หลังจากที่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ นำเสนอรายงานพิเศษ อุทาหรณ์เด็กหาย EP.1 บทเรียนกระเตื้องสังคม เจาะมูลเหตุไฉนยอดหายพุ่ง? ไปแล้วนั้น หากสรุปโดยคร่าวๆ พบว่า สังคมไทยทุกวันนี้มีเด็กหายมากถึง 50 รายต่อเดือน!!! โดยเด็กหาย 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นเด็กหนีออกจากบ้านโดยสมัครใจ และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ หายจากการถูกลักพาตัว กระบวนการค้ามนุษย์ หรือหายไปเพื่อสนองตัณหาพวกจิตผิดมนุษย์...

เมื่อทราบสาเหตุของปัญหาที่นำไปสู่ การหายออกจากบ้านแล้ว สิ่งที่ต้องปลุกให้สังคมกระเตื้องก็คือว่า อยากให้ทุกครั้งที่เห็น “ประกาศเด็กหาย” มองเป็นเครื่องเตือนใจ ให้ช่วยกันเฝ้าระแวดระวังโดยเฉพาะบุตรหลานของคุณเอง... และเพื่อให้ครบทุกมิติของปัญหาเด็กหาย วันนี้เราในฐานะสื่อ ขอรายงานอีกด้าน ในมุมมองที่ พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรรู้! ว่า ต้องระวังอะไรบ้าง? ในขณะที่ฟากของภาครัฐเอง ได้มีส่วนเข้ามาช่วยเหลือดูแล ขจัดล้างปัญหานี้จริงจังบ้างหรือไม่? และจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่ตัวเลขเด็กหายในสังคมไทยจะลดลงจนกลายเป็นศูนย์...? 

...

“เด็กหายซ้ำ” ปัญหาเดิมๆ ที่พ่อแม่เริ่มปล่อยปละละเลย..

จากรายงานพิเศษก่อนหน้านี้ได้นำเสนอถึง “ปัญหาเด็กหาย” โดยพบว่า มีเด็กหายจำนวนไม่น้อย มีประวัติเป็น “เด็กหายซ้ำ” จากการหายออกจากบ้านโดยความสมัครใจ ประเด็นนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจสำหรับหัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่... ที่เมื่อรู้ว่า “เดี๋ยวลูกก็ต้องกลับมา” ทำให้พ่อแม่หลายท่านเริ่มทำใจได้ จนกลายเป็นปล่อยปละละเลย ไม่คิดตามหาอีก...

นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา แสดงทรรศนะในประเด็นนี้ว่า เมื่อเด็กหนึ่งคน เกิดการหายซ้ำ พฤติกรรมของเด็กจะเริ่มกร้านโลกมากขึ้น เด็กจะรู้สึกไม่กลัวโลกมืดนอกบ้าน เนื่องจากการออกจากบ้านครั้งแรก เด็กจะมีความกังวลในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่จะมีความกังวลเรื่องเพศ ความปลอดภัยในชีวิตร่างกาย แต่เมื่อได้ผ่านประสบการณ์ในชีวิตข้างนอกมาแล้ว เขาไม่มีอะไรต้องกังวลแล้ว เพราะเขารู้สึกถึงความอิสระ และรู้ว่าสามารถเอาตัวรอดได้แล้ว ดังนั้น ทีมศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ตามหาเด็กที่หาย เราจะเลือกตามหาเด็กที่หายครั้งแรกก่อนกลุ่มเด็กที่หายซ้ำ


"เพราะฉะนั้น ก็ต้องย้อนถามไปยังพ่อแม่ผู้ปกครองว่า เมื่อเด็กหายและได้ลูกกลับคืนมา ท่านได้กลับไปแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาแล้วหรือยัง? เพราะเมื่อเด็กหายครั้งแรก แน่นอนว่าพ่อแม่จะกระตือรือร้นมาก ด้วยความเป็นห่วงลูก แต่เมื่อได้ลูกคืนมาแล้ว ส่วนใหญ่มักจะไม่เข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะหลายๆ เคส ได้พยายามแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกันในครอบครัว ทั้งพ่อแม่และเด็ก หรือในบางเคสต้องแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์เด็ก เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟู แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาก็คือว่า สังคมไทยยังมีทัศนคติในแง่ลบต่อการพบจิตแพทย์ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหา รวมถึงหลายเคสเป็นครอบครัวหาเช้ากินค่ำที่รู้สึกว่าเสียเวลา เพราะขาดรายได้ จึงทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาในครอบครัว และมีแนวโน้มที่เด็กจะหายซ้ำอีก" หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา กล่าว

เด็กหนีออกจากบ้านบ่อยๆ ซ้ำๆ โตขึ้นมาเสี่ยง เป็นเด็กมีปัญหาหรือไม่?

