ทีม PH21 ตัวแทนจากประเทศไทย ลงแข่งขัน ไมโครซอฟท์ อิมเมจิ้น คัพ 2016 รอบชิงชนะเลิศ ที่ซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ในสาขาเกม โดยทางทีมมีการเตรียมการมาอย่างดี ยอมรับมีกดดันคู่แข่งน่ากลัว แต่เชื่อว่ามีดีไม่แพ้ใคร...

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 ก.ค.2559 (ตามเวลาท้องถิ่น) การแข่งขัน ไมโครซอฟท์ อิมเมจิ้น คัพ 2016 รอบชิงชนะเลิศ ที่สำนักงานใหญ่บริษัทไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น เมืองเรดมอนด์ รัฐวอชิงตัน การแข่งขันด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์รายการใหญ่ อีกหนึ่งโครงการของบริษัทไมโครซอฟท์ที่ส่งเสริมเยาวชนในด้านนวัตกรรม โดยตลอดระยะเวลากว่า 14 ปีที่ผ่านมา Imagine Cup ได้แสดงให้เห็นถึงแรงบันดาลใจ และความความคิดสร้างสรรค์ของเหล่าเยาวชนที่ต้องการใช้เทคโนโลยีสร้างความแตกต่างให้กับโลกใบนี้ ด้วยผลงานจากมันสมองของเยาวชนกว่า 1.65 ล้านคนใน 190 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ ประเทศไทย เคยคว้าแชมป์มาแล้วถึง 3 ครั้ง คือ ในปี 2550, 2553 และ 2555


ในปีนี้มีทีมเยาวชนไทย 1 ทีมที่เป็น 1 ใน 35 ทีมที่ผ่านมาถึงรอบสุดท้าย คือ ทีมพีเอชทเวนตี้วัน (PH21) กลุ่มนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วยสมาชิก 5 คน ได้แก่ นายปริเมธ วงศ์สัตยนนท์ ตำแหน่ง เกมดีไซเนอร์ นายคามิน กลยุทธสกุล ตำแหน่ง อาร์ติสต์ นายอาชัญ สุนทรอารมณ์ ตำแหน่ง โปรแกรมเมอร์ นายพงศธร สันติวัฒนกุล ตำแหน่งเมนเทอร์ และ นายเจษฎา ตรีรุ่งกิจ ตำแหน่ง ยูไอ โปรแกรมเมอร์ และแต่งเพลงประกอบ กับผลงานไทม์ไล (Timelie) เป็นเกมพัซเซิลแนวใหม่ที่ใช้หลักการควบคุมเวลามาเกี่ยวข้องกับการแก้ไขพัซเซิลต่างๆ ภายในเกมสามารถควบคุมตัวละครได้พร้อมกันสองตัวละคร เพื่อใช้สำหรับการแก้ไขพัซเซิลด้วยการควบคุมเวลาเพื่อมองเห็นอนาคตและสามารถวางแผนการกระทำต่างๆ รวมทั้งยังสามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขเหตุการณ์ที่ผ่านมาเพื่อให้อนาคตเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ผู้เล่นต้องการ

...


ทีมพีเอชเทวนตี้วัน ได้เข้านำเสนอผลงานต่อกรรมการในเวลา 11.30 น. ที่ห้องสติงเกอร์ ในอาคารที่ 92 เช่นเดียวกันกับทีมอื่นๆ ตามตารางเวลาที่กำหนด ทุกทีมจะมีเวลาเซตอัพระบบเตรียมโปรแกรม 10 นาทีและนำเสนอผลงานเป็นเวลา 10 นาที โดยถือเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดที่ทั้งทีมต้องมีการเตรียมพรีเซนเทชั่น และสคริปต์ในการอธิบายผลงานให้โดนใจกรรมการมากที่สุด

นายปริเมธ 1 ในทีม PH21 กล่าวว่า จากที่ได้เตรียมตัวมา ทางทีมพร้อมแล้วที่จะนำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการ ยอมรับว่าอาจจะห่วงในเรื่องภาษา แต่เชื่อว่าสคริปต์การอธิบายงานน่าจะครอบคลุมหมด โดยเท่าที่ดูการนำเสนองานของทีมคู่แข่ง ก็อาจจะมีการปรับรูปแบบเล็กน้อยเพื่อให้สอดรับกับเวลาที่มี 10 นาที   


