คำสั่ง คสช. ม.44 ที่ทยอยออกมาเรื่อยๆ มีอยู่ 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ดินและการบุกรุกป่า อันเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน จนทำให้ป่าไม้เมืองไทยที่เคยสร้างความเขียวชอุ่ม และอุ้มน้ำเอาไว้เมื่อเกิดน้ำหลาก ซึ่ง 2 คำสั่งนี้แยกเป็น 2 ส่วน

คือให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปจัดการยึดคืนพื้นที่ที่ภูทับเบิกและการแก้ไขปัญหายึดคืนพื้นที่ สปก.ซึ่งถูกบุกรุกกว่า 4.32 ล้านไร่

การที่ต้องออกคำสั่งนี้น่าจะมาจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ เนื่องจากติดขัดปัญหาด้านกฎหมายและการมีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยที่เกี่ยวข้อง

ก็เลยต้องใช้อำนาจที่เหนือกว่ากฎหมายปกติที่มีอยู่

ที่ภูทับเบิกนั้นเคยปกคลุมไปด้วยป่าไม้นานาชนิด ทำให้ภูเขาทั้งลูกเขียวไปสุดลูกหูลูกตา แต่ที่เห็นในปัจจุบันกลายเป็นภูเขาหัวโล้นที่มีรีสอร์ตโผล่ขึ้นมาเป็นดอกเห็ด เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้ที่เคยให้ชาวเขาเข้าไปอยู่อาศัย

แต่ก็มีนายทุนเข้าไปจูงใจชาวบ้านเหล่านั้นให้ปลูกพืชผลทางการเกษตรและตัดไม้ทำลายป่าไปทั้งหมด

ครั้นกระแสความนิยมธรรมชาติระบาดไปทั่วประเทศ ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวขยายตัวอย่างกว้างขวาง

ที่ดินเหล่านี้จึงถูกนายทุนเข้าไปครอบครองสร้างรีสอร์ต บ้านพักตากอากาศทุกอย่างจึงเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ

รัฐบาล คสช.ซึ่งมีนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกที่ดินจึงเข้าไปดำเนินการตรวจสอบก็พบความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นมา

แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการได้อย่างเด็ดขาด จึงต้องใช้ ม.44 เข้าไปแก้ไข

อีกเรื่องก็คือ ที่ดิน สปก.ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรฯที่มอบที่ดินให้เกษตรกรเพื่อทำมาหากินและห้ามขายให้บุคคลอื่น แต่ปรากฏว่าอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกันก็คือ ถูกนายทุนเข้าไปซื้อจากเกษตรกร รวมทั้งที่มีการบุกรุกด้วย

...

ที่ดิน สปก.จึงเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่เกิดปัญหาไปทั่วประเทศ

จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีการบุกรุก 4.32 แสนไร่ และมีการสั่งการยึดคืนให้เรียบร้อยภายในเวลา 129 วัน แต่ก็คงทำอะไรไม่ได้ทั้งหมดในทันที เพราะยังมีนายทุนและผู้มีอิทธิพลครอบครองซึ่งจะต้องใช้เวลาพอสมควร

พื้นที่เหล่านี้แบ่งออก 3 กรณีคือ

1. พื้นที่ไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเนื้อที่ 500 ไร่ขึ้นไป 25 จังหวัด จำนวน 4.26 แสนไร่

2. พื้นที่ที่จัดให้เกษตรกรไปแล้ว แต่ขายให้บุคคลอื่นเนื้อที่ตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป 2 จังหวัด 488 ไร่

3. พื้นที่ที่มีคำสั่งพิพากษาถึงที่สุด เนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป 3 จังหวัด คือ กระบี่ สุราษฎร์ธานี และ นครราชสีมา จำนวน 5,506 ไร่

หากสำรวจให้ดีๆเชื่อว่าน่าจะมีมากกว่านี้อีก

คำสั่ง คสช.คงเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วยังมีปัญหาอีกร้อยแปดที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่หน่วยงานราชการซึ่งรับผิดชอบโดยตรงก็มีปัญหาขัดแย้งกันเอง เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ กรมอุทยานฯ กรมที่ดิน องค์กรปกครองท้องถิ่น มหาดไทย ฯลฯ

พอเจาะลงไปตรงไหนก็ยุ่งกันไปหมด และแต่ละหน่วยงานก็พยายามโยนความผิดให้กันและกัน เพราะต่างก็ไม่ต้องการถูกจับผิด

นี่แหละคือปัญหาสำคัญที่จะต้องปฏิรูปกันให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพเพื่อจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ

เป็นเรื่องที่ คสช.จะต้องสังคายนาไม่ใช่มองแค่กรอบใหญ่ๆ เท่านั้น.

“สายล่อฟ้า”