“คุณเคยเห็นหนูไหม?” ภาพประกาศตามหาเด็กหาย เรื่องสะเทือนใจซ้ำๆ ที่นับวันยิ่งมีให้เห็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีทีท่าว่าอัตราการหายจะลดลงจนเป็นศูนย์เสียที...
นับว่าเป็นอุทาหรณ์ซ้ำซากกระแทกกลางหัวใจคนเป็นพ่อเป็นแม่เสียเหลือเกิน ที่ไม่ว่าผ่านไปนานกี่ปีก็ยังไม่มีหน่วยงานใดมีประสิทธิภาพมากพอที่จะเข้ามาขจัดปัญหานี้ไปได้เลย... ฉะนั้น วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ไม่ได้นำเสนอเรื่องนี้เพื่อให้สังคมหวาดกลัวหรือตื่นตระหนก แต่หวังเพียงเล็กๆ ให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ตระหนักและรู้เท่าทัน เพราะสมัยนี้การล่อลวงช่วงชิงเด็กแยบยลขึ้น หากคุณไม่ทันระวัง แค่เสี้ยววินาทีคุณอาจคลาดลูกไปเลยก็ได้...
สถานการณ์เด็กหายในสังคมไทย อีกหนึ่งมิติที่ “ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา” อยากจะบอกกับสังคมว่า เป็นข้อมูลที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง จำเป็นต้องรับรู้ เพราะต้องบอกว่า ช่างเป็นตัวเลขที่น่าตกใจทีเดียว... ที่สังคมไทยทุกวันนี้มีเด็กหายออกจากบ้าน โดยเฉลี่ยมากถึง 50 รายต่อเดือน โดย 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นเด็กที่หนีออกจากบ้านโดยสมัครใจ และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นเด็กที่หายจากการถูกลักพาตัว กระบวนการค้ามนุษย์ หรือหายไปเพื่อสนองตัณหาพวกจิตผิดมนุษย์ จนกลายเป็นศพอย่างที่เคยมีให้เห็นมาแล้วหลายๆ คดี...
...
ทั้งนี้ หากย้อนดูสถิติเด็กหายในสังคมไทย ในปี 2558 พบว่า มีจำนวนเด็กหายออกจากบ้านทั้งสิ้น 592 ราย เป็นเด็กผู้ชาย 155 ราย และเด็กผู้หญิง 437 ราย และในปี 2559 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบัน พบว่า มีตัวเลขเด็กหายแล้วทั้งสิ้น 239 ราย เป็นเด็กผู้ชาย 112 ราย และเป็นเด็กผู้หญิง 181 ราย โดยข้อมูลที่น่าตกใจพบว่า กลุ่มเสี่ยงต่อเด็กหายจะเป็นเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชายถึง 3 เท่า
ย้ำอีกครั้ง! เด็กผู้หญิงหายมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า?
นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา กล่าวถึงสาเหตุที่เด็กผู้หญิงมีโอกาสหายมากกว่าเด็กผู้ชายถึง 3 เท่า เป็นเพราะว่า 1.ด้วยประชากรหญิงที่มากกว่าผู้ชาย 2.เด็กผู้หญิงถูกชักจูงได้ง่าย 3.การแสวงหาประโยชน์จากเด็กผู้หญิงง่ายกว่าเด็กผู้ชาย และ 4. เราพบว่าเด็กผู้หญิงเมื่อมีผลกระทบเรื่องความรุนแรงจะมีความอดทนหรือเอาตัวรอดได้น้อยกว่าผู้ชาย ทำให้นำไปสู่การหายโดยความสมัครใจได้ง่ายกว่า แต่ทั้งนี้ ต้องบอกว่าในหลายๆ ครั้งที่เด็กผู้ชายหาย แต่พ่อแม่ไม่แจ้งหายก็มีอยู่ เพราะมองว่าเป็นเด็กผู้ชาย สามารถเอาตัวรอดได้
“หลายครั้งที่เรามักจะเห็นภาพประกาศตามหาเด็กหายตามช่องทางต่างๆ ต้องบอกว่า ‘ปัญหาเด็กหาย’ ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้นั้น ไม่ได้หมายถึงว่า จะต้องเป็นเด็กที่ถูกล่อลวงหรือถูกลักพาตัวเพียงอย่างเดียว...” แต่...
