ก็เรียกความฮือฮาได้มากทีเดียว “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง อดีตรัฐมนตรีคลัง ไปบรรยายในห้องเรียนหลักสูตรอสังหาริมทรัพย์ว่า “เศรษฐกิจไทยวันนี้อยู่ในสภาพเป็นรูปตัวแอล (L) พื้นไม่เรียบ” พอคนเห็นว่าเศรษฐกิจดีก็บริโภค แต่เมื่อเศรษฐกิจไม่ฟื้นจริง ก็จะหยุดบริโภค ยังมองไม่เห็นว่าจะกระดกขึ้นตอนไหน แม้ภาคอสังฯจะยังดีอยู่ แต่วันข้างหน้าก็ต้องลดลง ถ้าเศรษฐกิจยังเป็นเช่นนี้ ปีหน้าหรือปีต่อไป อาจเห็นการปลดคน

ดร.โกร่ง ระบุว่า สถานการณ์แบบนี้จะอยู่ไปอีกอย่างน้อย 3-5 ปี ตามทฤษฎีเศรษฐกิจไทยที่มีวัฏจักร 10 ปี ขึ้น 5 ปี ลง 5 ปี ขณะนี้ลงมา 2 ปีแล้ว เหลืออีก 3 ปี แต่สิ่งที่มั่นใจก็คือ ประเทศไทยจะไม่ล้มละลายแน่นอน เพราะ ภาคการเงินแข็งแรงมาก

ดร.โกร่ง ชม ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯเศรษฐกิจ ว่า เข้าใจสถานการณ์ดีกว่าสหรัฐฯและยุโรป ที่หันมาใช้ นโยบายการคลัง แทน นโยบายการเงิน ที่ใช้ไม่ได้ผลแล้ว โดยให้รัฐบาลเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หลังจากที่เอกชนไม่ลงทุน เงินในประเทศมีมากกว่า 6 ล้านล้านบาท ต้องเอาไปลงทุนพันธบัตรสหรัฐฯได้ดอกเบี้ยต่ำแค่ 0.25% หากลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตอนนี้ แค่ราคาปูนก็กำไรมากกว่า 0.25% แล้ว

ปัญหาเศรษฐกิจของไทยในวันนี้ ดร.โกร่ง บอกว่า เกิดจากความไม่เข้าใจเศรษฐกิจของรัฐบาลมากกว่า ก็ไม่รู้ ดร.โกร่ง หมายถึงใคร เพราะเพิ่งชม ดร.สมคิด ไปหยกๆ ดร.โกร่ง ยังได้เสนอทางออกว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องทำต่อจากนี้ คือ ปฏิรูประบบราชการ ให้เป็น “รัฐบริการ” ไม่ใช่ “รัฐปกครอง” ซึ่งเป็นข้อแนะนำที่ดีมากๆ

แต่ข้อเสนอนี้คงเป็นไปยากในยุคนี้

ผมเห็นด้วยกับ ดร.โกร่ง ว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยวันนี้เกิดจากความไม่เข้าใจของรัฐบาลมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในระบบราง เพื่อสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ ขนส่งคนและสินค้าในราคาถูก เพื่อลดต้นทุน แทนที่รัฐบาลจะไปเร่งผลักดันการลงทุนในระบบ “รถไฟทางคู่” โดย สร้างทางรถไฟเส้นใหม่ คู่ขนานไปกับทางรถไฟเดิม ซึ่งวิ่งผ่านเมืองและชุมชนเศรษฐกิจอยู่แล้ว จะสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและชุมชนทั่วประเทศมหาศาล การลงทุนก่อสร้างก็ถูกกว่า

...

แต่ รัฐบาลกลับไปเร่งสร้างรถไฟความเร็วสูง 250 กม./ชม. แถมตั้งเป้าจะสร้างใหม่ 4 เส้นทางคือ กรุงเทพฯ-โคราช, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-หัวหิน, กรุงเทพฯ-พัทยา โดยใช้เงินลงทุนราว 5-7 แสนล้านบาท ซึ่งผมเขียนติงไปเมื่อวานถึง รถไฟความเร็วสูงสายโคราช ค่าก่อสร้าง 170,000-190,000 ล้านบาท ที่ กระทรวงคมนาคม เร่งให้ก่อสร้าง ทั้งๆที่ยังออกแบบไม่เสร็จ การศึกษาสิ่งแวดล้อมและความคุ้มทุนก็ยังไม่เสร็จที่น่าเกลียดคือ ให้สร้างไว้ก่อน 3.5 กม. ที่สถานีรถไฟเล็กๆ “กลางทาง” ระหว่าง กรุงเทพฯ กับ โคราช ไม่รู้คิดได้ไง

วันก่อน คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกฯ อดีตรัฐมนตรีคมนาคม ไปเล่าให้ นักศึกษาหลักสูตร วธอ.3 ฟังว่า ได้ทดลองนั่งรถไฟจาก หัวลำโพง ไป หัวหิน ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงครึ่ง โดยรถไฟได้แวะให้ไหว้พระปฐมเจดีย์เกือบ 40 นาที ถ้าไม่หยุดไหว้พระก็ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง หรือเกือบ 3 ชั่วโมง พอๆกับรถยนต์ ถ้ารถไม่ติด ในอนาคตถ้ามีรถไฟทางคู่ ไม่ต้องหยุดรอสับหลีก ก็จะใช้เวลาราวชั่วโมงครึ่ง

เห็นไหมครับ แค่รถไฟธรรมดา วันนี้วิ่งช้าอยู่แล้ว ยังใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง ถ้ามี รถไฟทางคู่ ก็จะใช้เวลาแค่ ชั่วโมงครึ่ง แถมสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นตามเส้นทางด้วย ไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินเป็นแสนล้านสร้าง รถไฟความเร็วสูง 250 กม./ชม. ไปหัวหินเลย

ถ้ารัฐบาลเข้าใจเศรษฐกิจ เงิน 5-7 แสนล้านบาท ที่จะเอาไปสร้างรถไฟความเร็วสูง เปลี่ยนไปสร้างรถไฟทางคู่ธรรมดาความเร็ว 160 กม./ชม. ตามเส้นทางรถไฟเดิม และขยายเส้นทางไปสู่จังหวัดและอำเภอที่ยังไม่มีรถไฟ ผมเชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยและคนไทยมหาศาล กระจายรายได้ กระจายความเจริญ ไปอย่างทั่วถึงทุกภาค มากกว่ารถไฟความเร็วสูง 4 สายไม่รู้กี่เท่า.

“ลม เปลี่ยนทิศ”