ผู้แทนสมาพันธ์ดิจิทัลไทย ยื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการฯ ร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ฯ เผย เห็นด้วยที่มีการแก้ไขไปส่วนใหญ่ เว้น มาตรา 20(4) ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ขอศาลบล็อกเว็บไซต์ได้ แม้เว็บไซต์นั้นไม่ได้กระทำการละเมิดกฎหมาย ชี้ กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีผลต่อการเติบโตของของเศรษฐกิจดิจิทัล ...
วันที่ 25 ส.ค. 59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้แทนสมาพันธ์ดิจิทัลไทย นำโดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาพันธ์ฯ พร้อมด้วย น.ส.กนกพร ประสิทธิ์ผล นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ นายกิตติรักษ์ ม่วงมิ่งสุข นายกสมาคมศึกษาและพัฒนาโอเพ่นซอร์ส และ นายศุภเสฎฐ์ ชูชัยศรี นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ร่วมกันยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และนายวิทยา ฉายสุวรรณ สนช.
ทั้งนี้ เนื้อหาของหนังสือดังกล่าว ระบุว่า สมาพันธ์ดิจิทัลไทย ขอสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ในทุกมาตรา เว้นแต่ มาตรา 20(4) ซึ่งมีรายละเอียดว่า "ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังต่อไปนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี อาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้...
...(4) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอื่น แต่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ตามที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี อาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้..."
...
สมาพันธ์ดิจิทัลไทย ได้พิจารณาร่วมกันแล้ว มีความเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าว มีหลักการที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ควรจะถูกจำกัดสิทธิเฉพาะในเรื่องที่ผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง การมีบทบัญญัติเช่นนี้ ย่อมกระทบกระเทือนต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ตลอดจนอาจมีผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบายของรัฐบาล
ด้าน พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวหลังจากได้รับหนังสือว่า ประเด็นที่ทางสมาพันธ์เสนอความคิดเห็นมานั้น คณะกรรมาธิการกำลังพิจารณาอยู่ โดยจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกๆ ฝ่ายให้รอบด้าน เพื่อให้เกิดความสมดุลกันระหว่างสิทธิเสรีภาพของประชาชนกับปัญหาด้านความมั่นคง ทั้งนี้ จะมีการนำความเห็นของทางสมาพันธ์ฯ เข้าพิจารณาในคณะกรรมาธิการด้วย
สำหรับ สมาพันธ์ดิจิทัลไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2559 โดยเป็นการรวมตัวของสมาคมและชมรมทางด้านดิจิทัลทั้งหมด 9 องค์กร ได้แก่ 1. สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ 2. สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย 3. สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย 4. สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) 5. สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย 6. สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ 7. สมาคมศึกษาและพัฒนาโอเพ่นซอร์ส 8. สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ 9. ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