เจาะมูลเหตุ สังคมไทย ทำไมยอดเด็กหายพุ่งพรวด?
นายเอกลักษณ์ กล่าวว่า สาเหตุและปัญหาที่นำไปสู่ปัญหาเด็กหายเกิดขึ้นในสังคมไทย จากประสบการณ์การทำงานบนเส้นทางสืบสวนสายนี้มาตลอด 13 ปี กับศูนย์ค้นหาคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เราพบว่า ปัญหาเด็กหายในสังคมปัจจุบัน 80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ที่เป็นเด็กหายจากบ้านโดยความสมัครใจ และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ เป็นเด็กหายจากการถูกล่อลวงและลักพาตัว โดยกระบวนการค้ามนุษย์ รวมถึงเพื่อสนองตัณหาพวกจิตผิดมนุษย์
อะไรนะ!? “เด็กหาย” 80% หนีออกจากบ้าน !!!!
เมื่อเห็นตัวเลขแล้วว่า สาเหตุการหายอันดับ 1 มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นเด็กหายจากบ้านโดยความสมัครใจ หรือหนีออกจากบ้าน หลายคนอาจจะตีตราเด็กหายเหล่านี้ว่า แก่แดด ใจแตก โตเกินไว หรือพูดกันภาษาบ้านๆ ว่า “เด็กคนนี้แรดจัง” หรือบางคนมองว่า สมควรปล่อยให้หายไป หลายร้อยหลายพันคำครหาจากกระแสสังคมที่กำลังจะตามมา หลังจากได้รับรู้ข้อมูลนี้ แต่เราในฐานะทีมศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา อยากให้หลายคนเปิดใจรับรู้เบื้องลึกเบื้องหลังความคิดของการหายโดยสมัครใจว่า มันอาจไม่ได้อัดแน่นไปด้วยความสนุกคึกคะนองไปเสียทั้งหมด แต่ทว่ายังมีด้านมืดอีกมากมายที่กระตุกต่อมฮอร์โมนให้พวกเขาตัดสินใจก้าวขาออกไป...
...
หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา กล่าวต่อว่า “เด็กหายจากบ้านโดยความสมัครใจ” หรือหนีออกจากบ้าน เราพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า กลุ่มเสี่ยงจะเป็นเด็กอายุระหว่าง 11-15 ปี และเป็นเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชายถึง 3 เท่า ฉะนั้น ถามว่า เหตุผลที่ทำให้เด็กเหล่านี้ ตัดสินใจที่จะออกจากบ้านคืออะไร? เมื่อได้มีการพูดคุยกับเด็ก เรามักจะพบว่า เหตุผลอันดับหนึ่งคือ เด็กรู้สึกว่า “ไม่อยากอยู่บ้าน” ถามว่าทำไม? เพราะครอบครัวไม่อบอุ่น มีความรุนแรงในครอบครัว พ่อแม่ทะเลาะกันเป็นประจำ พ่อแม่ไม่มีเวลา ไม่สนใจ พ่อแม่แยกทางกัน หรือแม้แต่บางกรณีมีพ่อเลี้ยงอยู่ในบ้าน ทำให้เด็กรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย จนนำไปสู่ความรู้สึกว่า “บ้านไม่น่าอยู่” อีกต่อไป...
