เคลียริ่งเฮาส์
คำใหม่สำหรับแวดวงการศึกษาไทย แต่ส่งผลกระทบในวงกว้างกับกลุ่มนักเรียน ครู อาจารย์ นักวิชาการ หลายแสนชีวิต โดยเฉพาะนักเรียนชั้น ม.5 ปีการศึกษา 2559 และมีเป้าหมายในชีวิตที่จะมุ่งศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย
และกลายเป็นประเด็นร้อนของสังคม ทันทีที่เลิกประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา และมติถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ ที่ประชุมที่มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ นั่งเป็นประธาน ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.), สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2559 ที่กระทรวงศึกษาธิการ
โดย ปีการศึกษา 2561 เป็นปีที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ ตั้งเป้าให้มหาวิทยาลัยทุกกลุ่มปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ภายใต้หลักการ คือ
1.เด็กไม่ต้องวิ่งรอกสอบ 2.ลดปัญหาค่าใช้จ่าย 3.ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ 4 .เด็กมีความสุขในการเรียนในห้องเรียน 5.มหาวิทยาลัย/คณะ ได้ผู้เรียนที่มีศักยภาพตามที่ต้องการ
โดยจะให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งรับนักศึกษาในระบบรับตรงร่วมกัน ใช้ข้อสอบกลางร่วมกัน ได้แก่ แบบวัดความถนัดทั่วไป หรือ GAT, แบบวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT และวิชาสามัญ 9 วิชา โดยนักเรียนนำคะแนนที่ได้ไปยื่นสมัครในคณะที่ต้องการ เมื่อนักเรียนยืนยันสิทธิก็นำรายชื่อมาเคลียริ่งเฮาส์ 2 รอบ ซึ่งคาดการณ์ว่ามหาวิทยาลัยจะสามารถรับนิสิตนักศึกษาไปแล้วกว่า 90%
...
นั่นหมายถึง ระบบการคัดเลือกแบบแอดมิชชั่นกลาง ก็ถูกยุบเลิกไปโดยปริยาย
“ทีมการศึกษา” ขอย้อนรอยเพื่อฉายภาพระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้
1.ระบบเอ็นทรานซ์ เป็นระบบการสอบคัดเลือกรวมของมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยนักเรียนสมัครและเลือกคณะที่ต้องการ จากนั้นจึงเข้าไปสอบวัดความรู้เพียงครั้งเดียว แล้วรอฟังผลสอบว่า เอ็นติด หรือ เอ็นไม่ติด เป็นการวัดผล แบบแพ้
คัดออก จุดเด่นของระบบนี้คือ ได้รับความเชื่อถือจากสังคมว่าเป็นระบบที่มีความยุติธรรม เท่าเทียม เพราะสอบครั้งเดียวเหมือนกันและพร้อมกันทุกคน ผลการตัดสินได้รับการยอมรับ มีเรื่องร้องเรียนน้อย
ส่วนจุดด้อยของระบบนี้คือ นักเรียนจะสนใจเรียนเฉพาะวิชาที่ใช้สอบเอ็น-ทรานซ์เท่านั้น ทั้งการเลือกคณะก็ทำโดยที่ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตนเองถนัดด้านใด ซึ่งพบปัญหาผู้เรียนสละสิทธิ์ หรือถูกรีไทร์ เพราะเรียนไม่ไหว อีกทั้งขณะที่ใช้ระบบเอ็นทรานซ์ก็เปิดโอกาสให้นักเรียนในระบบโรงเรียนสอบเทียบ หากผ่านและสอบเอ็นทรานซ์ติด ก็สามารถเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยตั้งแต่ชั้น ม.4 หรือ ม.5 ส่งผลให้บางสาขาวิชาได้ผู้เรียนที่ขาดวุฒิภาวะ ส่วนโรงเรียนดังบางแห่งเหลือนักเรียน ม.6 ไม่ครบชั้น ทำให้ชั้นเรียนเกิดปัญหา
2.ระบบแอดมิชชั่น ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ การนำผลการเรียนในระดับมัธยมปลายของเด็ก ได้แก่ คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต และคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย หรือจีแพกซ์ เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย รวมกับคะแนนสอบจากข้อสอบกลางที่วัดศักยภาพผู้เรียนร่วมกับข้อสอบวัดความรู้ทางวิชาการ เพื่อให้การเรียนระดับมัธยมเชื่อมโยงกับการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ระบบนี้มีจุดเด่นคือ เปิดโอกาสให้เด็กได้สอบ 2 ครั้ง และเด็กจะทราบคะแนนสอบก่อน แล้วจึงเลือกคณะที่เหมาะสมกับความสามารถหรือคะแนนสอบ และการใช้คะแนนโอเน็ตและจีแพกซ์ ก็เพื่อแก้ปัญหาเด็กทิ้งห้องเรียน
ส่วนจุดด้อยของระบบคือ เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณภาพของโรงเรียนที่ไม่เท่ากัน การปล่อยเกรด รวมไปถึงมาตรฐานของข้อสอบแต่ละครั้ง ซึ่งทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ นอกจากนี้ คณะต่างๆก็ยังระบุว่า ได้คนไม่ตรงตามที่ต้องการทำให้มหาวิทยาลัยหันไปเปิดรับตรงมากขึ้น
3.ระบบรับตรง เป็นระบบที่คณะ/มหาวิทยาลัยจัดกระบวนการสอบคัดเลือกด้วยตนเองทั้งหมด ตั้งแต่การกำหนดเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งคณะเชื่อว่าจะได้คนที่มีศักยภาพตามสาขาวิชาชีพนั้น ขั้นตอนการรับสมัคร ค่าสมัคร วัน เวลา สถานที่ และออกข้อสอบด้วยตนเอง จุดเด่นของระบบนี้คือ คณะได้คนตามเกณฑ์ที่กำหนด และระบบโควตารับตรงในแต่ละพื้นที่ก็เป็นการให้โอกาสเด็กนักเรียนในพื้นที่ได้เข้ามหาวิทยาลัยในภูมิภาคนั้นๆ
ส่วนจุดอ่อนของระบบคือ การเปิดรับตรงทำได้ตลอดทั้งปี ซึ่งบางแห่งเปิดรับตั้งแต่นักเรียนยังเรียน ม.5 เกิดปัญหาเด็กทิ้งห้องเรียน เด็กวิ่งรอกสอบตามเวลาที่แต่ละคณะกำหนด เสียค่าใช้จ่ายสูง สร้างความเหลื่อมล้ำเนื่องจากเด็กที่มีฐานะดีจะมีกำลังทรัพย์ที่สมัครสอบตรงได้หลายแห่ง มากกว่าเด็กที่มีฐานะยากจน
...
จากปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น และดูเหมือนว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถตอบโจทย์ หรือแก้ปัญหาระบบสอบคัดเลือกเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาได้ ส่งผลให้มีความพยายามที่จะหาระบบที่ดีที่สุดมาใช้ และทันทีที่เจ้ากระทรวงคุณครู ประกาศนโยบายและเป้าหมายที่ชัดเจนว่า จะจัดระเบียบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย โดยเริ่มปีการศึกษา 2561 ทปอ.ก็ได้เรียกประชุมด่วน เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ในวันที่ 1 ก.ย.2559 ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ระบบการสอบคัดเลือกตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 จะมี 3 ระบบ คือ 1.ระบบโควตา ที่ต้องไม่ใช่การสอบ เช่น โควตานักกีฬา เด็กโอลิมปิกวิชาการ ซึ่งรับได้ตลอดทั้งปี 2.ระบบเคลียริ่งเฮาส์ ซึ่งจะเปิดรับ 2 ครั้ง โดยใช้ข้อสอบกลาง แต่สอบเพียง 1 ครั้ง 3.ระบบรับตรง ที่มหาวิทยาลัยดำเนินการได้เอง เพื่อให้ได้เด็กครบตามแผนที่วางไว้ หลังจากระบบเคลียริ่งเฮาส์แล้ว ข้อดีของระบบใหม่ คือ แก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบ ลดค่าใช้จ่าย ทั้งเป็นระบบที่สนองทั้ง 2 ฝ่าย คือ เด็กต้องเลือกได้ และมหาวิทยาลัยก็เลือกได้ด้วย
ส่วนข้อด้อยที่นักวิชาการแสดงความห่วงใยคือ จะทำให้มหาวิทยาลัยรัฐดูดเด็กเก่งไปหมดส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยกลุ่มอื่นๆ ทั้งการรับตรงหลังเคลียริ่งเฮาส์แล้ว อาจเป็นข้ออ้างให้มหาวิทยาลัยรับตรงอีก ปัญหาเดิมๆจะวนกลับมาอีก
...
ทีมการศึกษา มองว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีระบบการคัดเลือกใดที่ดีสมบูรณ์แบบหรือแย่ที่สุด เพราะแต่ละระบบล้วนมีข้อดีข้อด้อย
แต่เราขอฝากความหวังกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มีอำนาจในการตัดสินเรื่องงานการศึกษาของชาติ ขอให้การปรับปรุงระบบการคัดเลือกครั้งนี้เรียนรู้จากบทเรียนในอดีตเพื่อนำข้อดีมาใช้อุดจุดบอดของแต่ละระบบ ทั้ง ความยุติธรรมเท่าเทียมเหมือนระบบเอ็นทรานซ์ มีผลการเรียนของเด็กเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยเหมือนระบบแอดมิชชั่น และ คณะก็ได้คนตามที่ต้องการเหมือนระบบรับตรง เพื่อให้สมประโยชน์ทุกฝ่าย และที่สำคัญคือ ทำให้การศึกษาเชื่อมโยงกันตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงอุดมศึกษา โดยรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยทุกกลุ่มควรมีข้อตกลงในการรับนักศึกษาที่ชัดเจน และทำตามข้อตกลงนั้น เพื่อแบ่งหน้าที่กันผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของประเทศ
เพราะอุดมศึกษา ขยับตัวแต่ละครั้งย่อมส่งแรงสั่นสะเทือนทั้งสังคมไทย จึงควรต้องคิดอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อเยาวชนและสังคมไทย สำคัญที่สุดเพื่อลบข้อกล่าวหาที่มีมาโดยตลอดว่า อุดมศึกษามักจะทำเพื่อตัวเอง
และนี่คืออีกหนึ่งโจทย์ข้อใหญ่ของเจ้ากระทรวงคุณครู พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ !!!
ทีมการศึกษา