ตอนที่แล้ว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ โดย "อาสาม ไทม์แมชชีน" ได้เปิดใจ เทพแห่งเกษตร "ดร.เกริก มีมุ่งกิจ" ประธานกรรมการบริหารธนาคารต้นไม้ระดับชาติ เล่าเรื่องราวชีวิตที่แฝงปรัชญามากมาย (เด็กโง่จบป.เอก ร้อยล้านเหลือ 2 พัน เปิดใจเทพเกษตร ดร.เกริก มีมุ่งกิจ) และวันนี้ก็ตามสัญญา เรามาฟัง ดร.เกริก พูดถึงแนวคิด "รวยความสุข มั่งคั่ง และยั่งยืนกันต่อ
ทำแบบผิดๆ ยากสำเร็จ เกษตรกรไทยติดกับดัก ทุนนิยม เอาเงินเป็นตัวตั้ง หาความสุขแทบไม่เจอ
ตอนที่แล้ว เราคุยกันถึงแผน 4 ระยะ ที่ได้วางไว้ในการยึดอาชีพเกษตรกรรม แต่ทำไม...อาชีพเกษตรกรจำนวนมาก กลับยิ่งทำยิ่งจน ดร.เกริก หันมอง อาสาม และ ทีมข่าวฯ ก่อนตอบว่า เกษตรกรถูกสอนกันมาแบบผิดๆ ถูกสอนให้กำจัดต้นไม้ออก เพื่อทำเกษตรเชิงเดียว หรือทำเกษตรแบบระบบทุนนิยมคือ ทำเกษตรเพื่อหวังผลผลิตจำนวนมากเพื่อนำไปจำหน่ายแล้วได้เงินมาก ที่เลียนแบบมาจากต่างประเทศ ดูได้จากการปลูกยางพารา เกษตรกรเขาก็เอาต้นไม้ออกหมด ซึ่งมันเป็นความคิดที่ผิด เพราะต้นยางพาราเป็นไม้เพศเมีย ที่ไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้ หากปล่อยให้อยู่ตามลำพังจะทำให้มีอายุสั้น เพราะแท้จริงแล้วต้นยางพารา มีจุดเริ่มต้นมาจากป่าอเมซอน ประเทศบราซิล ซึ่งมันเกิดอยู่กลางป่า แต่ประเทศเรานำมาปลูกแบบผิดๆ เอามาปลูกแบบเดี่ยวๆ แต่ก่อนภาคใต้ถูกเรียกว่า ป่ายาง เพราะมีต้นยางพาราและมีต้นไม้อื่นๆ อยู่ร่วมกันด้วย แต่ปัจจุบันถูกเรียกว่าสวนยาง เพราะมีแต่ต้นยางพารา ไม่มีต้นไม้ชนิดอื่นเลย คำว่าป่า มันจึงหายไป
...
ดร.เกริก กล่าวต่อว่า ในหลวงท่านยังทรงสอนว่า ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือไม่ให้ปลูกอย่างเดียว แต่ควรปลูกให้ได้หลากหลาย ดังนั้น การทำเกษตรก็ต้องหลากหลายเหมือนกัน มีต้นไม้ มีป่า มีนาข้าว มีผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ทำแบบนี้เพื่ออะไร ก็เพื่อให้เกิดความสมดุล ซึ่งการเรียนวนเกษตรมันสอดคล้องกับหลักคำสอนของในหลวง ว่า วนเกษตร คือ การทำเกษตรผสมผสานระหว่างต้นไม้กับพืชไร่ พืชสวน นาข้าว คือไม่ว่าคุณจะปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด คุณจะต้องปลูกต้นไม้ด้วย เพื่อทำให้สิ่งเหล่านี้อยู่ด้วยกัน ไม่แยกออกจากกัน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ทำให้ทุกสิ่งพึ่งพาอาศัยกัน
อาชีพเกษตรกร = จน ไม่มีเกียรติ จริงหรือ...กลับกัน อเมริกา ญี่ปุ่น กลับถือว่าเป็นคนร่ำรวย
“เดี๋ยวนี้คนไทยส่วนใหญ่เขาไม่ทำเกษตรกัน เพราะมองเกษตรเท่ากับจน เป็นอาชีพไม่มีเกียรติ แต่ความจริงมันไม่ใช่ สำหรับผมมองว่าเกษตรเท่ากับความมั่งคั่ง มั่งคั่งในที่นี่ไม่ได้แปลว่าร่ำรวยเงินทอง แต่แปลว่า ร่ำรวยความสมบูรณ์ ความพอมีพอกิน และความสุข การทำเกษตรถ้าไม่ทำเพื่อเงิน ไม่ทำเพื่อขาย ผมมองว่ายังไงก็อยู่รอด เพราะการทำไม่ขายคือ ทำใช้เอง ทำไว้กิน ถ้าเหลือจึงแจก”