“ฉะนั้น หากมองย้อนไปยังปัญหาที่แท้จริง น้อยคนนักที่จะรู้ถึงต้นตอของการกระทำนั้นๆ ว่า เด็กที่ตัดสินใจออกจากบ้าน พวกเขาถูกหล่อหลอมมาด้วยอะไร โตมาในครอบครัวแบบไหน หรือแม้แต่เด็กบางคนต้องเจออะไรมาบ้าง ก่อนที่จะทำให้เขารู้สึกว่า “บ้านไม่น่าอยู่” เพราะในหลายๆ ครั้งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กหาย เข้ามาแจ้งที่มูลนิธิกระจกเงา เมื่อเราสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก พ่อแม่บางราย ยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าลูกตัวเองอายุเท่าไร เรียนอยู่ระดับชั้นไหน หรือแม้แต่เกิดวันที่เท่าไร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่สนใจและไม่ใส่ใจลูกเอาเสียเลย หรือแม้แต่พ่อแม่บางเคสมานั่งทะเลาะกัน พูดจาหยาบคายใส่กัน เถียงกันในลักษณะที่รุนแรงต่อหน้าเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาด้วยซ้ำไป ทำให้เราเกิดคำถามขึ้นมาว่า “นี่ขนาดเราซึ่งเป็นคนนอก เรายังเครียดเลย แล้วเด็กที่ต้องเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ซ้ำๆ ทุกวัน เขาจะรู้สึกอย่างไร?...” นายเอกลักษณ์ กล่าว
...
หัวหน้าทีมค้นหาคนหายฯ กล่าวด้วยสีหน้าจริงจังด้วยว่า “ที่ผ่านมาในหลายๆ เคส ก็เป็นเด็กผู้หญิงที่ตัดสินใจหนีออกจากบ้าน สาเหตุมาจากพ่อแม่แยกทางกัน ทำให้เขาต้องอาศัยอยู่ในบ้านเช่าห้องแคบๆ กับแม่ กระทั่งมีพ่อเลี้ยงเข้ามาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน ไม่มีห้องนอนแยก ทำให้เขาต้องนอนรวมกันสามคน เด็กสาวต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยจากสายตาของพ่อเลี้ยง จนวันหนึ่งเขาตัดสินใจบอกเรื่องนี้กับแม่ แต่คุณรู้ไหม? สิ่งที่เด็กคนนี้เจอคือ...แม่ไม่ฟังเขา ไม่เชื่อเขา แถมพูดจาไม่ดีใส่เขา นี่คือสิ่งที่เด็กหายสะท้อนให้ทีมงานของเราฟัง ซึ่งเคสลักษณะนี้มีเยอะมากในสังคมไทย”
“เด็กหายออกจากบ้านโดยสมัครใจ” เด็กเหล่านี้หายไปไหน? ต้องเผชิญกับอะไรบ้าง?
ขณะเดียวกัน หลายๆ ครั้ง ที่เด็กหายออกจากบ้านด้วยความสมัครใจ ถามว่าเด็กเหล่านี้หายไปไหน? คำตอบก็คือ ไปหาที่พึ่งนอกบ้าน เช่น เพื่อน แฟน หรือคนที่เขาเพิ่งรู้จักผ่านโลกออนไลน์ หรือรู้จักผ่านเพื่อนแนะนำ ประเด็นก็คือ ปัจจุบันเด็กที่หนีออกจากบ้าน ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของการออกไปเร่ร่อนเพียงอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน แต่กลับมีความน่ากังวลกว่านั้นว่า เด็กหนึ่งคนที่หายจากบ้านไป ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้ชายหรือผู้หญิง มันมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย ซึ่งสิ่งที่น่าวิตกกังวลก็คือว่า เด็กเหล่านี้มีโอกาสและมีแนวโน้มที่จะไปมีเพศสัมพันธ์ค่อนข้างสูง จนนำไปสู่ปัญหาวัฏจักร 'ท้อง-แท้ง-ทิ้ง' ขึ้นมา คือตั้งครรภ์แล้วไม่อยากเอาเด็กไว้ก็ทำแท้ง หรือถ้าไม่ทำแท้ง เก็บเด็กไว้ ก็อาจทิ้งเด็กได้ในอนาคต รวมถึงปัญหาการก่ออาชญากรรมต่างๆ