ด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวถึงสาเหตุที่เด็กตัดสินใจหายออกจากบ้านซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า เด็กที่มีพฤติกรรมลักษณะนี้บ่อยๆ นั่นหมายถึงว่า "เขาอยู่บ้านแล้วไม่มีความสุข" ซึ่งแม้เขาจะรู้ดีว่าการออกจากบ้านต้องเผชิญกับการใช้ชีวิตที่ทำให้ตัวเขาลำบาก ทำร้ายตัวเอง หรือรู้ว่าสิ่งที่เขาเลือกมันเสี่ยงก็ตาม แต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว เขารู้สึกว่าข้างนอกมีความสุขกว่าบ้าน อาจจะเป็นสุขทางใจ ทางเพศ หรือเงินทอง ฯลฯ

...

“ปัญหานี้ถือว่า เป็นความสุขจากภายในล้วนๆ เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไรที่ลูกชอบเก็บตัว เริ่มไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนในบ้าน เริ่มหาที่พึ่งอื่นๆ เช่น เพื่อน หรือคนในโลกออนไลน์ที่เพิ่งรู้จัก ติดเกม และเริ่มมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ฯลฯ หากมีสัญญาณเตือนลักษณะนี้
 สิ่งที่พ่อแม่จะทำได้คือ หมั่นเติมเต็มความสุขให้ลูก ดูแลเอาใจใส่เขาอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญต้องให้ตรงกับความต้องการของเขาอย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป เพราะบางครั้งสุขมากๆ อย่างลูกคนรวยก็หนีได้เหมือนกัน ดังนั้น พ่อแม่ต้องรู้ความต้องการของเด็กแต่ละช่วงวัย ก็จะช่วยให้เขาไม่คิดหนีออกจากบ้านได้... ” 


ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เด็กที่หนีออกจากบ้านซ้ำๆ มีโอกาสโตขึ้นมาเป็นเด็กมีปัญหาหรือไม่? พญ.มธุรดา ตอบในประเด็นนี้ว่า การที่เด็กหายไปครั้งแรก แล้วกลับมา น่าจะเป็นบทเรียนและสอนอะไรแก่พ่อแม่ในหลายๆ อย่างแล้วว่า ควรจะป้องกันอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก... แต่ถามว่า เด็กหายซ้ำเหล่านี้เสี่ยงโตมาเป็นเด็กมีปัญหาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ด้วยว่า ถ้าลูกกลับมาแล้ว พ่อแม่ให้โอกาส รับฟัง เด็กคนนี้ก็จะสามารถเติบโตขึ้นมาได้เหมือนกับเด็กทั่วๆ ไป แต่ถ้าครอบครัวซ้ำเติม เด็กคนนี้ก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นเด็กมีปัญหาได้

...

จิตแพทย์ชี้! เด็กหนีออกจากบ้านซ้ำ มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า คิดฆ่าตัวตาย


ทั้งนี้ ในทางสุขภาพจิตยังพบอีกว่า เด็กที่มีปัญหาเรื่องของการหนีออกจากบ้าน มีโอกาสที่จะโตมาเป็นโรคซึมเศร้าได้ค่อนข้างสูง เนื่องจากเด็กเหล่านี้จะรู้สึกว่าขาดที่พึ่งพิงทางใจ และต้องพึ่งพิงคนอื่น เพราะตัวเองไม่สามารถที่จะเติมเต็มความสุขให้กับตัวเองได้ อยู่คนเดียวไม่ได้ ไม่มีความสุขตลอดเวลา ทำให้เด็กเหล่านี้มักจะมีความรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว ดังนั้น เด็กเหล่านี้ค่อนข้างมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า คิดทำร้ายตัวเอง และมีโอกาสถึงขั้นคิดฆ่าตัวตายได้

