ทำความรู้จักกับครีเอเตอร์ตัวแทนประเทศไทยจากแชนแนล "Picnicly" ที่ได้รับเลือกจาก Youtube ให้เข้าร่วมแคมเปญ Proud to Be ให้กำลังใจชาว LGBT ทั่วโลก…
เดือนมิถุนายน ได้ถูกกำหนดให้เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองของกลุ่ม "LGBT" ซึ่งเป็นตัวย่อที่สื่อถึง "กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ" โดยคำว่า LGBT มาจากการรวมอักษรตัวหน้าของเพศทางเลือกต่างๆ คือ Lesbian (เลสเบี้ยน), Gay (เกย์), Bisexual (ไบเซ็กชวล) และ Transgender/Transsexual (คนข้ามเพศ) ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์ช่วงเวลาที่น่าจดจำให้แก่ผู้คนกลุ่มดังกล่าว ภายใต้บรรยากาศการตกแต่งประดับประดาด้วยสีรุ้ง
และแม้ว่าจะผ่านช่วงเวลาแห่งสีสันในการเฉลิมฉลองของกลุ่ม LGBT มาแล้ว แต่เราอยากนำเสนอเรื่องราวที่น่าภาคภูมิใจของชาวไทยที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อ Youtube (ยูทูบ) ประเทศไทย ได้จัดแคมเปญ Proud to Be เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มหลากหลายทางเพศได้แสดงออกถึงความภาคภูมิใจที่ได้เปิดเผยตนเอง และแสดงให้เพื่อนพ้องของพวกเขาได้รู้ว่าความหลากหลายทางเพศจะไม่ทำให้คุณโดดเดี่ยวบนโลกนี้
...
สำหรับเรื่องราวในครั้งนี้...เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ "ลุค" หนึ่งในครีเอเตอร์ยูทูบจากแชนแนล "Picnicly" ที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมโครงการ Proud to Be ร่วมกับยูทูบทั่วโลก ในการแสดงพลังและความภาคภูมิใจในตนเองที่เป็นหนึ่งในกลุ่ม LGBT
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ลุค หรือ นายลุค แคสซาดี วัย 39 ปี จะเป็นชาวต่างชาติซึ่งเกิดที่รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เขาถือเป็นเจ้าของผลงานสุดสร้างสรรค์ซึ่งนำเสนอเป็นวิดีโอภาษาไทย กับเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ผ่านแชนแนล Picnicly ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจติดตามมากกว่า 137,000 คน อะไรคือจุดเริ่มต้นในการเป็นครีเอเตอร์ต่างชาติที่เลือกนำเสนอคอนเทนต์ผ่านภาษาไทย ความกล้าในการเปิดเผยตนเองว่าเป็นเกย์ และกุญแจสู่ความสำเร็จในการเป็นครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตามหลักแสนคนเช่นในปัจจุบัน...
อะไรเป็นจุดเริ่มต้นในการผลิตคอนเทนต์บน Youtube?
ลุค เล่าว่า...เขาเริ่มต้นจากการทำโปรดักชั่นสารคดี เกี่ยวกับ The Cheer Ambassadors เชียร์ลีดเดอร์ทีมชาติไทยที่สามารถคว้าแชมป์โลกจากการแข่งขันในสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านั้นไม่เคยทำงานลักษณะดังกล่าว แต่เมื่อได้ทำแล้วรู้สึกสนุกและมีความสุขมาก จึงก้าวเข้าสู่สายงานโปรดักชั่นอย่างจริงจังและมีการผลิตผลงานให้กับ GTH และไทยรัฐ TV ผ่านรายการ Yoga นมัสเต โดยสิ่งที่รู้สึกสนุกกับงานทีวี คือ การสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่เป็นประเภทให้แรงบันดาลใจ รู้สึกแบบ Feel Good ซึ่งวิธีที่สามารถเข้าถึงคนได้ง่ายที่สุดก็คือช่องทางออนไลน์ ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มผู้ชมวัยรุ่น ประกอบกับส่วนตัวก็ชื่นชอบในการทำคอนเทนต์เพื่อกลุ่ม 18-24 ปี อยู่แล้วเพราะเป็นช่วงวัยที่นิยมและเปิดรับคอนเทนต์ออนไลน์
เพราะทำงานด้านโปรดักชั่น จึงเลือกเป็นครีเอเตอร์?