นายเอกลักษณ์ กล่าวอีกว่า การที่เด็กคนหนึ่งก้าวออกจากบ้านไป แน่นอนว่าชีวิตทุกวินาทีของเด็กต้องอยู่บนความเสี่ยง เด็กส่วนใหญ่ที่ออกไปก็ต้องทำงานสีเทา เคยเจอเคสเด็กอายุเพียง 14 ปี ต้องไปทำงานกลางคืนเป็นโคโยตี้ เด็กเสิร์ฟ ต้องแต่งตัวโป๊ ต้องเต้นยั่วยวนเพื่อต้องการทิป ถามว่าเด็กรู้หรือไม่ว่า อาชีพที่เขาทำอยู่มันเสี่ยง? เด็กส่วนใหญ่รู้ แต่ได้เงิน เขาก็ทำ จนกระทั่งเมื่อเขารู้สึกว่าเริ่มเข้าสู่การล่อลวงไปขายบริการ เด็กจึงตัดสินใจโทรหาแม่และกลับมาอยู่บ้านในที่สุด เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า การออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน แน่นอนว่า เด็กต้องพบเจอแต่เรื่องร้ายๆ เด็กบางรายโชคร้ายถึงขั้นโดนทุบตี ทำร้ายร่างกาย หรือถ้าหน้าตาดีก็อาจจะถูกนำไปค้าประเวณี
...
เกิดอะไรขึ้น! ทำไมสังคมไทยเกิดเคส “เด็กหายซ้ำ” จำนวนไม่น้อย
นอกจากนี้ หัวหน้าทีมข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ยังเผยข้อมูลที่น่ากังวลใจอีกว่า เด็กคนหนึ่งที่ตัดสินใจก้าวออกจากบ้านไป แล้วกลับเข้ามาสู่อ้อมอกพ่อแม่ ก็ใช่ว่าเด็กจะไม่ตัดสินใจออกจากบ้านอีก เพราะในหลายๆ เคสที่ผ่านมาก็พบว่า เด็กมีโอกาสหายซ้ำอีก... ได้ยินดังนั้น ผู้สื่อข่าวตกใจเล็กน้อย ถามย้ำอีกครั้งว่า "เด็กหายซ้ำ!?" เพราะอะไรเด็กถึงตัดสินใจหายออกจากบ้านซ้ำ? นายเอกลักษณ์ เผยต่อว่า เนื่องจากเด็กเหล่านี้เมื่อกลับเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ เขาจะยังคงรู้สึกว่า โดนทำร้ายซ้ำๆ จนนำไปสู่วงจรเดิมคือ การตัดสินใจหาที่พึ่งทางใจนอกบ้าน และไปกับคนใหม่ เพราะฉะนั้นเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้หนีออกไปเพราะรักหรือชอบใครเป็นพิเศษ แต่เด็กมักจะหนีจากสภาพแวดล้อมที่เขารู้สึกว่าอยู่แล้วไม่มีความสุข ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยเจอเคสเด็กหายซ้ำอยู่จำนวนไม่น้อย บางรายถูกแจ้งหายมาแล้วถึง 4 ครั้ง
มาถึงตรงนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเมื่อเด็กสมัครใจออกไปเอง สุดท้ายก็กลับมาได้เอง เหตุใดจึงมองว่าเป็นกรณีที่ต้องกังวลใจ จนต้องหยิบยกมารวมกับเด็กหายรายอื่นๆ ที่ดูมีเงื่อนงำมากกว่า? นายเอกลักษณ์ อธิบายความเป็นไปได้จากโลกมืดนอกบ้าน หรืออย่างที่คนทำงานด้านสังคมเรียกกันว่า “ต้นไม้อาชญากรรม” ว่า เด็กบางคนออกไปแล้วถูกถ่ายภาพ ถ่ายคลิปวิดีโอเอาไว้แบล็กเมล์ ซึ่งอาจไม่ใช่แค่เรื่องเพศสัมพันธ์ แต่คือการคุกคามทางเพศที่อีกฝ่ายพร้อมที่จะเอาข้อมูลลับเหล่านี้มาเป็นเงื่อนไขในการกำหนดชีวิตของเด็กต่อไปว่า เด็กต้องเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ต้องทำตามที่ต้องการ การพาเด็กไปเรียกนั่งขอทาน เพื่อหวังประโยชน์จากตัวเด็ก บางรายถลำลึกจนเข้าสู่การใช้ยาเสพติด ใช้สารระเหย หรือขายบริการทางเพศ ฯลฯ