แล้วจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ เหล่านี้อย่างไร ดร.เกริก กล่าวในประเด็นนี้ว่า การจะปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนได้ สื่อจะต้องเข้ามาช่วย เข้ามาส่งเสริมให้คนเห็นว่าการทำเกษตรมันดี มันสุดยอด เหมือนกับในญี่ปุ่นที่เขาทำกัน จนทำให้ ภาพลักษณ์เกษตรกรในประเทศเขาถูกมองว่า เป็นอาชีพที่ยั่งยืน และสร้างแรงบันดาลใจให้คนญี่ปุ่นหลายๆคนอยากทำอาชีพเกษตร เพราะเขารู้ว่าคนที่ทำเกษตรจะต้องรวย เช่นเดียวกับอเมริกา เขาก็ยังยกย่องอาชีพ เกษตรว่า อาชีพคนรวย ดังนั้นเราจะเห็นว่าเมืองเขาคนจนๆ จะอยู่ในเมือง อยู่ตามตึกห้องเล็กๆ หลายๆ ชั้น อยู่กันแบบแออัด ส่วนคนที่มีเงิน บ้านเขาจะอยู่ตามชานเมือง อยู่ตามเขาลำเนาไพร มีพื้นที่หลายร้อยไร่ และพื้นที่ บริเวณนั้นมีถนนตัดผ่าน ไฟฟ้าเข้าถึงเสมอ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย
“คนกลุ่มเดียวไม่สามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ได้ แต่ต้องร่วมกันทั้งประเทศ คนส่วนใหญ่ของประเทศยึดอาชีพเกษตรกรรม แต่เพราะอะไรอาชีพนี้กลับถูกละเลยที่จะให้ความสำคัญ แม้กระทั่งจะกรอกประวัติส่วนตัวให้กับหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ผมยังหาอาชีพเกษตรกรของผมไม่เจอเลย แต่อาชีพอื่น....บ้าหรือเปล่า แค่อาชีพเกษตรกรยังกรอกในประวัติไม่ได้ ต้องกรอกในช่องอาชีพอื่นๆ มันสะท้อนว่า พวกเขาไม่เห็นความสำคัญ ของอาชีพนี้เลย มันควรเป็นหน้าที่ภาครัฐหรือไม่ ที่จะต้องปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ โดยเฉพาะ รมว.เกษตรฯ และกรมส่งเสริมการเกษตร”
...
ความตั้งใจแรก อยากให้คนกลับบ้าน พัฒนาท้องถิ่น
ทีมข่าวฯถามถึงความตั้งใจต่อไปจากนี้ กับสังคมไทย คืออะไร ดร.เกริก กล่าวว่า อยากให้คนที่ทำงานอยู่ในเมืองกลับบ้านเกิดตัวเอง เพราะการที่คนไปทำงานแออัดอยู่ในเมืองหลวง อยากจะถามว่า เงินเดือนที่คุณได้ในแต่ละเดือนเพียงพอคุณใช่พอจริงๆ หรือ และการที่คนไปกระจุกตัวอยู่ในเมืองมันทำให้การพัฒนาไม่เกิดขึ้นในบ้านเกิดตัวเอง ซึ่งขณะนี้ผมมีโครงการคนกล้าคืนถิ่น ที่ผมร่วมทำกับ ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มคิดโครงการนี้ขึ้นมา โดยมีผมทำหน้าที่เป็นผู้วางหลักสูตร และมีเครือข่ายหลายเครือข่ายที่ช่วยกันต่อตั้ง โดยวางเป้าหมายไว้ว่า ภายใน 5 ปี จะต้องมีผู้เข้าร่วมโครงการให้ได้ 1 ล้านคน ขณะนี้โครงการคนกล้าคืนถิ่นได้ดำเนินการมาเข้าสู่ปีที่ 2 ล่าสุดมีผู้ร่วมแล้วกว่า 2 พันกว่าคน ซึ่งเป้าหมายที่ผมตั้งเป้า 1 ล้านคน ไม่ได้เยอะเลย เพราะว่าประเทศไทยมีเกษตรกรไทยมากกว่า 20 ล้านคน แต่ผมต้องการ 1 ใน 20 ล้านคนของเกษตรไทยเท่านั้น เพื่อเอามาเป็นตัวอย่าง และไปเปลี่ยนแปลง 19 ล้านคนที่เหลือให้ได้ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างชัดเจนในวงการเกษตรกรไทย
...
ความตั้งใจ 2 อยากเห็นไทยมีป่าเพิ่ม ตั้งใจผลักดัน ให้ต้นไม้เป็นทรัพย์
“ผมอยากเห็นประเทศไทยมีป่าเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่” ดร.เกริก กล่าวด้วยแววตาแห่งความมุ่งมั่น ตอนนี้ตนทำหน้าที่เป็นประธานกรรมบริหารธนาคารต้นไม้ระดับชาติ องค์กรนี้มีหน้าที่ หาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยปลูกต้นไม้ และส่งเสริมให้รัฐสร้างแรงจูงใจให้คนปลูกต้นไม้ โดยข้อเสนอที่เราพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นคือ ต้องการให้รัฐออกกฎหมายรับรองต้นไม้ที่คนไทยปลูกมีค่าเป็นทรัพย์ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปลูกต้นไม้มีอายุครบ 1 ปี ขอให้รัฐออกกฎหมายรับรองว่าต้นไม้ที่ผมปลูกมีมูลค่าต้นละ 100 บาท และเมื่อ ผ่านเวลาผ่านไปจะกี่ปีก็ตามขอให้มันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกๆ 100 บาทต่อปี โดยข้อเสนอนี้มีจุดประสงค์อย่างหนึ่งคือ ต้องให้คนรักษาที่ดินตนเองไว้ เพราะเวลาที่เราต้องการเงินเราสามารถเอาโฉนดต้นไม้ไปคำประกันแทน โฉนดที่ดินได้ ส่วนเป้าหมายของข้อเสนอนี้คือ ต้องกการให้คนมองต้นไม้เป็นทรัพย์ ที่ประชาชนสามารถสร้าง ทรัพย์ขึ้นได้เองโดยไม่ต้องไปพึ่งพาอาศัยใคร ไม่ต้องแบมือขอเงินจากรัฐ อย่างในช่วงภัยแล้งที่ผ่านมา นอกจากนี้ข้อมีอีกคือ ช่วยลดปัญหาลักลอบตัดต้นไม้ป่าด้วย
"ต่างประเทศ อย่างฟินแลนด์ เขาปลูกต้นไม้แล้วตัดขายจนรวย ขณะที่บ้านเราไม่ได้มองว่าต้นไม้เป็นทรัพย์ แบบนี้ใครจะปลูก อุตส่าห์ปลูกมา 20 ปีแล้วตัดขายไม่ได้ เพราะติดตรงข้อกฎหมายแบบนี้ใครจะปลูก"
...