ผู้สื่อข่าวยิงคำถามต่อไปว่า กรณีเด็กที่หนีออกจากบ้านเป็นระยะเวลานาน เมื่อกลับสู่ครอบครัว โอกาสที่เขาจะมีความสนิทใจต่อคุณพ่อคุณแม่หรือครอบครัว มีมากน้อยแค่ไหน? พญ.มธุรดา ตอบในประเด็นนี้ว่า ขึ้นอยู่กับพ่อแม่เด็ก เพราะแน่นอนว่า เมื่อเด็กกลับสู่ครอบครัว ความรู้สึกของเขาก็ยังมีความโกรธ น้อยใจ และรอยร้าวต่างๆ อยู่ ดังนั้น พ่อแม่ถือว่าเป็นทั้งต้นเหตุและทางเยียวยาสภาพจิตใจเด็กได้ ดังนี้ 1.การให้อภัย ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมาก และ 2.การเปิดใจรับฟังลูกว่าเขาต้องการอะไร วิธีง่ายๆ เหล่านี้ เป็นวิธีทีดีที่สุดที่จะสามารถส่งผลต่อดีสภาพจิตใจเด็กได้เป็นอย่างดี และช่วยทำให้เด็กกลับมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับครอบครัวได้ ซึ่งเชื่อว่า 1 ใน 3 ได้ผลดีเลยทีเดียว รวมถึงสามารถลดปัญหาการหนีออกจากบ้านได้ 

อย่าคิดว่าไม่มีเวลา ใส่ใจเขาสักนิด คุณก็สามารถยื้อชีวิตไม่ให้ลูกคิดออกจากบ้านได้!

...

อย่างไรก็ตาม "ปัญหาเด็กหาย" ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับครอบครัวหาเช้ากินค่ำ เพราะฉะนั้นพ่อแม่หรือปกครองเหล่านี้ต้องดูแลบุตรหลานอย่างไร ไม่ให้นำไปสู่ปัญหาเด็กหาย? ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า หลายครอบครัวมักจะอ้างว่า “ไม่มีเวลาดูแลลูก” ซึ่งต้องให้พ่อแม่ความเข้าใจใหม่ว่า การดูแลลูกให้ดีได้ ระยะเวลาไม่สำคัญไปกว่าความสม่ำเสมอและความไว้วางใจกัน เพราะเมื่อเด็กโตขึ้น แน่นอนว่าเขาอาจไม่ได้อยู่ในสายตาเราตลอดเวลา แต่เมื่อไรก็ตามที่ลูกต้องการ มีพ่อแม่คอยรับฟังและเป็นที่ปรึกษาให้เขาได้ จนเด็กรู้สึกสนิทใจที่จะพูดจะบอกถึงปัญหาและความผิดหวัง แค่นี้คุณก็สามารถยื้อลูก ไม่ให้ออกไปหาที่พึ่งทางใจที่อื่นและคนอื่นได้แน่นอน


“ดังนั้น ปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในครอบครัว จะมีผลต่อเด็กค่อนข้างมาก สิ่งสำคัญที่สุด สถาบันครอบครัวต้องมั่นคงและแข็งแรงมากในระดับหนึ่ง อับดับแรกคือ เรื่องของภาวะอารมณ์ของลูก พ่อแม่ต้องรู้ว่าอารมณ์ของเด็กจะเปลี่ยนไปตามช่วงวัย ฉะนั้น จะต้องสอนให้เขารู้จักอารมณ์ทั้งบวกและลบ และแสดงออกให้มีเหตุผล ก็จะทำให้เด็กค่อยๆ มีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก และการมีเหตุผลได้ ที่สำคัญพ่อแม่ก็ต้องเป็นแบบอย่างทางอารมณ์ ในการแสดงความรัก ความอบอุ่น ในด้านบวกที่เหมาะสมให้ลูกเห็นด้วย เพราะจะเห็นว่าถ้าพ่อแม่ครอบครัวไหนที่ใช้อารมณ์ต่อหน้าลูกบ่อยๆ เด็กคนนั้นก็จะมีโอกาสเติบโตมาเป็นคนที่มีภาวะอารมณ์ที่รุนแรงและใจร้อนได้” พญ.มธุรดา กล่าว

กรมกิจการเด็กและเยาวชนชี้! เน้นสร้างวินัยเชิงบวกแก่เด็ก ป้องกันลูกหนีออกจากบ้าน

ขณะที่ นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ยอมรับว่า ปัจจุบันมีเด็กหายจำนวนไม่น้อย จากหลายๆ สาเหตุ เช่น พลัดหลงจากพ่อแม่ เด็กหนีออกจากบ้าน และถูกล่อลวง ลักพาตัว เพื่อพาไปใช้แรงงาน ขอทาน หรือถูกกระทำรุนแรง ซึ่งปัจจุบันกรณีเด็กหายจากการถูกลักพาตัวคาดว่าน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากพ่อแม่ในปัจจุบันค่อนข้างตระหนักและมีการเรียนรู้ถึงปัญหาสังคมในเรื่องนี้มากขึ้น รวมถึงคุณครูในโรงเรียนก็ตระหนักและคอยเฝ้าระวังดูแลมากขึ้น 


