ข้อมูลพื้นฐาน กาแฟขี้ชะมด ผลิตด้วยวิธีธรรมชาติ เรียกกันว่า ออร์แกนิก มีในทวีปเอเชีย 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ว่ากันว่าเป็นกาแฟที่แพงอันดับหนึ่ง ของโลก
ผู้ถ่ายทอดข้อมูลนี้ ชินวัตร มนตรีประสาท อายุ 55 ปี เจ้าของฟาร์มชะมด ผลิตกาแฟขี้ชะมดหรือกาแฟโกปิลูวัก (Kopi luwak) ยี่ห้อ Goat ปัจจุบันอยู่เลขที่ 182 หมู่ 7 ตำบลนาขา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
30 ปีที่แล้ว ชินวัตรเป็นเซลขายกาแฟบริษัทใหญ่ วิ่งไปทั่วประเทศ มาเจอบุญสี แฟนที่หลังสวน ชุมพร ครอบครัวแฟนปลูกกาแฟอยู่ที่พะโต๊ะ ถูกกดราคา จึงแนะนำให้แปรรูปกาแฟทำเป็นกาแฟสด
“ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่ค่อยรู้จักกาแฟสด ร้านกาแฟก็น้อย พอทำไป มีบริษัทใหญ่มาจ้างให้ผลิตกาแฟขวดส่งขาย ทำไปได้สักพักก็โดนกดราคา ก็เลิกรากันไป”
ต่อมาเจอชะมด ทางใต้เรียกว่ามูสัง
“วันนั้นผมไปกินข้าวกับกำนัน กับนายก อบต. เขาจะสั่งผัดเผ็ด มูสัง ก็ตกใจ ผมคนกรุงเทพฯไม่กิน ให้เงินไป 3 พันบาท ซื้อมูสังกลับมาเลี้ยงที่บ้าน 6 ตัว ตอนนั้นยังไม่รู้ว่ามูสังคือชะมด”
...
บุญสีเข้าใจว่ามูสังกินไก่กินปลา ก็ไปซื้อปลาโอมาให้กิน วันแรกมูสังตายไป 1 ตัว ถามเพื่อนที่เป็นสัตวแพทย์ อธิบาย ชะมดในเอเชียมี 11
สปีชีส์ กินพืช 3 กินเนื้อ 8 พันธุ์กินเนื้อจะเป็นมูสังหางปล้อง หางเหลืองดำ ทำชะมดเช็ด เอาไขทำยาแผนโบราณ ทำหัวน้ำหอม ราคาจะแพง กินปลากินไก่
ส่วนมูสังที่ได้มาเป็นมูสังหอม พันธุ์กินพืช
เพื่อนคนนี้เองที่บอกว่า นี่แหละคือชะมดที่ตามหา เอามาทำกาแฟ
ชินวัตรเริ่มทดลอง ให้บุญสีไปเก็บกาแฟมาให้ชะมดกิน ชะมดขี้ออกมาก็ถ่ายรูป ส่งอีเมลให้เพื่อนดู
กาแฟขี้ชะมด ไม่ใช่ของใหม่ มีมากว่า 320 ปี ต้นกำเนิดอยู่ที่อินโดนีเซีย เมืองขึ้นของชาวดัตช์หรือฮอลแลนด์ คนพวกนี้มีบริษัทค้ากาแฟ เอาสายพันธุ์โรบัสต้าจากประเทศจาเมกา บนเทือกเขาบลูเมาท์เทน แนวเดียวกับอินโดนีเซียและไทย ชาวดัตช์ให้คนอินโดฯปลูกกาแฟ
แต่ไม่ให้กิน ปลูกได้เท่าไหร่ก็เก็บกลับประเทศ
ชาวอินโดฯอยากกินกาแฟ ก็ไปเก็บขี้ชะมดมาล้างมาคั่ว ชาวดัตช์เห็นเข้าหาว่าขโมยกาแฟกิน
ชาวอินโดฯบอกว่า ไม่ใช่กาแฟแต่เป็นขี้ชะมด ชาวดัตช์บอกลองทำให้กิน ปรากฏว่ารสชาติไม่เปรี้ยว ไม่ฝาด ให้ความรู้สึกที่ฝรั่งว่า สมูท สตรอง สวีต คือนุ่ม เข้ม หลังดื่มกลิ่นอยู่ที่ลำคอ ชุ่มๆหอมๆ
ชินวัตรเริ่มมั่นใจ กาแฟขี้ชะมดจะทำรายได้ดี เพาะพันธุ์มาเรื่อยๆ เก็บไว้เต็มบ้าน แต่ขายไม่ได้ เหตุที่ขายไม่ได้ เพราะราคาแพงไป
ตอนนั้นมีปัญหาให้ชินวัตรคิดมาก ไหนจะมีค่าอาหาร ชะมดกินสองมื้อเช้าเย็น มื้อละ 25 บาท วันละ 50 บาท ไหนจะค่าแรง ค่าน้ำค่าไฟ มีคนมาซื้อกดราคาเหลือกิโลละสองสามพัน ก็ตัดใจขาย
“ปี 2555-2556 เกือบล้มละลาย ขายกาแฟไม่ได้ เอาที่ดินไปกู้แบงก์มา 3,800,000 บาท” ชินวัตรว่า
...
