ผู้บริสุทธิ์...ลาจากมุ้งสีขาวที่เคยโอบล้อมเตียงนอนแสนอบอุ่น สู่มุ้งสายบัวไกลบ้านสุดปวดร้าว หลายคนเรียกขานเขาว่า “คนคุก” มีเพียงน้อยคนเท่านั้นที่เรียกเขาว่า “แพะ”....

ผู้บริสุทธิ์...ถูกจองจำอย่างเจ็บช้ำ จนสูญเสียสุข เสียชื่อเสียง เสียอนาคต สูญเสียสารพัด สุดท้ายแล้วคำพิพากษาถึงที่สุด ปรากฏว่า “เขาไม่ใช่คนผิด” เขาพ้นพันธนาการกลับคืนสู่อิสรภาพอีกครั้ง แล้วสิ่งที่เขาสูญเสียไปเล่า ใครเขาจะเอามาคืน...? สิ่งที่ได้คืนมาจะคุ้มค่ากับสิ่งที่สญเสียไปหรือไม่? ที่นี่มีคำตอบ!

พอหรอ? 6 ข้อคนเป็นแพะ คุณจะได้อะไร?

นางกรรณิการ์ แสงทอง อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม แจกแจงค่าทดแทนและค่าใช้จ่าย ที่แพะจะได้รับไว้ว่า

1.ค่าทดแทนการถูกคุมขัง โดยคำนวณจากจำนวนวันที่ถูกคุมขัง ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล อัตราวันละ 200 บาท

2.ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล จ่ายเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาท ความเจ็บป่วยต้องเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี

...

3.ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ จ่ายเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 50,000 บาท ความเจ็บป่วยต้องเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี

4.ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างถูกดำเนินคดี อัตราวันละไม่เกิน 200 บาท นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ

5.ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี ค่าทนายความ จ่ายเท่าที่จ่ายจริงในอัตราไม่เกินกฎกระทรวงกำหนด, ค่าใช้จ่ายอื่นเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาท

6.ค่าทดแทนในกรณีที่ถึงแก่ความตาย ค่าทดแทน จำนวน 100,000 บาท, ค่าจัดการศพ จำนวน 20,000 บาท, ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท, ค่าความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร ไม่เกิน 30,000 บาท

ผู้สื่อข่าวถาม น.ส.สาธนา ขณะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ทันทีว่า "จำนวนเงินเพียงเท่านี้ แลกกับสิ่งที่สูญเสีย น้อยไปหรือไม่?" ซึ่งได้รับคำตอบว่า ความสูญเสียที่ประชาชนคนหนึ่งได้รับจากการติดคุก ทั้งๆ ที่บุคคลนั้นๆ ไม่ได้กระทำความผิด ไม่ว่ารัฐจะชดใช้ด้วยจำนวนเงินมากมายเท่าใดก็คงจะไม่เพียงพอ แต่ถ้ารัฐจะต้องชดเชยให้ประชาชนไปมากกว่านี้ งบประมาณอาจจะไม่เพียงพอ ดังนั้น สิ่งที่ควรเน้นย้ำคือ การป้องกันไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น และที่สำคัญ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ควรแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ควรหันมามองต้นเหตุของปัญหา เพื่อหาทางป้องกันปัญหาจะดีกว่า

อย่างไรก็ดี ทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้มีการขอแก้ไขกฎกระทรวงใหม่ โดยเพิ่มค่าประโยชน์ทำมาหาได้เท่ากับค่าแรงขึ้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอ รมว.ยุติธรรม และ รมว.คลัง ผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. ค่าตอบแทนฯ ลงนาม เพื่อจะประกาศใช้ต่อไป

แพะไหนบ้างเข้าเงื่อนไข ได้รับเงินเยียวยา?

โดยอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้เปิดเผยถึงเงื่อนไขการจ่ายเงินเยียวยาสำหรับผู้ที่ตกเป็นแพะรับบาป และยังต้องถูกจองจำอยู่ในห้องขังอย่างไร้อิสรภาพว่า

1.จะต้องเป็นจำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ หมายความว่า อัยการจะต้องเป็นโจทก์ฟ้องเท่านั้น หากเป็นผู้เสียหายฟ้องจะไม่เข้าเงื่อนไข

2.ต้องถูกขังระหว่างการพิจารณาคดีของศาล แต่หากถูกขังระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น กฎหมายยังไม่ได้อนุญาต

3.ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าไม่ได้กระทำผิด และมีการถอนฟ้องระหว่างดำเนินคดี หรือปรากฏตามคำพิพากษาถึงที่สุดว่าไม่ได้กระทำผิด

...