นางนภา กล่าวต่อว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ปัญหาเด็กหายในสังคมไทย ส่วนใหญ่เป็นเด็กหายโดยความสมัครใจ หรือตัดสินใจหายออกจากบ้านเอง และหายจากการถูกล่อลวง ลักพาตัว ซึ่งมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ แต่ทั้งนี้ เราพบว่า สาเหตุหลักของปัญหาเด็กหายล้วนมาจากสถาบันครอบครัวที่ไม่มั่นคง มีปัญหา แตกแยก ดังนั้น มาตรการในการป้องกันปัญหาและแก้ไขในเรื่องนี้ ทางกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) จึงเน้นไปที่การป้องกันเป็นหลัก โดยเฉพาะครอบครัว เด็ก และชุมชน

อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวถึงมาตรการเชิงป้องกันคุ้มครองปัญหาเด็กหายว่า ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นได้ก็ต้องมีต้นตอและสาเหตุนั้นๆ จึงมองย้อนกลับไปถึงต้นตอปัญหาว่าทำไมเด็กถึงหนีออกจากบ้าน ทำไมเด็กถูกชักจูงได้ง่าย คำตอบที่เราได้กลับมาคือ ถ้าเด็กทุกคนมีวินัยในตัวเอง เด็กก็จะรู้จักหน้าที่ตัวเอง รู้จักคิดเป็นระบบ สามารถจัดกิจกรรมและหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเหมาะสม เพราะฉะนั้นเด็กก็จะสามารถจัดการปัญหาต่างๆ ได้ และปัญหาการหนีออกจากบ้านก็จะหมดไป

ทั้งนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) จึงมีมาตรการเชิงป้องกันและแก้ไขคุ้มครองปัญหาเด็กหายโดยพุ่งเป้าไปที่ท้องถิ่นและชุมชน โดยการเข้าไปสร้างกิจกรรม สร้างปฏิสัมพันธ์ และให้ความรู้ ระหว่างชุมชนกับครอบครัวและเด็ก มีการจัดสรรพื้นที่กิจกรรมให้กับเด็กและครอบครัว ได้มีการแสดงออกร่วมกันในชุมชน เพราะความใกล้ชิดและการทำกิจกรรมร่วมกัน จะทำให้เด็กและครอบครัวได้เกิดความสนิทใจและไม่ปิดบังกัน รวมถึงได้มีการอบรมให้คำแนะนำกับผู้ปกครองเกี่ยวกับการสังเกตบุตรหลานว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไปหรือไม่ และเปลี่ยนไปในแง่บวกหรือลบ โดยเฉพาะครอบครัวที่อยู่ในความเสี่ยง เช่น เด็กที่อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย 

รวมถึงจัดทำโครงการสร้างวินัยเชิงบวก ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ต้องลงพื้นที่ไปทำร่วมกับท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งทำมาประมาณ 3 ปี แล้ว โดยจะเน้นเฉพาะพื้นที่เสี่ยง ชุมชนที่มีเด็กอยู่จำนวนมาก โดยการเข้าไปเน้นให้ความรู้ จัดกิจกรรมสร้างวินัยเชิงบวก รวมถึงจัดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก มีจุดประสงค์เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีวินัยในตัวเอง รู้จักหน้าที่ตนเอง และรู้จักคิดเป็นระบบ เช่น ตื่นขึ้นมาต้องพับผ้าห่ม สวัสดีคุณพ่อคุณแม่ พูดจากไพเราะกับผู้ใหญ่ อ่อนน้อมถ่อมตน เข้าวัด ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันกับครอบครัว ฯลฯ เด็กเหล่านี้ก็จะไม่กลายเป็นเด็กมีปัญหา สามารถจัดการช่วยเหลือตัวเองได้ แม้เวลาที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน ดังนั้น โครงการสร้างวินัยเชิงบวกก็จะสามารถป้องกันปัญหาได้ทุกเรื่อง และเป็นผลดีต่อพฤติกรรมและคุณภาพของเด็กด้วย ซึ่งถือว่าได้ผลดีในระดับหนึ่ง เพราะตัวเลขสถิติเด็กหนีออกจากบ้านโดยสมัครใจถือว่าลดลง หากเทียบกับปี 2558

