ง 51 ล้าน จะรวมเป็นเงิน 219 ล้านบาท 

...

ไร้ฐานข้อมูล ติดเรื่องงบประมาณ ตอนนี้เดินหน้ารื้อระบบใหม่ 

แหล่งข่าวคนเดิม จากกองบังคับการตำรวจทางหลวง ยังเปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจอีกว่า... ที่ผ่านมาไม่มีการบันทึกข้อมูลการกระทำผิดเพราะ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงทำให้ปีที่ผ่านมามีการออกใบสั่งทั้งหมด 1.7 ล้าบใบ แต่มีผู้มาชำระไม่ถึง 600,000 คน ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการจัดทำระบบจัดเก็บฐานข้อมูลผู้กระทำผิด โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 กันยายน 2559 ในเฟสที่ 1 โดยจะมีการเริ่มบันทึกข้อมูลการกระทำผิดจากกองบังคับการตำรวจจราจร และกองบังคับการตำรวจทางกลวง ลงไว้ในระบบ ซึ่งหลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน ตำรวจภูธรทั่วประเทศก็ต้องมากรอกข้อมูลลงระบบเช่นกัน เพื่อบันทึกข้อมูลการกระทำผิด และนำไปสู่การปรับแก้บทลงโทษ รวมทั้งหามาตรการแก้ไขปัญหาการฝ่าฝืนกฎจราจร

“ถ้ามาตรการหลายๆ อย่างเอามาผนวกกัน แม้กระทั่งข้อมูลการกระทำผิด จะต้องส่งข้อมูลไปยังกรมขนส่งทางบก เพื่อพิจารณาการต่อใบอนุญาต เวลาคนไปสอบใบอนุญาต กรมการขนส่งก็จะพิจารณาว่าจะต่อใบอนุญาตหรือไม่ ถ้ามีผลบังคับใช้เรื่อยๆ การเคารพกฎจราจรต้องดีขึ้นและลดอุบัติเหตุได้แน่นอน” แหล่งข่าวรายเดิม กล่าว

ข้อดีของกล้องจับความเร็ว แม่นยำชัดเจน แต่อายุความสั้น กำลังแก้ปัญหา 

ด้าน พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร ได้เปิดเผยข้อมูลในการจัดซื้อกล้องกับทีมข่าวฯ ว่า ในส่วนของกองบังคับการตำรวจจราจร กทม. มีกล้องฝ่าไฟแดงกว่า 30 จุด และกำลังมีการดำเนินการในการจัดซื้อกล้องตรวจจับความเร็ว ซึ่งได้งบประมาณกว่า 15 ล้านบาทในการจัดซื้อ แต่ขณะอยู่ในขั้นตอนของการกำหนดราคา

พ.ต.อ.เอกรักษ์ ยังกล่าวอีกว่า มาตรการการบีบบังคับกล้องดีกว่าคน เพราะกล้องไม่รับสินบน กล้องทำงาน 24 ชม. และกล้องมันมีหลักฐานไม่ต้องมานั่งโต้เถียงกันว่าผิดจริงหรือไม่จริง ปัญหาคือเรื่อง อายุความ ที่มีอายุความของคดีการฝ่าฝืนกฎจราจรแค่ 1 ปี ซึ่งล่าสุดกำลังปรับปรุงด้วยการขยายเวลาเพิ่มเป็น 3 ปี และต่อไปจะมีการถูกตัดคะแนน อาจจะมีบังคับให้ไปฝึกอบรม ไม่เช่นนั้นจะไม่ให้ต่อใบอนุญาตขับขี่ 60 วัน 90 วัน ก็แล้วแต่คะแนนความประพฤติ ถ้ายังมีการฝ่าฝืนกฎหมายอยู่โดยไม่หลาบจำก็อาจจะเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