นางกรรณิการ์ ขยายความในเรื่องนี้อีกว่า คณะกรรมการจะพิจารณาอนุมัติค่าชดเชยแก่จำเลย โดยพิจารณาจากข้อมูลที่ชัดเจนที่สุด นั่นก็คือ “การโดนคุมขัง” ซึ่งการโดนคุมขังสามารถนำสืบได้จากหมายศาล ส่วนค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ พิจารณาจากหลักฐานที่ว่า ก่อนหน้าที่จำเลยจะถูกจำคุกจำเลยเคยทำงานมาก่อนหรือไม่ และในส่วนของค่ารักษาพยาบาลนั้น จะพิจารณาจากช่วงที่ถูกคุมขัง ว่าจำเลยมีอาการเจ็บป่วยหรือได้รับการรักษาจากแพทย์บ้างหรือไม่ โดยดูจากใบรับรองแพทย์เป็นหลัก

สำหรับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจนั้น บางกรณีจำเลยไปนวดแผนโบราณเพื่อผ่อนคลายจิตใจ หรือการนวดเพราะมีปัญหาเรื่องสรีระ และอาจจะต้องไปรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยา โดยคณะกรรมการจะพิจารณาจากหลักฐานที่เป็นใบรับรองแพทย์ หรือใบเสร็จ

“บางกรณีที่จำเลยมีสภาพจิตใจดี ไม่ได้เดือดร้อน ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนจากเหตุนั้น ทางกรมฯ อาจจะไม่ได้จ่ายให้ เพราะคณะกรรมการต้องนำสืบจากข้อเท็จจริง หลักฐานที่มีและนำจ่ายให้ตามนั้น” อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ พูดถึงกรณีจำเลยที่มีสภาพจิตใจดี

...

ข่มขู่-ชักจูง ให้รับสารภาพ จนติดคุก สุดท้ายได้เงินเยียวยาหรือไม่?

นางกรรณิการ์ กล่าวถึงกรณีที่จำเลยถูกข่มขู่หรือถูกชักจูงให้รับสารภาพจนทำให้ต้องเข้าคุก แต่ต่อมา ศาลตัดสินจนถึงที่สุดว่า ความจริงเขาไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งกรณีจะเข้าเงื่อนไขขอรับเงินเยียวยา ส่วนจะได้รับเงินเท่าไหร่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงว่า จำเลยเสียหายมากน้อยเพียงใด เพราะการที่จำเลยจะรับสารภาพหรือไม่รับสารภาพไม่ได้เป็นองค์ประกอบหลักในการพิจารณาจ่ายเงินเยียวยา โดยคำรับสารภาพเป็นเพียงข้อมูลประกอบที่ทำให้ไม่ต้องสืบพยานเยอะเท่านั้น

ขณะเดียวกัน กรณีที่จำเลยได้รับโทษจำคุกจนกระทั่งพ้นโทษออกมาแล้ว และมีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ ประกอบกับศาลได้พิพากษาอีกครั้งว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดจริงก็สามารถมารับเงินเยียวยาได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ในเงื่อนไขขอรับเงินเยียวยา ไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องถูกคุมขังนานเท่าไหร่ แต่จะเริ่มนับจำนวนวันที่ถูกคุมขัง ตั้งแต่ออกหมายศาลระหว่างพิจารณาคดีเรื่อยไปจนวันที่คดีถึงที่สิ้นสุด และศาลได้ออกหมายปล่อยจนวันที่จำเลยได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ โดยขึ้นอยู่กับว่าคดีนั้นมีการต่อสู้กันยาวนานเพียงใด

...

โดย น.ส.สาธนา ผอ.สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ได้ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว่าคุณผิด แต่แท้จริงแล้วคุณไม่ได้ผิด หากมีกรณีนี้เกิดขึ้น ประชาชนสามารถเดินทางไปร้องเรียนได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และหากเรื่องนั้นๆ อยู่นอกเหนืออำนาจของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ทางหน่วยงานจะประสานและส่งต่อให้หน่อยงานอื่นที่เกี่ยวข้องให้ทันที แม้ว่าศาลจะตัดสินแล้วก็ตาม

สถิติเยียวยา ‘แพะ’ แต่ละปี เฉลี่ยร้อยกว่าชีวิต!

นางกรรณิการ์ ได้เปิดเผยข้อมูลสถิติการเบิกจ่ายงบประมาณให้กับจำเลยที่ตกเป็นแพะรับบาปต้องเข้าไปอยู่ในคุกจากคดีต่างๆ พบว่า ปี 2557 ผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งหมด 117 ราย จำนวนเงิน 22.3 ล้านบาท ส่วนปี 2558 ผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งหมด 97 ราย จำนวนเงิน 17.9 ล้านบาท และล่าสุด ปี 2559 (นับถึง 31 พ.ค. 59) ผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งหมด 53 ราย จำนวนเงิน 10.5 ล้านบาท

