เหลือเวลาอีก 10 วัน คนไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปกว่า 50 ล้านคน จะได้สิทธิไปออกเสียง “ลงประชามติ” รับหรือไม่รับ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย” พร้อม “คำถามพ่วง” ยิ่งใกล้วันลงประชามติเข้ามาเท่าไหร่ กระแสความคิดขัดแย้งก็ยิ่งเด่นชัดมากขึ้น ผลการลงประชามติไม่ว่าจะออกหัวออกก้อย คสช.ก็จะถูกสังคมและนักการเมืองกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งในปีหน้า

การลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญมีชัย พร้อม คำถามพ่วง สามารถเป็นไปได้ถึง 3 ทางที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

1. ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน คำถามพ่วงผ่าน แบบนี้ คสช.แฮปปี้ที่สุด จะนำไปสู่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมีชัย เพื่อบรรจุ “คำถามพ่วง” ลงไปใน “บทเฉพาะกาล” ว่า “ในระหว่าง 5 ปีแรก นับตั้งแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (วุฒิสภาจากการแต่งตั้ง 250 คน+สภาผู้แทนราษฎร) เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

เมื่อ วุฒิสภา 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ในบทเฉพาะกาล มีเสียงเท่ากับ 1 ใน 3 ของรัฐสภา สามารถตั้งนายกรัฐมนตรีได้ ก็สามารถปลดนายกรัฐมนตรีได้ วิธีการปลดนายกรัฐมนตรีในสภาก็คือ การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

2. ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คำถามพ่วงไม่ผ่าน แบบนี้จะนำไปสู่ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 แต่จะเขียนตามใจคงไม่ง่ายเหมือนเดิม การที่ประชาชนลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำถามพ่วง ก็แปลว่า ประชาชนไม่เห็นชอบกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ เนื้อหาในคำถามพ่วง คสช. รัฐบาล กรรมาธิการชุดใหม่ จะร่างรัฐธรรมนูญออกมา เหมือนเดิมอีกทุกอย่างคงไม่ได้ โดยเฉพาะประเด็นที่เคยมีการคัดค้าน

3. ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน คำถามพ่วงไม่ผ่าน แบบนี้ คสช.อาจสูญเสียอำนาจไปนิดนึง คืออำนาจการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจอื่นของ คสช.ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญใหม่ ยังมีอยู่ครบถ้วน ไม่ตกหล่นแต่ประการใด แต่ต้องเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง

...

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.นายกรัฐมนตรี ก็ได้ประกาศเดินหน้าตามโรดแม็ป ให้มีการเลือกตั้งภายในปีหน้า 2560 ไม่ว่าประชามติวันที่ 7 สิงหาคมจะผ่านหรือไม่ผ่านก็ตาม และได้ยืนยันโรดแมปนี้ต่อ เลขาธิการสหประชาชาติ ด้วย

ก็เป็นอันมั่นใจได้ว่า ปีหน้า 2560 จะต้องมีการเลือกตั้งแน่นอน ไม่มีการยืดเวลา

วันนี้ นักการเมือง ได้ มองข้ามช็อต ทั้งเรื่อง การลงประชามติ นายกรัฐมนตรีคนนอก การคิดคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม ไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าผลประชามติจะออกมาอย่างไร คสช.ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2560 ตามคำสัญญา

ถ้าประชามติรัฐธรรมนูญผ่าน ก็สบายหน่อยจัดเลือกตั้งได้เลย ถ้าไม่ผ่านก็ต้องไปแก้ไขหรือหารัฐธรรมนูญสักฉบับ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2560 อย่างอื่นเป็นเรื่องปลีกย่อย

ประเด็นแรก ที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่รัฐธรรมนูญมีชัย กำหนดให้พรรคการเมืองแจ้งชื่อต่อ กกต.พรรคละ 3 ชื่อ การหาเสียงต้องประกาศให้ประชาชนทราบด้วย ดูเหมือนใหม่ แต่ไม่มีอะไรใหม่ ผมเคยถาม หัวหน้าพรรคการเมือง หลายพรรค ทุกพรรคตอบเหมือนกัน จะเสนอชื่อหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกเลย เรื่องอะไรจะไปเสนอชื่อคนอื่น ยกเว้นเป็น “พรรคนอมินี” เท่านั้น

ประเด็นที่สอง การคิดคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสม ในการเลือกตั้ง ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน รวม 500 คน ที่ผู้ร่างบอกว่าเพื่อให้ทุกเสียงมีความหมาย วิธีนี้จะไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา แต่ผลจากความคิดนี้ ทำให้ผู้สมัคร ส.ส.เขตที่เคยมีคะแนนเป็นที่ 2 ในทุกเขตเลือกตั้ง มีค่าตัวแพงลิ่วขึ้นมาทันที เพราะคะแนนที่ 2 ที่ 3 จะถูกนำไปจัดสรรปันส่วน กลายเป็นตัวเลข ส.ส. เพิ่มขึ้นในพรรคที่ได้ ส.ส.เขตรองลงมา การตั้งพรรครองจะมีความหมายขึ้นมาทันที

ก็เก็บมาเล่าสู่กันฟังครับ ก่อนจะไปลุ้นการลงประชามติแบบชิลๆ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”