“ส่วนค่าปรับนั้น ไปจ่ายก็ไม่จบ จ่ายเสร็จบันทึกประวัติ ถ้าทำบ่อยก็ถูกปรับแพงขึ้นเรื่อยๆ หักคะแนนแล้วต้องมาอบรม ถ้าไม่มาจ่ายค่าปรับก็ต่อใบอนุญาตขับขี่ และใบอนุญาตการใช้รถไม่ได้ หรือหนักสุดอาจเป็นการยึดใบอนุญาตขับขี่ จากนี้จะทำให้บทลงโทษหนักขึ้น จะให้แค่คนดีที่มีวินัยจราจรเท่านั้นที่มีโอกาสขับรถบนท้องถนน” พ.ต.อ.เอกรักษ์ กล่าว 


นักวิชาการย้ำ แก้ปัญหาอุบัติเหตุได้ ก็ต่อเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

ในขณะเดียวกัน เมื่อทีมข่าวได้สอบถามเรื่องนี้ไปยัง ผศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (TARC) ยังเผยมุมมองส่วนตัวว่า การใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นเรื่องสำคัญที่ควรเร่งแก้ไข ซึ่งทางแก้มีอยู่ด้วยกัน 3 ทางคือ การบังคับใช้กฎหมาย มาตรการด้านพันธุวิศวกรรม มาตรการด้านการให้ความรู้ และสิ่งที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้ดีและเห็นผลที่สุดคือ การบังคับใช้กฎหมาย

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการกำกับดูแลแก้ไขเรื่องนี้โดยการตั้งด่าน การใช้ตำรวจยิงเลเซอร์เพื่อตรวจจับความเร็ว ซึ่งวิธีการเหล่านี้ใช้คนจำนวนมาก และไม่เพียงพอต่อการควบคุมผู้กระทำผิด จึงมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งก็สามารถช่วยได้ดี สามารถบันทึกผู้กระทำผิดได้แม่นยำมากถึงปีละกว่า 1 ล้านคน แต่ปัญหาที่กล้องตรวจจับความเร็วใช้ไม่ได้ผลนั้น มันขึ้นอยู่กับกระบวนหลังจากนั้น คือ ประเทศไทย ไม่มีการบันทึกข้อมูลลงระบบ คนที่จับเป็นตำรวจ แต่คนที่ต่อทะเบียนเป็นกรมขนส่ง

“อย่างที่ ญี่ปุ่น คนที่ออกใบขับขี่และต่อทะเบียนรถเป็นคนเดียวกัน หน่วยงานเดียวกัน ดังนั้น ตำรวจออกใบสั่ง เขาเอาข้อมูลคีย์เข้าระบบได้ เขาก็จะรู้ว่าคนนี้มีความผิดอะไรมาแล้วกี่ครั้ง” 


ผศ.ดร.กัณวีร์ ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า แค่ใบขับขี่ในประเทศเรายังมีคนถือใบที่เป็นกระดาษสีชมพู ซึ่งใบขับขี่แบบนี้มันไม่สามารถเอาไปเช็กประวัติอะไรได้ ปัญหาหลักของประเทศควรไปแก้ไขที่ระบบการบันทึกข้อมูล และมาทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก่อนที่จะมีผู้เสียชีวิตไปมากกว่านี้

สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ ประเทศนี้จะมีการทำงานอะไรที่เชื่อมต่อกันอย่างบูรณาการอย่างประเทศอื่นๆ ทำบ้าง รถไฟฟ้าก็สร้างเว้นไว้ 1 สถานี การจ่ายเงินก็ดันใช้บัตรคนละแบบ, น้ำ ไฟ ประปา โทรศัพท์ ก็ผลัดกันมาขุดเจาะวางท่อ รื้อสายไฟจนพันอีรุงตุงนัง แล้วก็มาเรื่องใบสั่งกับกล้องจับความเร็วอีก... ถ้าเป็นไปได้ อยากจะฝากหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยร่วมกันวางแผนงานอย่าง "บูรณาการ" ให้สมกับคำว่า "บูรณาการ" ที่เขียนไว้ในแผนพัฒนาต่างๆ เสียที เพราะไม่อยากเห็นภาษีถูกผลาญจนปี้ป่นอย่างที่ผ่านๆ มา   

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

  • สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ 
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