โชคดีรู้จักกับเจ้าของสวนนายดำ ช่วยเอาไปทำขายในร้าน ตั้งราคาให้ เอสเปรสโซ ช็อตหนึ่ง 7 กรัม ขาย 1,500 บาท เดือนหนึ่งได้กว่า 100 แก้ว ต่อมาลดลงอีกเหลือแก้วละ 499 ราคานี้ก็ยังขายได้เดือนละพันกว่าแก้ว
ราคานี้ สวนนายดำแนะว่าถ้าอยากให้คนกินมากขึ้น ให้ลดเหลือแก้วละ 199 บาท ชินวัตรเห็นด้วย
วันปีใหม่ ปี 2557 ปรากฏว่าขายได้ดีขึ้นจำนวนมาก พอประคองตัว ได้เงินมาค่อยๆปลดหนี้
กาแฟขี้ชะมด พันธุ์โรบัสต้า ของชินวัตร เป็นเจ้าเดียวในภาคใต้ กาแฟขี้ชะมดแท้ๆกินง่าย
“ถ้าเปรี้ยว ฝาด แสดงว่าไม่ใช่กาแฟขี้ชะมดของจริง” ชินวัตรว่า
ขายกาแฟขี้ชะมดได้มากขึ้น กระบวนการผลิตก็เพิ่มขึ้น วันนี้ชินวัตรต้องเลี้ยงชะมดไว้กว่า 60 ตัว
งานเลี้ยงชะมดเป็นงานใหญ่ มื้อเช้าให้กินกล้วยสุก สลับด้วยไข่ต้มและข้าวหอมมะลิ มื้อเย็นถ้าเป็นหน้ากาแฟ ช่วงเดือนสิบถึงสิบสอง จะเก็บกาแฟเชอรี่ลูกแดงๆ มาให้กินเต็มที่ กาแฟเชอรี่จะช่วยขยายกระเพาะชะมดให้ใหญ่ นี่เป็นวิธีเลี้ยงแบบไทย
ที่อินโดนีเซียและเวียดนาม ใช้วิธีตรงข้าม ปล่อยให้ชะมดโหย กระเพาะก็จะลีบ กินได้น้อย ลำไส้อักเสบ ถ่ายออกมาจะได้กาแฟแท่งสั้น
การเลี้ยงแบบไทย เช้า...ชะมดจะถ่ายออกมาเป็นแท่งยาวใหญ่ เก็บมาแยกตากแดด 9 วันจนแห้ง เอามาบ่มไว้ในถังอีก 9 เดือน ยิ่งบ่มนานราคาจะยิ่งแพง
ปัจจุบันกาแฟขี้ชะมดกิโลละ 20,000 บาท ชะมดหนึ่งตัว ให้กาแฟห้ากิโลกรัมต่อปี
...