“ปัญหาครอบครัว” ปัจจัยหลัก นำไปสู่การตัดสินใจหายออกจากบ้าน
ขณะที่ พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เผยถึงปัญหาที่เด็กหายออกจากบ้านโดยสมัครใจด้วยว่า ปัจจุบันมีเด็กตัดสินใจออกจากบ้านมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจแทนพ่อแม่ผู้ปกครอง เนื่องจากสถานการณ์เด็กที่หนีออกจากบ้านนั้น มักจะเกิดขึ้นในกลุ่มเด็กผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมีแนวโน้มว่าจะมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงระหว่าง 6-18 ปี ซึ่งระยะเวลาที่หายออกจากบ้านก็จะขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก ยิ่งวัยที่โตขึ้น ระยะเวลาที่หายออกจากบ้านก็จะนานขึ้น
โดยเหตุผลหรือปัจจัยที่นำไปสู่การตัดสินใจก้าวออกจากบ้านนั้น ข้อมูลตรงกับมูลนิธิกระจกเงาคือ ด้วยสภาพครอบครัวมีปัญหา มีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัว พ่อแม่ทะเลาะกันเป็นประจำ ก็จะทำให้เด็กรู้สึกว่าอยู่บ้านแล้วไม่มีความสุข รวมไปถึงความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่า พ่อแม่ไม่สนใจ ไม่มีเวลาให้ ซึ่งปัจจัยนี้เป็นเรื่องของความรู้สึกทางอารมณ์ล้วนๆ ฉะนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจว่า เด็กวัยนี้เป็นวัยที่มีพัฒนาการทางด้านอารมณ์และเหตุผลที่ไม่โตเต็มที่ เมื่อไรที่มีปัญหาเข้ามากระทบความรู้สึก แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ล้วนส่งผลต่อสภาพจิตใจเด็กวัยนี้ค่อนข้างมาก จนกว่าเด็กจะเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย จึงจะมีพัฒนาการทางด้านอารมณ์และเหตุผลที่เหมาะสม
นอกจากสภาพปัญหาของครอบครัว จนนำไปสู่ความรู้สึกว่าบ้านไม่น่าอยู่แล้ว ปัจจัยเสริมที่จะช่วยกระตุ้นในการตัดสินใจก้าวออกจากบ้านได้ง่ายขึ้น ปัจจัยแรกคือ ด้วยอารมณ์น้อยใจของเด็กวัยนี้ที่มีมากอยู่แล้ว เด็กก็จะรู้สึกว่าอยากประชดประชันพ่อแม่ หรือเพื่อต้องการหลบหนีความทุกข์และเลือกไปหาความสุขนอกบ้านแทน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน แฟน หรือคนที่เขารู้สึกไว้ใจ ซึ่งที่ผ่านมาจะพบเคสเด็กหายลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง
“เพื่อน” กลไกกระตุ้นสำคัญ ชักจูง หนีออกจากบ้าน