ทำงานโปรดักชั่นประมาณ 5 ปี ก่อนหน้านั้นเป็นครูสอนโยคะ และเคยเป็นคอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์ แต่ด้วยความรักและเชี่ยวชาญในโยคะ ปัจจุบันเขาจึงยังแบ่งเวลาสอนโยคะ ควบคู่กับการทำงาน จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เอกภาษาไทยอีกด้วย ซึ่งเขาเลือกเรียนทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะนำปริญญาตรีในสาขาดังกล่าวไปใช้ประกอบอาชีพหรือไม่ แต่ก็ทำให้นำมาใช้ในงานปัจจุบันได้
เป้าหมายของ Picnicly คืออะไร...?
สิ่งที่ตั้งใจสื่อสารผ่าน Picnicly คือ การนำเสนอคอนเทนต์ที่ดูง่าย สนุก ดูแล้วไม่เครียด เพราะรู้สึกว่าโลกนี้มีเรื่องแย่มากและมีเรื่องดีมากด้วยเช่นกัน จึงวางเป้าหมายในการผลิตคอนเทนต์เพื่อสร้างกำลังใจ รอยยิ้ม และความสุขให้ผู้ที่ได้รับชม โดยนอกจากแชนแนล Picnicly บนยูทูบ ก็ยังมีเว็บไซต์ด้วย เริ่มทำเพราะอยากให้ผู้ชมได้รู้สึก Feel Good และได้แรงบันดาลใจหลังจากรับชม โดยวิดีโอที่ได้รับความนิยมอย่างมาก คือ วิดีโอที่มีการชักชวนเพื่อนชาวต่างชาติหลายๆ คน ที่พูดภาษาไทยมาร่วมกัน
"ที่จริงเรามีแต่ทีมงานเบื้องหลัง อยากทำวิดีโอแต่ไม่มีคนหน้ากล้อง จนกระทั่งนึกได้ว่าเราเป็นชาวต่างชาติที่พูดภาษาไทยได้ และมีเพื่อนในลักษณะดังกล่าวอยู่เยอะพอสมควร ประกอบกับมองเห็นพฤติกรรมช่างสงสัยของคนไทยที่มีต่อชาวต่างชาติ ซึ่งบางครั้งอาจไม่รู้และไม่มีโอกาสซักถาม จึงเกิดไอเดียชวนเพื่อนๆ มาทำวิดีโอเพื่อนำเสนอแง่มุมต่างๆ ที่ชาวต่างชาติมีหรือใช้ชีวิตในเมืองไทย นอกจากจะได้คลายสงสัยให้คนไทยที่อยากรู้ ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีของเพื่อนชาวต่างชาติทำให้ทุกคนมีความสุขที่ได้ออกมาอธิบายหรือนำเสนอแง่มุมต่างๆ ผ่านวิดีโออีกด้วย"
...
มีวิธีค้นหาไอเดียเพื่อผลิตวิดีโออย่างไร...?
