หลังทีมทนายช่วยกว่า 13 ปี คดีปล่อยสารตะกั่วลงห้วย ทําให้ชาวบ้านล้มป่วย 8 ราย
ชาวบ้านพอใจศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีคำพิพากษาให้บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และกรรมการผู้จัดการ ที่ทำสารตะกั่วปนเปื้อนลำห้วยคลิตี้ จ.กาญจนบุรี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน ชดใช้ค่าเสียหาย 20,200,000 บาท ให้โจทก์ทั้ง 8 ราย และให้ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ปิดฉากคดีที่ต่อสู้ยาวนานกว่า 13 ปี ทนายความเผยขั้นตอนต่อไปต้องยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องล้มละลาย และติดตามยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 แม้ว่าจะเสียชีวิตไปแล้ว
ศาลฎีกาพิพากษาคดีเรียกค่าเสียหายบริษัทเหมืองแร่ทำสารตะกั่วปนเปื้อนห้วยคลิตี้รายนี้ เปิดเผยเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 ก.ค. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 6 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ที่นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา กับพวกรวม 8 คน ชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 1 และนายคงศักดิ์ กลีบบัว ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ จำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ 106/2546 หมายเลขแดงที่ 1565/2549 โดยฝ่ายโจทก์มี ว่าที่ ร.ต.สมชาย อามีน กรรมการสิ่งแวดล้อมผู้ช่วยเหลือคดีจากสภาทนายความ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา สภาทนายความ และกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ นำโดยนางภินันท์ โชติรสเศรณี นายบุญส่ง จันทร์ส่งรัศมี ร่วมฟังคำพิพากษา ส่วนจำเลยได้ส่งทนายความเข้าฟังคำพิพากษา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกานานกว่า 2 ชั่งโมง จึงแล้วเสร็จ
จากนั้นนายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา สภาทนายความ เปิดเผยว่า ศาลพิจารณาพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 ดำเนินกิจการทำเหมืองแร่ และโรงแต่งแร่ ตั้งอยู่ที่ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และจำเลยที่ 2 คือ กรรมการผู้จัดการบริษัท มีเจตนาที่จะ ปล่อยสารตะกั่วลงในลำห้วยคลิตี้ ส่งผลกระทบต่อ สุขภาพและการดำเนินชีวิตของโจทก์ ทำให้ชาวบ้าน เจ็บป่วย มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสารตะกั่วมายืนยัน พิพากษาให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับโจทก์ทั้ง 8 ทั้งค่าไม่สามารถใช้ชีวิตได้ ค่าเจ็บป่วย รวมทั้งค่ารักษาในอนาคตด้วย เป็นเงินจำนวน 20,200,000 บาท และจำเลยจะต้องฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้กลับมาใช้ได้ดังเดิม
...
ด้านว่าที่ ร.ต.สมชาย อามีน กรรมการสิ่งแวดล้อม ทนายความผู้ช่วยเหลือคดีจากสภาทนายความ เปิดเผยว่า คำพิพากษาศาลฎีกา ศาลไม่ให้จ่ายค่าชดใช้เรื่องของควายที่ตายไป คงให้ชดใช้เฉพาะเรื่องของความเจ็บป่วยของชาวบ้านทั้ง 8 ราย ซึ่งค่าชดใช้นั้นลดลงกว่าที่ศาลอุทธรณ์เคยตัดสิน แต่ภาพรวมถือว่าดีมาก ส่วนการที่จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลายนั้น คงไม่มีปัญหายังมีสิทธิ์ยื่นขอให้ชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้เพื่อนำมาเฉลี่ยทรัพย์ แต่สำคัญคงต้องพุ่งเป้าที่จำเลยที่ 2 แม้ว่าจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ก็น่าจะมีทรัพย์มรดกอยู่ สามารถติดตามยึดทรัพย์มาชำระหนี้ให้กับชาวบ้านทั้ง 8 รายได้ แต่คงต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะต้องไปทำการสืบทรัพย์ว่า ปัจจุบันจำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินอะไรบ้าง มีการจำหน่ายจ่ายโอนมรดกไปให้ใครแล้วหรือยัง
ขณะที่นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา 1 ในโจทก์ร่วม เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับฟังคำพิพากษาทุกคนต่างรู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก การฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาก็ถือว่าสิ้นสุดคดีแล้ว ต้องขอขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรมกับพวกเรา เพราะที่ผ่านมากว่า 10 ปี ชาวบ้านคลิตี้ต้องเจ็บป่วยมาโดยตลอด บางคน ล้มหายตายจากกันไปแล้ว
ส่วนนางภินันท์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ เปิดเผยว่า วันนี้ถือเป็นอีกวันหนึ่งชาวบ้านได้รับความเป็นธรรม ต้องขอชื่นชมผู้มีส่วนร่วมในการต่อสู้ที่ยาวนานมาก เป็นแบบอย่างของการต่อสู้ของภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำ ชาวบ้านที่ประสบทุกข์เดือดร้อนต่างเป็นเหยื่อของสารตะกั่วมาช้านาน ถือว่าได้รับ ความเป็นธรรมอย่างแท้จริง สิ่งที่ต้องติดตามคือกระบวนการช่วยฟื้นฟูและการเยียวยาที่จะต้องดำเนินการตามที่ศาลได้พิพากษาไว้
สำหรับคดีนี้โจทก์ทั้ง 8 ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 2 เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2546 ในข้อหาละเมิด พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ที่กระทำผิดโดยการปล่อยสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ลงลำห้วยคลิตี้ เป็นเหตุให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจนเจ็บป่วยและสัตว์เลี้ยงล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 119,036,400 บาท ศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้มีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 4,260,000 บาท ต่อมาทั้งโจทก์และจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ศาลพิพากษาว่าให้แก้ไขจำนวนค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึง 8 จากเดิม 4,260,000 บาท เพิ่มเป็น 29,551,000 บาท จนกระทั่งศาลฎีกา แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำพิพากษาดังกล่าว รวมเวลาที่โจทก์ต่อสู้คดีเรียกร้องขอความเป็นธรรมนานกว่า 13 ปี