ปัจจัยที่สองคือ เพื่อน ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลกับชีวิตเด็กวัยมัธยมตอนต้นค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นเพื่อนก็จะเข้ามามีบทบาทในการชักจูงได้ง่าย ซึ่งเราพบว่า แม้แต่เด็กที่ไม่ได้มีปัญหาครอบครัว หรือโตมาในครอบครัวที่อบอุ่นก็ตาม เด็กจะรู้สึกถึงความอิสระมากขึ้นกว่าช่วงวัยประถม อยากรู้อยากลองในสิ่งใหม่ๆ จนบางครั้งถูกชักชวนไปเที่ยวหากิจกรรมสนุกๆ ที่ทำให้เขารู้สึกลืมความทุกข์ โดยที่ไม่ได้คิดถึงความเป็นห่วงของพ่อแม่
และปัจจัยที่สาม โซเชียลมีเดีย เมื่อเด็กรู้สึกว่าอยู่บ้านแล้วไม่สบายใจ เขาก็จะหาที่พึ่งอื่นๆ โดยเฉพาะเพื่อนในโลกออนไลน์ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน และนำไปสู่การนัดเจอ กระทั่งหายไปอยู่ด้วยกัน กรณีนี้ก็จะพบเจอบ่อยในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 10-15 ปี
“เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า เมื่อมีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นครอบครัว แม้แต่เรื่องเล็กๆ ถ้าพ่อแม่ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ลูกได้ เด็กก็มักจะไปหาที่พึ่งนอกบ้าน โดยเฉพาะ ‘เพื่อน’ ที่จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เด็กตัดสินใจก้าวออกจากบ้านได้ง่ายขึ้น ซึ่งเคสลักษณะนี้จะเจอบ่อยมากในสังคมไทย” ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ระบุ
เด็กหายออกจากบ้านโดยสมัครใจ เขารู้หรือไม่ว่า กำลังเผชิญความเสี่ยง?
ผู้สื่อข่าวถาม พญ.มธุรดา ว่า เด็กที่ตัดสินใจออกจากบ้าน เขารู้ไหมว่า กำลังเผชิญอยู่กับความเสี่ยง? พญ.มธุรดา อธิบายในมุมมองด้านสุขภาพจิตว่า เรื่องการตัดสินใจของเด็ก และเหตุผลของการตัดสินใจของเด็กนั้น โดยธรรมชาติเด็กทุกคนจะมีความเชื่อและเชื่อถือคนอื่นมากกว่าพ่อแม่ หรือคนในครอบครัว มักจะเชื่อในสิ่งที่ตัวเองมีความสุข สนุก และอิสระ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กสมัยนี้ถึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านได้ง่าย แม้ว่าเขาจะรู้ว่า อาจจะเสี่ยง แต่เขาก็มีความสุข ฉะนั้น เด็กวัยนี้จึงกล้าที่จะเสี่ยง ถ้าแลกมาด้วยความสุข ความสนุก และความรู้สึกดี
“ดังนั้น เมื่อเด็กตัดสินใจก้าวขาออกจากบ้าน แม้จะเป็นเพียงแค่ต้องการประชดประชันพ่อแม่ หรือตั้งใจจะหายออกไปแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือว่า ด้วยอายุและประสบการณ์ในการใช้ชีวิตน้อย แน่นอนว่าปัญหาที่ตามมาก็คือ เด็กเหล่านี้จะเสี่ยงต่อการโดนล่อลวงจากคนแปลกหน้าได้ง่าย อันตรายเหล่านี้ก็ทำให้กลายเป็นปัญหา ‘เด็กหาย’ ไปเลย จากที่ไม่ได้ตั้งใจจะหายก็กลายเป็นปัญหาการถูกล่อลวงอื่นๆ ได้” ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าว