ดร.เกริก ต่อกล่าวว่า กฎหมายตัวนี้ผมได้เสนอให้รัฐพิจารณาหลายครั้งแต่ถูกตีกลับมาตลอด เพราะรัฐอ้าง ว่าไม่มีเงิน แต่ความจริงแล้ววิธีการที่ผมเสนอไปนั้น รัฐไม่ต้องใช้เงินจ่ายเลย เพราะประชาชนเขาปลูกต้นไม้ กันเองในที่ที่ของตนเอง เขาลงทุนเอง ดูแลเอง เราเพียงแค่ของให้รัฐเข้ามารับรองว่าต้นไม้เป็นทรัพย์ โดยรับรองต้นไม้แค่ 1 พันต้นแรกเท่านั้น ซึ่งรัฐจะต้องการออกโฉนดต้นไม้ออกมาว่า สมมติ ผมนายเกริกมีต้นไม้ 1,000 ต้น ปลูกมาแล้ว 10 ปี มีราคา 1 ต้นละ 1,000 บาท ฉะนั้นตอนนี้ผมจะมีเงินในมือแล้ว 1 ล้านบาท นั่นแปลว่าผมจะเกษตรกรที่มีทรัพย์ 1 ล้านบาทเทียบเท่ากับพ่อค้าในตลาดที่เขามีเงิน 1 ล้านบาทเหมือนผม ซึ่งมันสามารถสะท้อนว่า ความเท่าเทียมได้เกิดขึ้น เท่าเทียมในเรื่องของหลักทรัพย์ เท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ทันที เป็นต้น แต่ถ้าผมปลูกต้นไม้แล้วไม่มีการรับรอง แล้วชาติไหนผมจะมี 1 ล้านเหมือนพ่อค้าในตลาด ผลที่ตามคือ ความเท่าเทียมจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นถ้า ต้นไม้ทำให้คนเท่าเทียมกันได้มันเป็นเรื่องที่ทุกคนควรส่งเสริมไม่ใช่หรือ?
"หลักคำสอนตามพระพุทธศาสนาได้สอนเรื่องมิจฉาชีพว่า มีคนรวย 1 คน แสดงว่ามีคนอีกหลายๆ คนจนลง ทำไมล่ะ? ก็เพราะว่าเขารวยมาจากการจนของคนอื่น นี้คือรวยแบบมิจฉาชีพ แต่ถ้าคิดตามหลักคำสอนสัมมาอาชีพ ที่เรามีคนอื่นมี ยกตัวอย่างเช่น ผมรณรงค์ให้คนอื่นปลูกต้นไม้ แล้วผมก็ปลูกด้วย คนอื่นก็ปลูกด้วย ดังนั้นเมื่อต้นไม้ผมโต มันไม่ได้ทำให้ต้นไม้คนอื่นเล็กลง" ประธานกรรมการบริหารธนาคารต้นไม้ระดับชาติ กล่าว
ส่วนตัวมองว่าที่กฎหมายนี้มันไม่ผ่าน ไม่ใช่ว่ามันขัดกับกฎหมายใดๆ หรือรัฐไม่มีเงิน แต่เป็นเพราะ เขามองว่าการปลูกต้นไม่ยังไม่ใช้เรื่องที่จำเป็น และเหตุที่เขาไม่เห็นด้วยอีกคือ 1. เขามีเจ้าหน้าที่รัฐปลูกป่ากันอยู่แล้ว 2.ถ้าประชาชนปลูกป่าแบบนี้กันเต็มประเทศ แล้วกรมป่าไหมจะอยู่อย่างไร ?
มองอีกมุม ดราม่าป่าน่าน ถามคนด่าเคยปลูกต้นไม้ไหม
เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ ดร.เกริก ก็พูดถึง กรณีดราม่าป่าน่าน ที่ถูกโจมตีอย่างหนักเมื่อหลายเดือนก่อนว่า ที่ผ่านมา มีการโจมตีอย่างหนัก ว่าป่าที่น่านกลายเป็นภูเขาหัวโล้น ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็หัวโล้นมานานแล้ว แต่เพราะชาวบ้านเขาเข้าไปทำกิน ก็เลยยังมองไม่เห็น อย่างไรก็ดี จ.น่าน ก็นับว่ายังมีป่ามากที่สุดในประเทศไทย ถึง 60% ทั้งที่บางจังหวัดไม่มีป่าไม้สักเปอร์เซ็นต์เดียว โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ไปโจมตีเขา
“วันที่เขาไปปลูกป่ากันที่ จ.น่าน ดาราคนดังไป ผมไปยืนอยู่ข้างๆ กลุ่มคนประมาณ 20 คนที่ไม่ได้ช่วยเขาปลูก ถามว่าไม่ไปช่วยหรือ...มีคนหนึ่งพูดด้วยน้ำตาคลอ บอกที่ที่คุณปลูกเป็นที่ที่ผมทำกินอยู่ เขาเคยทำกินตรงนั้น รัฐไปยึดคืนมา คนกรุงเทพฯก็เฮโล...ลงไปปลูก บางครอบครัวเขาทำกินตรงนั้นมา 100-200 ปี แล้ว แบบนี้ถามว่า “ทำดีหรือไม่ดี” ถามว่า “ไม้ตรงนั้นจะรอดหรือไม่..."
