ศธ.ปรับระบบรับตรง แก้ปัญหาเด็กวิ่งรอกสอบหลายที่ ผุดไอเดียดึงมหาวิทยาลัยทุกแห่งรับตรงร่วมกันในระบบเคลียริงเฮาส์ ปีละ 2 ครั้ง เปรยหากได้ผล อาจไม่จำเป็นต้องมีแอดมิชชั่นกลาง...
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 59 รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมแก้ไขปัญหาระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ร่วมกับมหาวิทยาลัยที่เปิดรับนักศึกษาจำนวนมากทั้งรัฐและเอกชน และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า จะปรับระบบการรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน เพื่อลดปัญหาการวิ่งรอกสอบ ลดค่าใช้จ่าย และให้เด็กได้อยู่ในชั้นเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เบื้องต้น จะเป็นการเปิดรับสมัครนักศึกษาด้วยระบบรับตรงกลางร่วมกัน หรือเคลียริงเฮาส์ 2 ครั้ง จากเดิมเพียง 1 ครั้ง โดยเด็กสามารถนำคะแนนไปยื่นเลือกได้ 4 อันดับตามที่ต้องการ และส่งข้อมูลมาที่ส่วนกลางเพื่อเข้าสู่ระบบเคลียริงเฮาส์ ซึ่งหากระบบเคลียริงเฮาส์ 2 ครั้ง สามารถรับเด็กได้ประมาณ 90% เด็กที่เหลือก็อาจไปสมัครมหาวิทยาลัยที่มีที่นั่งว่างได้ และเชื่อว่าอนาคตอาจจะไม่ต้องมีระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ด้วยระบบกลางในการรับนิสิต นักศึกษา หรือแอดมิชชั่นก็ได้
รศ.นพ.กำจร กล่าวอีกว่า ระบบการรับสมัครนักศึกษาดังกล่าว จะดำเนินการเป็นห้วงเวลา เป็นลักษณะของมหกรรมการสอบที่จะเกิดขึ้นประมาณ 6 อาทิตย์ ถึง 2 เดือนเท่านั้น คาดว่าจะเริ่มในปีการศึกษา 2561 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้นักเรียนทราบล่วงหน้า 3 ปี เพราะไม่ใช่ระบบแอดมิชชั่น ทั้งนี้ ก่อนการเปิดรับสมัครนักศึกษา มหาวิทยาลัยจะต้องประกาศเกณฑ์การรับนักศึกษา กติกาต่างๆ จำนวนการรับนักศึกษาในแต่ละคณะ แต่ละสาขาล่วงหน้า เพื่อให้เด็กได้ประมาณตน และได้รู้ว่าจะเลือกคณะ มหาวิทยาลัยใด อีกทั้ง มหาวิทยาลัยจะไม่มีปัญหาการรับนักเรียนเกินจำนวน
...
ส่วนการสอบนั้นยังคงเป็นรูปแบบเดิม คือ มีการสอบวิชาสามัญ 9 วิชา, ความถนัดทั่วไป (GAT) หรือความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการอนุญาตให้มหาวิทยาลัยดำเนินการระบบรับตรงเอง ซึ่งหากมหาวิทยาลัยใดอยากเปิดรับตรงเอง ต้องมาชี้แจงเหตุผลต่อส่วนกลางว่าเพราะอะไร เนื่องจากการปรับเปลี่ยนระบบการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยต้องมองสังคมเป็นหลัก โดยเฉพาะผู้เรียน จะมองเป็นความต้องการของมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียวไม่ได้ หลังจากนี้ ทปอ.จะไปวางแนวทางระบบการรับนักศึกษาให้มีความชัดเจน และจะไปหารือร่วมกับกลุ่มที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ต่อไป