ยอมรับว่าในช่วงแรก...ไอเดียในการนำเสนอนั้นเป็นเรื่องยากประการหนึ่ง เพราะไม่รู้ว่าอะไรดีหรือไม่ แต่ปัจจุบันเรารู้แล้วว่าคนไทยชอบดูอะไร ต้องการวิดีโอแบบไหน ดังนั้นปัญหาในการผลิตคอนเทนต์ในปัจจุบันของ Picnicly ก็คือเวลาในการผลิตผลงาน ซึ่งขณะนี้มีผลงานเฉลี่ย 3-4 วิดีโอต่อสัปดาห์ เมื่อมีไอเดียแล้วก็จะมีการวางแผน เขียนสตอรี่บอร์ดคร่าวๆ แบบระบุเป็นหัวข้อ เพราะอยากให้เนื้อหาที่นำเสนอนั้นมีความสดใหม่และมีความสนุกสนานมากกว่าการกำหนดรายละเอียดตายตัว
"มีหลายๆ วิดีโอที่เรารู้ว่ามีความสนุกและจะได้การตอบรับที่ดีหากผลิตออกมา แต่คอนเทนต์ประเภท LGBT อาจได้การตอบรับน้อยกว่า แต่ถือเป็นคอนเทนต์ที่สำคัญของเรา เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โลกยอมรับเรามากขึ้น จากประเด็นที่เราสามารถแต่งงานและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ทำให้อยากทำ เพราะมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สังคมยอมรับคนในกลุ่ม LGBT อย่างเปิดกว้างมากขึ้น แม้ว่าคอนเทนต์ประเภทดังกล่าวอาจไม่ได้รับการตอบรับดีเท่ากับคอนเทนต์รูปแบบอื่น ก็ยังยืนยันว่าอยากนำเสนอ อยากให้เด็กรุ่นใหม่เห็นว่าการเป็นแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก อยากให้ภูมิใจกับสิ่งที่เลือกและเป็น ส่วนคนรุ่นเก่าที่ยังไม่กล้าเปิดเผยตนเองก็อยากให้เปลี่ยนมุมมอง เพราะเชื่อว่าคนในปัจจุบันเปิดใจยอมรับมากขึ้น และเข้าใจกับเรื่องเหล่านี้แล้ว ดังนั้นจึงควรออกมารณรงค์ให้คนอื่นๆ กล้าเปิดใจ เปิดตัวเอง และเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดี"
...
รู้สึกอย่างไรที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมแคมเปญ Proud to Be ระดับโลก...?
รู้สึกดีใจมากที่ได้รับเลือกจากยูทูบ ทำให้เราสามารถนำสิ่งที่อยากเปิดเผยออกมานำเสนอต่อสังคม และอาจสร้างแรงบันดาลใจที่ดีให้กับชาว LGBT ได้อีกด้วย
"ผมรู้ว่าตัวเองเป็นเกย์ตั้งแต่อายุ 15-16 ปี ทำให้รู้ว่าเราแตกต่างจากคนอื่นและอยากช่วยเหลือคนที่ยังปิดตัวเอง เพราะผมได้เลือกแล้วและยังได้แต่งงานกับผู้ชายไทยที่ผมรักเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ณ สหรัฐอเมริกา วันที่ผมยืนต่อหน้าครอบครัวและผู้ชายที่รัก รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่สังคมก้าวมาถึงจุดดังกล่าว จุดที่ยอมรับในความรักของคนทุกเพศ โดยหวังว่าสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันและการนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์จะทำให้โลกยอมรับและเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
แนะนำผู้ที่อยากเป็นครีเอเตอร์ สร้างสรรค์ผลงานวิดีโออย่างไร...?
สำหรับคนที่อยากเป็นครีเอเตอร์...อยากบอกว่าให้กล้าและลงมือทำ เริ่มจากสิ่งที่มีง่ายๆ เช่น ใช้กล้องสมาร์ทโฟนในการถ่ายทำ หรือยืมอุปกรณ์จากคนรอบข้าง แต่อย่าคาดหวังความสำเร็จจากผลงานแรกๆ เพราะอาจต้องใช้เวลาในการลองถูกลองผิด และขอให้เชื่อว่าผลงานจะต้องดีขึ้นเรื่อยๆ หากคุณได้ลองได้เริ่มต้น ขอให้มั่นใจและกล้าคิดกล้าทำ สิ่งสำคัญคือเลือกทำจากสิ่งที่ใกล้ชิดกับตนเอง เพื่อทำให้ได้ผลงานที่มาจากความรู้สึกที่อยากนำเสนออย่างแท้จริง.
...