ตนไม่อยากโจมตีเรื่องนี้ ถามว่าทำไมคนในเมืองไม่ปลูกต้นไม้สักต้นก็ยังดี ปลูกแล้วให้มันเติบโต...เคยไหม แต่กลับไปเที่ยวว่าชาวบ้านเขาว่าตัดไม้ทำลายป่า อยากให้ลองปลูกสัก 1-2 ต้น แล้วจะรู้ว่าคนปลูกนั้นรักต้นไม้แค่ไหน เชื่อว่าคนที่ปลูกต้นไม้รักเหมือนกันหมด เพียงแต่คนไม่เข้าใจ ณ ตรงนี้ ตนปลูกต้นไม้ไว้ 20,000 ต้น แต่ผมก็ตัดออกมาแปรรูปบ้าง ซึ่งไม้ที่นำมาใช้ก็เป็นไม้อายุสั้น หากปล่อยไว้มันก็เป็นโพรงและแก่ตาย ดังนั้น จึงต้องตัดออกมาใช้งาน ตนรู้สึกขอบคุณทุกครั้งที่ตัด เพราะเขาให้ร่มเงาและประโยชน์กับต้นไม้อื่นๆ มากมาย แม้จะตายก็ยังเป็นประโยชน์ให้เราสร้างบ้านได้
ดร.เกริก กล่าวทิ้งท้ายกับทางทีมข่าวฯว่า อยากให้ภาครัฐสนใจภาคเกษตรและภาคการศึกษาว่า จริงๆ แล้วคนไทยศึกษาเล่าเรียนไปเพื่ออะไร ไม่ใช่ศึกษาเพื่อไปทำงานตามบริษัทอย่างเดียว ผมอยากเห็นคนไทยตั้งใจเล่าเรียนเพื่อกลับบ้าน กลับไปพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง และอยากให้รัฐเข้ามาสนใจภาคเกษตรให้เลิกทำเกษตรแบบทุนนิยมสักที เพราะผมไม่อยากให้คนไปโฟกัสที่การส่งออก เราจะส่งออกไปเพื่ออะไร เห็นเขาบอกว่าส่งออกจะรวย แต่ทำไม ชาวนากลับจนลงๆ การที่นำข้าวไทยไปขายนอก เชื่อไหม มีบางคนบอกว่า มันสูญค่า เพราะถึงแม้ชื่อเสียงไทยดังท้องฟ้า แต่ทำไมชาวนาไม่มีข้าวกิน ซึ่งผมอยากถามว่ามันมีประโยชน์ไหม ส่งออกดีแต่ชาวนาจน ดังนั้นสิ่งที่ผมพยายามผลักดันคือ ผมอยากเห็นเกษตรกลับมาเป็นแบบเดิม เพื่อสร้างวิถีชีวิตความมั่งคั่งของเกษตรเอง ให้กินดีอยู่ดี แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
1 ตัวอย่างคนกล้าคืนถิ่น หันหลังให้เมืองหลวง มุ่งมั่นกลับบ้านเกิด เพื่อพัฒนา
ในการเดินทางไกล ครั้งนี้ ทีมข่าวยังได้พบ 1 ในผู้ร่วมโครงการคนกล้าคืนถิ่น รุ่นที่ 2/3 คือ นายกานต์ จิรกมลสุทธิกุล อายุ 25 ปี ที่กำลังขะมักเขม้นฝึกงานกับ ดร.เกริก และเมื่อทีมข่าวฯเอ่ยถาม คำตอบแรกที่ได้คือ “ผมเบื่อกับการทำงานประจำ”
กานต์ เล่าว่า ตนเป็นคนจังหวัดตรัง มีพ่อทำงานเป็นผู้จัดการห้างที่จังหวัดภูเก็ต ส่วนแม่เป็นเจ้าของร้านอาหาร เรียนจบปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ เงินที่ผมใช้เรียน ผมกู้เงินจาก กยศ. รวมๆ แล้วตอนนี้มีหนี้อยู่ 2.7 แสนบาท