สำหรับการแข่งขันในรายการ ไมโครซอฟท์ อิมเมจิ้น คัพ 2016 รอบชิงชนะเลิศ มีการชิงชัยทั้งหมด 3 สาขา ประกอบด้วย

สาขา World Citizenship ในสาขานี้ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องคิดค้นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ผู้คน ชุมชน และสังคมทั่วโลกต้องเผชิญ ด้วยการพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างสร้างสรรค์ โดยมีธีมให้เลือกมากมาย เช่น การเกษตรและการประมง, การสอนทักษะภาษาอังกฤษ, ทรัพยากรอาหารและความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ, การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี, เชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์, ความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว และการปกป้องลิขสิทธิ์ทางปัญญา

...

สาขา Innovation เนื่องจากธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) คิดเป็นอัตราส่วนถึง 93% ของภาคเอกชนในประเทศไทย การแข่งขันในสาขา Innovation ในปีนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การเสริมศักยภาพเอสเอ็มอีให้แข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี ผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือกพัฒนาซอฟต์แวร์ประเภทอื่นที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมได้ด้วยเช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องยึดตามธีมดังกล่าว

สาขา Games เยาวชนที่สนใจงานด้านการออกแบบเกม หรือคอเกมที่มีความสามารถด้านการพัฒนาแอพ ต้องไม่พลาดการแข่งขันในสาขานี้ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้ออกแบบและพัฒนาแอพพลิเคชั่นเกมที่มีโอกาสได้ออกสู่ตลาดสำหรับเครื่องคอนโซล อุปกรณ์พกพา และพีซีในอนาคต


สำหรับในปีนี้ ทีมที่สื่อต่างประเทศจับตามมอง มี 3 ทีม ใน 3 สาขา ได้แก่ ด้านนวัตกรรม ทีม Biomachine Industrial จากประเทศญี่ปุ่น ในผลงาน Bionic Scope เกี่ยวกับอุปกรณ์สวมใส่ได้ เพื่อการสั่งการผ่านสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าชีวภาพ สาขา World Citizenship ทีม AMANDA จากประเทศกรีซ กับผลงาน การใช้ไอซีทีเพื่อตรวจสอบและป้องกันการรังแกและแทรกแซงการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กๆ และ ด้านสาขาเกม ทีม Vangards จากประเทศบาห์เรน นำเสนอเกมเสมือนจริงแนวสยองขวัญ Apollo X โดยนำเอาอุปกรณ์เวอร์ชวลเรียลลิตี้ มาประกอบการเล่น

ล่าสุดเมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 27 ก.ค. 2559 (ตามเวลาท้องถิ่น) ทีม PH21 ตัวแทนประเทศไทย ที่เข้าแข่งขัน ไมโครซอฟท์ อิมเมจิ้น คัพ 2016 รอบสุดท้าย สาขาเกม ได้เข้านำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการเรียบร้อยแล้ว

...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอด 10 นาทีของการนำเสนอผลงาน Timelie แต่ละคนในทีมได้ดำเนินการเสนอไปตามแผนที่วางไว้ และมีการทำสไลด์พรีเซนเทชั่นที่น่าสนใจ ต่อกรรมการและคนที่มานั่งชมการนำเสนอในห้อง รวมไปถึงการบรรยายภาษาอังกฤษต่อคณะกรรมการก็เป็นไปอย่างลื่นไหล ไม่แพ้ทีมที่มาจากประเทศอื่นๆ โดยหลังจากนำเสนอผลงานจบสิ้นลง ทุกคนในทีมมีความผ่อนคลายและสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส

...


สำหรับการตัดสินผู้ชนะเลิศจะมีในวันพรุ่งนี้ (28 ก.ค.) โดยทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ จะนำเสนอความคืบหน้าและผลการตัดสินในโอกาสต่อไป.