ทั้งนี้ คำพิพากษาต้องเป็นที่ยุติว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด แต่หากพยานหลักฐานยังไม่ชัดเจน ศาลจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย โดยอาจจะได้รับการยกฟ้อง แต่อาจจะไม่ได้รับเงินเยียวยาจากกรมฯ เนื่องจากกฎหมายประสงค์จะจ่ายให้ผู้ที่เป็นแพะขาว(แพะขาว : ศาลพิพากษาถึงที่สุดว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด) จริงๆ แต่ถ้าเป็นแพะเทา(แพะเทา : ข้อเท็จจริงยังเป็นที่สงสัย ศาลต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้องปล่อยตัว) ก็อาจจะไม่ได้

“จากสถิติข้อมูลย้อนหลังช่วงปี 56-59 สถิติส่วนมากเป็นความผิดต่อชีวิตและร่างกาย รองลงมาคือความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ผอ.สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ให้ข้อมูล

“เหตุใดจำนวนผู้เสียหายและจำเลยตั้งแต่ปี 2558-2559 มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ?” ผอ.สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา อธิบายในข้อซักถามนี้ว่า ในช่วงก่อนปี 2558 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มีนโยบายแจ้งสิทธิ์แก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา เพียงเฉพาะกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เท่านั้น แต่ไม่ได้ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจอันเป็นด่านแรกของประชาชน จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงสิทธิ์ดังกล่าว ต่อมา ในปี 2558 ทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ทำความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ โดยขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งแก่ประชาชนว่า ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญามีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอรับเงินชดเชย และควรรีบมายื่นขอรับสิทธิ์ภายใน 1 ปี จนเป็นที่มาให้สถิติในปี 2558-2559 มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ไม่ใช่ทุกคนทีรู้กฎหมาย! คนไม่รู้สิทธิ์ เจ้าหน้าที่รัฐไม่บอก ต้องทำอย่างไร?

“ประชาชนจำนวนมากไม่ค่อยรู้ข้อกฎหมาย ผนวกกับเจ้าหน้าที่รัฐไม่บอก หากเป็นเช่นนี้ ประชาชนตาดำๆ ต้องทำอย่างไร?” ผู้สื่อข่าว ถาม ผอ.สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ซึ่ง ผอ. ตอบกว้างๆ ว่า ภาคฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนรู้จักป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม หรือทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ไม่ตกอยู่ในความเสี่ยง

“แม้ประเทศไทยจะมีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม คอยช่วยเหลือด้วยการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ หรือเป็นแพะที่ไปอยู่ในคุก แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น ทางกรมฯ จึงเพิ่มช่องทางการรับรู้ให้กับประชาชน โดยมอบหมายงานให้กับกรมราชทัณฑ์ว่า เจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อได้ทราบถึงสิทธิ์ในการยื่นร้องขอค่าชดเชยในฐานะที่คุณเป็นแพะ ตั้งแต่วันแรกที่คุณเข้าคุก แต่จะได้เป็นจำนวนเงินมากหรือน้อย ทางคณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณา” ผอ.สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา กล่าว

ไม่ผิด ไม่รู้กฎหมาย จะถูกจำคุก ควรทำอย่างไร ?

"ถ้าไม่ผิด ไม่รู้กฎหมาย แต่มีผู้เสียหายฟ้องร้องจะให้ถูกจำคุก ทำอย่างไรได้บ้าง?" คำถามทิ้งท้ายฝากไว้ให้กับประชาชนตาดำๆ คำถามนี้ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ให้คำแนะนำว่า ในช่วงแรกหากยังไม่ได้ถูกดำเนินคดีให้เข้ามาร้องเรียนที่กระทรวงยุติธรรม เพื่อขอรับการช่วยเหลือก่อน

หากคุณไม่ได้กระทำความผิด คุณควรมีความมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตนเอง หรือบางคนต้องการคำปรึกษาจากทนายความ ก็สามารถเข้ามาที่กระทรวงยุติธรรม โดยจะมีคลินิกยุติธรรมให้ความช่วยเหลืออยู่ที่ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ อาคาร เอ ส่วนในต่างจังหวัดมีสำนักงานยุติธรรมจังหวัดให้ความช่วยเหลือ หากไม่มีทนายความก็จะช่วยค่าทนายความ ถ้าจะถูกคุมขังระหว่างสอบสวนพิจารณาก็จะช่วยประกันตัวด้วย” อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ทิ้งท้ายด้วยถ้อยคำอันเป็นประโยชน์

การแก้ปัญหาไม่ใช่แค่การจ่ายเงินเยียวยา 'แพะ' บาปบริสุทธิ์ที่ต้องทนทุกข์ทรมานนอนกรงแรมปี
เพียงเพื่อจะช่วยบรรเทาพวกเขาหลังจากที่เกิดความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม
แต่เป็นการหยุดไม่ให้ผ้าขาวอันบริสุทธิ์เหล่านี้ ต้องมารับโทษทัณฑ์ที่เขาไม่ได้ก่อเสียที!?

  • สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
    
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