หลังจากเรียนจบ ทำงานเป็น QC เพชรพลอย หรือ ผู้ตรวจสภาพเพชรพลอย อยู่ที่สีลม ในกรุงเทพฯ มีรายได้เดือนละ 25,000 บาท ทำได้ปีเดียวก็ลาออก จากนั้นก็มาทำงานเซลส์ ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร มีเงินเดือนประมาณ 3 หมื่นกว่าบาท ช่วงที่ทำงานมีเงินเก็บ เงินบางส่วนก็ส่งให้ทางบ้าน แต่กลับรู้สึกไม่มีความสุข เหนื่อยกับการเดินทาง เหนื่อยกับงาน อยากใช้หนี้ กยศ.และมีธุรกิจของตัวเอง กระทั่งได้เห็น ดร.เกริก ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจผ่านรายการทีวี
“ผมใช้เวลาคิดทบทวนเรื่องนี้ด้วยตัวเองโดยไม่ปรึกษาใครอยู่ประมาณครึ่งปี ก่อนที่ผมจะตัดสินใจ ลาออกจากงาน เพื่อมาเข้าร่วมโครงการคนกล้าคืนถิ่น และเลือกมาฝึกงานที่ วนเกษตรเขาฉกรรจ์ การตัดสินใจ ครั้งนี้ทำให้พ่อแม่ผมรับไม่ได้ เพราะเขากลัวว่าสิ่งที่ผมทำจะทำให้ผมไม่มีเงินไปเลี้ยงเขา เนื่องจากเขามองว่า เกษตรไม่ยั่งยืน แต่ด้วยเส้นทางที่ผมเลือกแล้ว และต้นทุนที่ผมมีคือที่ดิน 1 ไร่ ผมจะทำมันอย่างตั้งใจต่อไป เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้ครอบครัวเห็นผมตั้งใจมาเรียนรู้อยู่ที่นี่ 5 เดือน ตอนนี้เข้าสู่เดือนที่ 2 แล้ว โดยส่วนตัวผมไม่มีพื้นฐานการทำเกษตรเลย แต่เมื่อได้เข้ามาที่นี้ ผมได้ลงมือทำทุกอย่าง ทำในสิ่งที่ผมไม่เคยทำ จนตอนนี้ผมเริ่มทำได้แล้ว”
กิจวัตรประจำวันคือ สามารถตื่นเวลาไหนก็ได้ แต่สิ่งที่ผมรับผิดชอบทำหลักๆ คือ ปลูกข้าว มีเวลาว่างจะไปเผาถ่าน ทำน้ำส้มควันไม้ ทำปุ๋ยจากใบไม้ ทำปุ๋ยอินทรีย์จากมูลค้างคาว ทำน้ำหมักจากผลไม้ต่างๆ ทำสิ่งเหล่านี้สลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละวัน ที่นี้ทำให้ผมได้ทั้งประสบการณ์ แถมยังมีรายได้อีกด้วย มีรายได้จากการทำงานพวกนี้แหละ โดย ดร.เกริกจะเป็นผู้ลงทุนให้ ส่วนกำไรที่ได้จากผลผลิต ดร.เกริก ท่านยกให้พวกผมเอาไปหารเฉลี่ยแบ่งกัน
“ที่นี้มันทำให้ความคิดเปลี่ยนมาก จากเดิมที่เคยคิดไว้ว่าจะมาเรียนรู้เพื่อนำกับไปทำธุรกิจส่วนตัว เพราะดูจากคลิปอาจารย์ที่อาจารย์สามารถทำเงินได้ 2 หมื่นบาทต่อวัน แต่มันไม่ใช่เลย ที่นี้ไม่ได้สอนเพื่อให้นำความรู้ไปทำธุรกิจ แต่สอนให้ทำในสิ่งที่ชอบ และเอาความสุขเป็นตัวตั้ง และใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเองโดยไม่พึ่งเงิน” นายกานต์กล่าว
ทั้งหมด คือเรื่องราว ที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ภูมิใจที่จะนำเสนอ ไม่ว่าจะอาชีพใด ล้วนมีบทบาทและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน บางอาชีพอาจจะได้เงินมาก บางอาชีพมีรายได้น้อย แต่ “ความสุข” ที่หาได้นั้นไม่สามารถประเมินเป็นเงินได้ แล้วท่านล่ะจะเลือก “รวย” หรือ “มั่งคั่ง”
- สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