พ่อแม่ต้องตื่นตัว! “เด็กหาย” 20% หายจากการถูกล่อลวง ลักพาตัว
เมื่อพูดถึงสาเหตุเด็กหายโดยความสมัครใจไปแล้ว ต้องบอกว่า สิ่งที่น่ากังวลและเป็นอุทาหรณ์สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องคอยเฝ้าระแวดระวังมากๆ เลยก็คือ เด็กหายจากการถูกล่อลวงและลักพาตัว โดยกระบวนการค้ามนุษย์ รวมถึงเพื่อสนองตัณหาพวกจิตผิดมนุษย์
นายเอกลักษณ์ กล่าวถึงสาเหตุการหายอีก 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือว่า ปัจจุบันพบว่า มีเด็กหายจากการถูกลักพาตัวเฉลี่ย ปีละ 10-25 ราย และกลุ่มเด็กที่เสี่ยงต่อการถูกลักพาตัวมากที่สุดคือ 4 ขวบ เนื่องจากเป็นวัยที่ยังต่อสู้ดิ้นรนขัดขืนไม่ได้ ซึ่งการล่อลวงเพื่อลักพาตัวในปัจจุบันนี้ คนก่ออาชญากรมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการกระทำทางเพศกับเด็กและฆ่าปิดปากอำพรางคดี ฉะนั้น เคสเด็กถูกลักพาตัว หลังจากเด็กหายจะมีเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงที่เด็กจะรอดชีวิต
แต่ในบางรายมีการกระทำอย่างอื่นควบคู่ด้วย เช่น คนร้ายมีอาชีพเร่ร่อนขอทานอยู่แล้ว ก็จะล่อลวงเด็กไปเพื่อใช้เป็นวิธีเรียกความสงสาร ซึ่งคนร้ายที่ลักพาตัวเด็กในประเทศไทย ส่วนใหญ่ไม่ใช่มืออาชีพ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และใช้รถโดยสารสาธารณะ จะไม่ได้เป็นกลุ่มแก๊งกระบวนการเหมือนในละครที่เอารถตู้มาจอดแล้วเอาเด็กขึ้นรถ แต่จะหลอกเด็กเพียงคนเดียวต่อครั้ง ไม่ได้หวังผลร่ำรวย เด็กขอเงินมาได้ก็เอาไปดื่มเหล้าจนเงินหมด พูดง่ายๆ คือ เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีงานทำ ไม่มีอาชีพ ก็เอาเด็กมาเร่ร่อนหารายได้ เพื่อหวังผลประโยชน์ ดังนั้น เด็กกับคนร้ายจะใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะเป็นส่วนใหญ่
เคสตัวอย่างกระเตื้องสังคม ยากที่สุด โหดที่สุด และสะเทือนใจที่สุด!
ถ้าจะให้ยกตัวอย่างมาสักหนึ่งเคส... ยากที่สุด โหดที่สุด และสะเทือนใจมากที่สุด... ก็คงหนีไม่พ้นการหายตัวไปของเด็กทั้ง 3 รายในเวลาไล่เลี่ยกัน จากคดีที่ไม่มีใครสนใจ กลายมาเป็นคดีใหญ่ที่สังคมไม่มีวันลืม...
นายเอกลักษณ์ เล่าให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า หากให้พูดถึงเคสเด็กหายที่สะเทือนใจที่สุดอย่างไม่มีวันลืมนั้น ก็คงหนีไม่พ้นเคสนี้... เกิดขึ้นในปี 2556 เป็นเคสเด็กหาย 3 ราย มีอายุ 4 ขวบ 6 ขวบ และ 7 ขวบ ซึ่งหายคนละเดือน คนละพื้นที่ เราระดมกำลังทีมตามหามาเป็นระยะเวลานาน ปรากฏว่า เด็กทั้ง 3 คนนี้ ถูกกระทำทางเพศ และถูกฆาตกรรมกลายเป็นศพ 3 ศพ โดยฆาตกรคนเดียวกัน ซึ่งถือเป็นเคสแรกๆ ที่เด็กเสียชีวิตและน่าสะเทือนใจที่สุด...