พ่อแม่ต้องรู้! ป้องกันลูกอย่างไร ไม่กลายเป็นเด็กมีปัญหา 'หนีออกจากบ้าน'

นอกจากนี้ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ยังฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยว่า "สิ่งสำคัญคือความใกล้ชิดที่มีต่อลูก มีเวลาเมื่อไร หมั่นทำกิจกรรมร่วมกันลูกอาจจะเป็นกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว อาทิ ดูทีวีด้วยกัน ทานข้าวด้วยกัน หมั่นถามไถ่ให้ความใส่ใจลูก บอกรักลูก และแสดงออกทางความรักต่อลูก เพราะความสนิทสนมซึ่งกันและกัน จะทำให้เขากล้าพูดคุยสารทุกข์สุกดิบของปัญหาต่างๆ ได้ นั่นก็จะช่วยป้องกันและแก้ปัญหาไม่ให้ลูกคิดหนีออกจากบ้านได้"

นอกจากปัญหาเชิงป้องกันแล้ว อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ยังกล่าวถึงมาตรการการแก้ปัญหาเด็กหาย โดยเฉพาะกรณีการถูกล่อลวง ลักพาตัวด้วยว่า ต้องฝากไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะถือว่าเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด ที่จะต้องเฝ้าระวัง หากลูกอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 3-6 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการถูกล่อลวง ชักจูงได้ง่าย พ่อแม่ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ควรปล่อยให้ลูกออกไปวิ่งเล่นไกลสายตาอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง เปลี่ยว หรือแม้แต่ผู้คนพลุกพล่านก็อาจทำให้เราไม่ทันระวังได้

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่แน่ใจแล้วว่าบุตรหลานหายไป ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการแจ้งความเด็กหายทันที โดยไม่ต้องรอ 24 ชม. เพราะหากแจ้งเร็วเท่าไร ก็จะยิ่งมีผลต่อการพบเด็กเร็วเท่านั้น รวมถึงสามารถแจ้งเข้ามาที่สายด่วน ศูนย์ประชาบดี 1300, มูลนิธิกระจกเงา 0-2973-2236-7 และบ้านพักเด็กและครอบครัวทุกจังหวัดทั่วประเทศ 

โดยปัจจุบันกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) มีทำงานร่วมกันกับมูลนิธิกระจกเงา ในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือเด็กในกรณีที่ยังหาผู้ปกครองไม่เจอ หรือเด็กที่ยังไม่พร้อมจะกลับบ้าน โดยการรับเข้ามาดูแลให้การช่วยเหลือคุ้มครองในบ้านพักเด็กและครอบครัว ซึ่งมีทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะมีนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาคอยดูแลให้ความช่วยเหลือและบำบัดฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจเด็ก แต่จะเป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะจุดประสงค์หลักของสถานที่แห่งนี้คือ การส่งเด็กกลับบ้าน แต่ในกรณีที่ยังหาครอบครัวเด็กไม่เจอ ก็ต้องส่งต่อไปยังสถานสงเคราะห์เด็กอ่อน เนื่องจากมีกระบวนการดูแลที่สมบูรณ์มากกว่า

นอกจากนี้ ในบางเคสที่เด็กไม่สามารถบอกได้ว่าพ่อแม่เป็นใคร เราก็จะต้องประสานไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ให้พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลหาย พลัดหลง และค้นหาครอบครัวต่อไป...

องค์กรเพื่อสังคม “ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา” 

ขณะเดียวกัน หัวหน้าทีมข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา อธิบายถึงกระบวนการตามหาข้อมูลคนหายอีกว่า ไม่ใช่ว่าเด็กหายทุกรายจะใช้วิธี “ประกาศหา” ได้ แต่ทางมูลนิธิฯ จะใช้วิธีนี้กับกรณีเด็กหายไปอย่างไร้ร่องรอย หรือสืบหาเบาะแสอื่นไม่เจอแล้วเท่านั้น ซึ่งจะมีป้ายประกาศ เพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยจะไม่ใช้กับกรณีเด็กหายโดยสมัครใจเด็ดขาด เพราะนอกจากมีแต่เพิ่มจำนวนป้ายเด็กหายให้เกลื่อนอินเทอร์เน็ต ให้คนที่ได้พบเห็นรู้สึกชินชาโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและสร้างความกดดันแก่เด็กเองด้วย

“เพราะฉะนั้น เคสที่เราเลือกประกาศ จะเป็นกรณีเด็กหายจากการพลัดหลง เด็กถูกลักพาตัว และมีแนวโน้มว่าคนร้ายจะพาเด็กไปตามที่สาธารณะต่างๆ หรือเดินอยู่ตามข้างถนน เพราะกรณีเหล่านี้จำเป็นต้องการเบาะแส เนื่องจากแนวโน้มของคนร้ายที่ลักพาตัวเด็กในประเทศไทย ส่วนใหญ่ไม่ใช่มืออาชีพ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ดังนั้น เด็กกับคนร้ายจะอยู่ในที่สาธารณะเป็นส่วนใหญ่” นายเอกลักษณ์ กล่าว

“หายจากสิ่งไหน ให้ตามหาจากสิ่งนั้น” ...