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยในแคนาดา เอนไซม์หรือน้ำย่อยของชะมดจะไปตีโปรตีนโมเลกุลของคาเฟอีน ให้แขนสั้นลง เป็นโมเลกุลเล็กเหมือนนาโนเทคโนโลยี ทำให้การดูดซึมได้ไว ออกฤทธิ์ได้เต็มที่ แต่ก็มีอาการข้างเคียงคือขับปัสสาวะ เวลากินกาแฟจะปวดฉี่บ่อย
โมเลกุลคาเฟอีน มีอยู่ 3 ตัว คือ ธีโอโปรมีน ทำให้ตาสว่าง ขยายหลอดลม ทำให้กระฉับกระเฉง นอนไม่หลับ พาราแซนทีนสร้างกรดแลคติคเข้าไปละลายไขมันที่เกาะหลอดเลือด ธีโอโปรมีน ทำให้หลอดเลือดเหมือนลูกโป่งมีการยืดหยุ่น
“ตอนนี้เราเพาะเลี้ยงชะมดเอง” ชินวัตรว่า “เลี้ยงเหมือนเป็นสัตว์เลี้ยง บางตัวเอามาอุ้มมาเกาหลังได้ ชะมดทุกตัวจะตั้งชื่อไว้ เวลาผสมพันธุ์จะไขว้กัน ไม่ให้ผสมใกล้กัน ให้เลือดห่างกัน ไม่อยากให้ยีนด้อย”
ชะมดมีปัญหาตอนคลอด ถ้าเอาหัวออกแม่จะเลี้ยงเอง คลอกหนึ่ง 3-4 ตัว แต่ถ้าเอาหางออก เราต้องรีบผ่าออกเหมือนคน เย็บแผล 30 เข็ม แม่จะเลี้ยงลูกไม่ได้ สองเดือนแผลถึงจะหาย ต้องเอามาเลี้ยงเข้าตู้อบ
“15 วันลูกชะมดจะลืมตาเรียกกินนม”
ชินวัตรเล่าต่อว่า จากนั้นก็ซื้อขวดนมเล็กๆมาป้อน พอกินเสร็จต้องทามหาหิงคุ์ให้เหมือนเด็ก
...
การเลี้ยงชะมด ต้องผ่านประสบการณ์มากมาย เมื่อก่อนเราเห็นว่ากินเก่งท้องใหญ่ แต่ไม่นานก็ตาย
ถามหมอที่โครงการพัฒนาส่วนพระองค์บางเบิด หมอบอกว่ามันท้องแตก เพราะไม่ถ่าย แนะนำให้เอาสำลีชุบน้ำอุ่นกระตุ้น แล้วใช้มหาหิงคุ์ทาไล่ลม เหมือนแม่มันเลียคือการกระตุ้นระบบขับถ่าย
หน้าที่เลี้ยงชะมดส่วนใหญ่ บุญสีรับเอาไปทำ ตั้งแต่เรียนรู้ขั้นตอนการเลี้ยง เลี้ยงมันใกล้ชิด ชะมดก็คงนึกว่าเป็นแม่ ยอมให้อุ้มได้ทุกตัว
กระนั้นการเลี้ยงชะมดก็ต้องเรียนรู้ต่อไป ความรู้ขั้นลึกได้จากงานวิจัย มีลูกค้ามาสอนหรือกระทรวงต่างๆมีงานวิจัยก็ส่งมาให้
การเลี้ยงชะมดของชินวัตร กลายเป็นโปรแกรมสำคัญ การท่องเที่ยว แห่งประเทศไทยจัดให้เราเป็นชุมพรเมืองกาแฟ
ฟาร์มเลี้ยงชะมดมีลูกค้า หรือนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติแวะเวียนมาไม่ขาด แบ่งได้ 4 กลุ่ม กลุ่มแรกอยากมาดูชะมดหน้าตาเป็นไง กลุ่มสองมาลองรสชาติกาแฟชะมดที่แท้จริง กลุ่มสามซื้อไปฝากผู้ใหญ่
และกลุ่มสี่ต้องการเรียนรู้การเพาะพันธุ์ชะมด
ยังมีนักศึกษาเข้ามาเรียนรู้ ทำวิทยานิพนธ์ ชินวัตรมักพรีเซนต์ว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นกาแฟขี้ชะมด ของอะไรในเมืองไทยที่อยู่ใกล้มือ มีประโยชน์ให้เอามาแปรรูป แพ็กเกจจิ้งสวยๆก็สร้างมูลค่าได้
ตัวอย่าง ใบเหลียง คนใต้เอาใบเหลียงมาผัดไข่ ใบเหลียงเป็นราชินีผักพื้นบ้าน มีเบต้าแคโรทีนสูงกว่าแครอท แคลเซียมสูงกว่าผักบุ้ง เอามาแปรรูปเป็นชาใบเหลียง ขายให้กับผู้หญิงที่หมดประจำเดือน
ผู้หญิงหมดประจำเดือน กระดูกจะพรุน ต้องอาศัยแคลเซียมจากธรรมชาติเข้าไปช่วยดูดซึมลงตับ
ชินวัตรบอกอย่างมั่นใจ “การเลี้ยงชะมดจะขยายต่อไป ชะมดเลี้ยงง่าย มันไม่ใช่เครื่องจักร เคยปล่อยขึ้นต้นปาล์มก็ไม่หนีไปไหน เย็นก็ลงมากินข้าว”.