“รู้หรือไม่...ว่า เมื่อเจอศพสิ่งที่รู้สึกประหลาดใจที่สุดคือ วันแถลงข่าวจับฆาตรกรมือฆ่าเด็ก 3 ศพ มีตำรวจที่มายืนอยู่ข้างหลังมากกว่าทีมที่มาช่วยระดมตามหาตอนเด็กหาย ประเด็นก็คือว่า ทำไมคนถึงมาให้ความสนใจกับเรื่องที่จบไปแล้ว แต่เด็กอีกหลายคนที่หายไปและยังหาไม่เจอ ทำไมไม่มีใครไปให้น้ำหนักกับตรงนั้นเลย ต้องรอจนกว่าเรื่องมันจบไปแล้ว เจอศพแล้ว เป็นงานง่ายแล้ว คนถึงจะมาให้ความสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องผมรู้สึกแย่มากถึงมากที่สุดในการทำงานสายนี้มาตลอด 13 ปี”
และอีกเคส เกิดขึ้นกับเด็กเขมร อายุ 7 ขวบ ลูกคนงานก่อสร้าง ทีมข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เราพยายามออกตามหาทุกวิธี ปรากฏว่าไม่เจอเด็ก ทำให้เราคาดการณ์แล้วว่าเด็กน่าจะถูกฆาตกรรรมอำพรางคดี จนกระทั่งวันที่เราจะตัดใจเลิกค้นหาแล้ว ขณะที่เดินอยู่ในป่า จู่ๆ ก็ไปหยุดอยู่ที่หนึ่ง ซึ่งมีแมลงวันตอม แต่ไม่มีกลิ่นเหม็น เราก็ลองค้นโพรงหญ้า ปรากฏว่าเจอศพเด็กนอนคว่ำอยู่ ซึ่งหลายๆ ครั้ง เคสเด็กถูกฆาตกรรมค่อนข้างเป็นเคสที่น่าสะเทือนใจและหดหู่มาก เมื่อเราค้นหาหลักฐานแล้วมีแนวโน้มว่าเด็กอาจไม่มีชีวิตอยู่แล้วนั้นเป็นเรื่องที่น่าใจหายมาก เพราะเราก็อยากจะตามหาเด็กที่กลับมาเป็นคน มีชีวิต มีลมหายใจ ไม่ใช่กระดูก
"เพราะฉะนั้น จากเคสเด็กหายเหล่านี้ เป็นอุทาหรณ์ทำให้เห็นได้ชัดเลยว่า การแชร์ข้อมูลเด็กหายให้ขยายในวงกว้างออกไปนั้นสำคัญมากแค่ไหน เพราะหลังจากเคสสะเทือนขวัญในครั้งนี้ ก็ช่วยปลุกสังคมให้กระเตื้องในเรื่องนี้ได้มากเลยทีเดียว และถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้ความรู้สึกเหล่านี้หายไป เราหวังเพียงเล็กๆ ว่า อยากให้ทุกครั้งที่เห็น “ประกาศเด็กหาย” มองเป็นเครื่องเตือนใจ ให้ระมัดระวัง และได้โปรดช่วยกันส่งต่อข้อมูล วอนสังคมอย่ามองเป็นเรื่องน่าเบื่อ นั่นเท่ากับคุณได้ละเลยหนึ่งชีวิตนั้นไป" หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา กล่าวทิ้งท้าย.
และในวันพรุ่งนี้ จะเป็นเรื่องของแนวทางการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง... และหากไม่อยากให้เรื่องทรมานใจนี้เกิดขึ้นกับคุณ ต้องดูแลบุตรหลานอย่างไร ไม่ให้โดนช่วงชิงไปจากอก ติดตามได้ในรายงานพิเศษชิ้นต่อไป...
- สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