นายเอกลักษณ์ กล่าวว่า ตลอดการทำงานสายสืบสวนค้นหาเด็กหายมาตลอด 13 ปี ทีมข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา มีกระบวนการตามหาเด็กหาย โดยเริ่มตั้งแต่รับเรื่องแจ้งเด็กหาย สืบค้นหาข้อมูลอย่างเงียบๆ เจาะความเคลื่อนไหว หาหนทางติดต่อ กระทั่งไปสู่กระบวนการนำตัวกลับมาพูดคุยปรับความเข้าใจกับครอบครัวในที่สุด...

โดยมีคอนเซปต์ว่า “ถ้าหายจากสิ่งไหน ให้ตามหาจากสิ่งนั้น” เช่น ถ้าเด็กเล่นโทรศัพท์ ให้ตามหาจากโทรศัพท์ ถ้าเด็กติดเพื่อน ให้ตามหาจากเพื่อน และถ้าเด็กติดเกม ก็ต้องตามหาจากร้านเกม ฯลฯ ซึ่งเราพบว่าไม่ว่าจะเป็นเคสไหนก็ได้ผลเหมือนกันหมด แต่ความยากง่ายแต่ละเคสไม่เหมือนกัน ดังนั้น ในแต่ละเคสจะมีรูปแบบและกระบวนการของมันอยู่

"ดังนั้น สิ่งที่อยากจะฝากก็คือ ปัญหาเด็กหายเรื่องใกล้ตัวมาก พ่อแม่หลายท่านรู้เรื่องเด็กหาย แต่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดกับตัวเอง ฉะนั้น คนที่ไม่คิดว่าจะเกิดกับตัวเองนี่แหละ ที่เกิดความเลินเล่อหรือไม่ได้ระวังเท่าที่ควร เมื่อเกิดเหตุแล้วก็กลายเป็นเรื่องเศร้าสะเทือนใจที่ต้องติดอยู่ในใจไปตลอดชีวิต... "

"และอยากฝากบอกกับสังคมว่า ทุกครั้งที่เห็นภาพประกาศตามหาเด็กหาย อย่ามองเป็นเรื่องน่าเบื่อ และอย่าเพิ่งเบื่อที่จะช่วยกันแชร์เลยครับ เพราะแม้จะเป็นปัญหาเดิม แต่มันคือเด็กคนใหม่ที่รอการช่วยเหลืออยู่ ฉะนั้น เรื่องนี้มันเป็นปัญหาที่อยู่กับสังคม เป็นปัญหาสากลทั่วโลก ถ้าอยากให้มันหมดไป เราก็ต้องเริ่มจากการป้องกันบุตรหลานตัวเองให้ดีก่อน” หัวหน้าทีมข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา กล่าวทิ้งท้าย.

จะเป็นไปได้ไหม? ที่ปัญหาเด็กหายจะหมดไป กลายเป็นศูนย์!? ...

ผู้สื่อข่าวทิ้งท้ายคำถามกับอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนด้วยว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่ตัวเลขเด็กหายในสังคมไทยจะเป็นศูนย์ ...? นางนภา ตอบในประเด็นนี้สั้นๆ ว่า หากเด็กรู้จักปกป้องคุ้มครองตัวเองได้เป็นอันดับแรก และสังคมไทยสามารถสร้างครอบครัวที่เข้มแข็งได้เมื่อไร แน่นอนว่าทุกปัญหาในสังคมจะหมดไป.

ฉะนั้นแล้ว...ก่อนที่ตัวเลขเด็กหายจะมากไปกว่านี้ เราหวังว่ารายงานพิเศษชิ้นนี้จะเป็นเครื่องเตือนใจ ให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้โปรดดูแลใส่ใจ และช่วยกันระแวดระวังสักนิด ก่อนที่เด็กรายต่อไปจะกลายเป็นบุตรหลานของท่านเอง... 

  • สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ 

reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