สำหรับผื่นชนิดที่สองที่พบในโรคไข้เลือดออก จะมีลักษณะเป็นผื่นปื้นแดงคล้ายหัด ผื่นชนิดนี้จะพบได้ใน 3–5 วัน หลังจากผื่นชนิดแรกหายไป ผื่นชนิดนี้มักเริ่มที่หลังมือ หลังเท้า ซึ่งจะกระจายไปยังแขน ขา และลำตัวในภายหลัง แต่มักไม่พบที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า อาจพบจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายแทรกตามผื่นแดงด้วย นอกจากนี้ยังพบผื่นวงสีขาวแทรกอยู่ในปื้นแดงอีกที ทำให้ดูคล้ายเกาะสีขาวในทะเลสีแดง เชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายกำลังจัดการกับเชื้อ อย่างไรก็ตามผื่นชนิดนี้ไม่ได้พบแค่ในไข้เลือดออกเท่านั้น แต่ยังพบได้ในผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya Virus) ได้ด้วย ผื่นชนิดนี้ส่วนมากไม่มีอาการ แต่จะคันตามผิวหนังเพียงเล็กน้อย ประมาณ 16-27% ของผู้ป่วย ภายหลังผื่นหายจะกลายเป็นผิวปกติ ไม่ค่อยทิ้งรอยดำหรือแผลเป็น อาจพบอาการผิวหนังลอกเป็นขุยได้เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ในโรคไข้เลือดออกไม่จำเป็นต้องพบผื่นทั้ง 2 ชนิด
นอกจากนี้ในบางรายจะพบผื่นลักษณะเป็นจ้ำเลือดร่วมด้วย ซึ่งอาจพบเป็นจุดเล็กๆ หรือปื้นใหญ่ ซึ่งเป็นตัวบอกว่าเกล็ดเลือดในร่างกายต่ำลง ผื่นจ้ำเลือดนี้จะพบในไข้เด็งกี่ชนิดเลือดออกและไข้เด็งกี่ชนิดช็อก แต่ไม่พบในไข้เด็งกี่ชนิดธรรมดา
อาการทางเยื่อบุ เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุในช่องปาก มักพบในไข้เด็งกี่ชนิดเลือดออกและไข้เด็งกี่ชนิดช็อก มากกว่าไข้เด็งกี่ชนิดธรรมดา อาการที่พบได้แก่ ตาแดงที่เยื่อบุตาขาวและบริเวณตาขาว อาจพบตุ่มน้ำและรอยถลอกที่เพดานปาก รวมทั้งอาการแดงและแห้งเป็นขุยที่ริมปากและลิ้น หากเกล็ดเลือดต่ำ อาจพบเลือดกำเดาออก หรือเลือดออกที่บริเวณเหงือกได้ อาการทางเยื่อบุเป็นอาการที่ไม่จำเพาะในผู้ป่วยทุกราย และสามารถพบการเปลี่ยนแปลงทางเยื่อบุได้ในการติดเชื้อชนิดอื่นได้ด้วย
...
สำหรับการรักษา ยังไม่มีการรักษาจำเพาะสำหรับอาการทางผิวหนัง ส่วนมากผื่นจะค่อยๆ หายไปได้เอง เมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถจัดการกับเชื้อไวรัสได้ โดยหากผู้ป่วยมีอาการคัน อาจรักษาด้วยการรับประทานยาแก้คันเพื่อบรรเทาอาการคันได้.
นายแพทย์วาสนภ วชิรมน
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี