ภาพจากตู้เอทีเอ็ม ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต
‘ปัญญา มาเม่น’ ระบุชาวยุโรป 5 คนที่เข้ามาก่อเหตุปล่อยไวรัส แล้วกดเงินจากเอทีเอ็มธนาคารออมสินไป 12 ล้าน มี 5 คน พบเข้าออกไทย 5 ครั้ง ก่อเหตุไล่มาตั้งแต่ภูเก็ต สุราษฎร์ฯ ชุมพร จนถึง กทม. ตอนนี้ออกนอกประเทศไปแล้ว เผยภาพจากวงจรปิด...
วันที่ 24 ส.ค. มีรายงานความคืบหน้าการติดตามแก๊งคนร้ายก่อเหตุ แฮกข้อมูลจากตู้เอทีเอ็มธนาคารออมสิน โดยการปล่อยไวรัสมัลแวร์ และกดเงินไป 12 ล้านบาท จนทำให้ธนาคารออมสินปิดบริการตู้เอทีเอ็มทั่วประเทศกว่า 3 พันตู้ (คนร้ายส่ง 'มัลแวร์' แฮกตู้ ATM ออมสิน สูญเงิน 12 ล้าน ไม่กระทบเงินฝาก)
ล่าสุด พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น ที่ปรึกษาสัญญาบัตร 10 เผยว่า ตำรวจรู้ตัวคนร้ายที่ก่อเหตุแล้ว เป็นชาวยุโรปตะวันออก เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลได้มีจำนวน 5 คน ตำรวจมีชื่อและภาพถ่ายหมดแล้ว โดยมีพฤติการณ์โจรกรรมเงินในตู้เอทีเอ็มตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และกรุงเทพฯ รวมทั้งหมด 21 ตู้ ก่อเหตุตั้งแต่ช่วงวันที่ 7-30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แต่ธนาคารออมสินตรวจสอบพบเมื่อช่วงวันที่ 1-10 สิงหาคม ธนาคารออมสินจึงสั่งตรวจสอบตู้เอทีเอ็ม 200 ตู้ แต่ไม่พบการโจรกรรมเพิ่ม พร้อมกับนำเรื่องที่เกิดขึ้นร้องเรียนต่อพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จึงมีการสั่งการมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ตรวจสอบคดีที่เกิดขึ้น
พล.ต.อ.ปัญญา ระบุด้วยว่า ได้สั่งการให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตรวจสอบสวนกลาง และตำรวจภูธรภาค 8-7 และนครบาล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนร้ายก่อเหตุมาประชุมและตรวจสอบร่วมกัน พบว่า กลุ่มคนร้ายเดินทางเข้าออกประเทศไทยรวม 5 ครั้ง หลังก่อเหตุได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว
...

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังพบว่า เป็นกลุ่มคนร้ายกลุ่มเดียวกับที่เคยก่อเหตุในลักษณะนี้ที่ไต้หวัน เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และก่อเหตุในประเทศมาเลเซีย เมื่อปี 2557 ซึ่งตำรวจจะสืบสวนขยายผลว่า การก่อเหตุในประเทศไทยครั้งนี้มีคนไทยร่วมขบวนการด้วยหรือไม่ โดยจะเรียกประชุมติดตามความคืบหน้าของคดี ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเปิดเผยภาพผู้ต้องสงสัยเป็นคนร้าย ซึ่งมีลักษณะคล้ายชายชาวยุโรป เป็นภาพจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งไว้ที่ตู้เอทีเอ็มแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต ด้วย.
ส่วน พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และรองประธาน กสทช. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า หลังจากที่ได้เคยได้ออกมาเตือนสถาบันการเงินทุกแห่ง ให้มีความพร้อมจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ เพราะจากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดพบว่า อัตราการถูกโจมตีทั่วโลกมีความถี่สูงขึ้นอยาางน่าตกใจ ในส่วนที่มีการโจรกรรมโดยใช้โปรแกรมมัลแวร์เพื่อปล้นเงินจากตู้ ATM ของธนาคารออมสินเมื่อวานนี้ ไม่ถือว่าเป็นเหตุการณ์เหนือความคาดหมาย เพราะในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า ประเทศไทยมีเทคโนโลยีเพื่อให้บริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างแพร่หลาย แต่เรายังขาดหน่วยงานกลางที่จะตอบโต้สถานการณ์แบบทันท่วงที จนอาจทำให้แฮ็กเกอร์เห็นช่องว่างตรงจุดนี้เพื่อทำการโจมตีสถาบันการเงิน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปราะบางที่สุดและมีทรัพย์สินมาก อีกทั้งยังเข้าถึงได้ง่ายมาก
ประธาน กทค.กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนนั้น คงไม่สามารถใช้หน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั่วไปที่มีขีดความสามารถไม่ถึงทั้งด้านบุคคลากรและเครื่องมือด้านสารสนเทศในระดับธรรมดาได้ แต่เราต้องมีหน่วยงานเฉพาะด้าน ที่จะสามารถตอบโต้ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับชาติ เพราะภัยคุกคามทางไซเบอร์ของประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรง ไปจนถึงจุดที่เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของไทยในวงกว้าง"
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวด้วยว่า จากที่เคยให้ความเห็นหลายครั้ง ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการในการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และมีสำนักงานโดยมีเลขาธิการ เป็นผู้ดำเนินการบริหารงาน ที่สำคัญคือ ควรตั้งให้เร็วที่สุดก่อนที่จะเกิดปัญหาด้านการโจมตีไซเบอร์ที่รุนแรง โดยคณะกรรมการดังกล่าวควรให้นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงเป็นประธาน การที่ต้องเร่งดำเนินการเพราะหลังจากตั้งแล้ว จะต้องมีการดำเนินการด้านการบริหารจัดการซึ่งต้องใช้เวลา 1-2 ปี เป็นอย่างน้อย จึงจะสมบูรณ์คณะกรรมการยุทธศาสตร์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติดังกล่าว ควรเป็นการตั้งแบบ Top down โดยไม่ควรมอบหมายกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเป็นผู้ทำ เนื่องจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่นี้เป็นภัยคุกคามที่มีรูปแบบผสมที่ซับซ้อน ทั้งในมิติของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง จึงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจริงๆเท่านั้น.