จะเปลี่ยนวิกฤติ “ธรรมกาย” ...ให้เป็นโอกาสได้อย่างไร? เป็นคำถามที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เปิดประเด็นสะท้อนมุมมองเอาไว้น่าสนใจ
“วิกฤติธรรมกาย”...เป็นวิกฤติชาวพุทธไทย ไม่ใช่วิกฤติพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาหมายถึง คำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวพุทธไทยวิกฤติมากกว่าธรรมกาย และเพราะชาวพุทธไทยวิกฤติจึงเกิดวิกฤติธรรมกาย ...วิกฤติชาวพุทธไทยเกิดจากความไม่เข้าใจหลักพุทธธรรม และปฏิบัติตามหลักพุทธธรรม ทำให้เกิดความผิดเพี้ยนต่างๆ นานา ...การที่โลกวิกฤติและไม่หายวิกฤติ เพราะต้องอยู่กับ “อำนาจ” และ “เงิน”
พุทธศาสนาสอนให้ถอนตัวออกจากโลภะ โทสะ โมหะ โดยเรียกทั้ง 3 นี้ว่า “อกุศลมูล”...ในพระไตรปิฎกเต็มไปด้วยคำสอนให้ละอกุศลมูล เงินเป็นพาหะโลภะ เมื่อเงินมีขนาดใหญ่อย่างไม่มีที่สิ้นสุดก็ทำให้โลภะใหญ่ขึ้นอย่างสุดๆ อำนาจและเงินเชื่อมโยงกันไปมา คือใช้อำนาจแสวงหาเงินและใช้เงินแสวงหาอำนาจ เงินและอำนาจนำไปสู่ความรุนแรงหรือโทสะ ทั้งโลภะและโทสะ เกิดจากความหลงผิดไปหรือโมหะ และทั้งโลภะและโทสะทำให้โมหะมากขึ้น...โลภะ...โทสะ...โมหะ จึงสัมพันธ์กันเป็นเกลียว ส่งให้อกุศลมูลมีกำลังมากขึ้น
ต้องแยกระหว่างผู้มีศรัทธาในวัดพระธรรมกายที่มาปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ กับผู้มีอำนาจกำหนดทิศทางของธรรมกาย...ผู้มาปฏิบัติธรรมก็คงไม่รู้อีโหน่อีเหน่โดยเห็นว่ามาปฏิบัติสมาธิภาวนาก็เป็นของดี แต่ที่เกิดเรื่องใหญ่ขึ้นก็เพราะทิศทางของธรรมกายเป็นทิศทางแห่งอำนาจและเงิน ซึ่งไม่ต่างจากแนวคิดแนวทางของมหาอำนาจ
ครั้งพุทธกาลพระพุทธองค์ พระสงฆ์สาวก เป็นปัญญาชนที่บรรลุธรรมเป็นอิสระมีความองอาจ มีวิมุติสุข กินน้อยใช้น้อย อยู่ตามโคนไม้ เรือนร้าง สอน...เป็นตัวอย่างในการดำรงชีวิตให้กับคนทั่วไป ตั้งแต่ยาจกจนถึงเศรษฐี พระราชา ท่านเป็นอิสระจากรัฐ จะเรียกว่าอยู่เหนือรัฐก็ได้ ไม่มีอำนาจรัฐอะไรจะมาแต่งตั้งท่านเป็นนั่นเป็นนี่
...
ในอนัตตลักขณสูตรที่ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ที่พอสดับจบก็บรรลุเป็นพระอรหันต์มีคำที่เป็นกุญแจอยู่ว่า ...เนตัง มะมะ=นั่นไม่ใช่ของเรา...เนโส หะมัสมิ=นั่นไม่ใช่เรา...นะเมโส อัตตาติ=นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา โดยสรุปหัวใจของพุทธศาสนาคือการไม่ต้องติดอยู่กับ “ตัวกู ของกู”
ในประเทศไทย โดยประวัติศาสตร์รัฐเข้ามาควบคุมคณะสงฆ์ จัดการปกครองคณะสงฆ์ แบบระบบราชการ พระสงฆ์จึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับอำนาจ ลาภ ยศ สักการะ มีเสนาสนะ โออ่า บริบูรณ์ด้วยเครื่องอุปโภคบริโภคแบบวัตถุนิยม และสะสมเงินทองจนร่ำรวยก็มี
ท่ามกลางวิกฤติชาวพุทธไทย ยังนับว่าโชคดีที่มีพระมหาเถระอย่างท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ และพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ที่ทบทวนหลักพุทธธรรมที่แท้และนำมาเผยแผ่ ที่มีผู้ศึกษาตามจำนวนไม่น้อย
สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวัฒโน) สมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้ถึงพร้อมทั้งทางปฏิบัติและปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา อย่างงดงามยิ่ง ยังมีชาวพุทธอีกจำนวนหนึ่งทั้งพระและฆราวาส ที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เข้าใจหลักพุทธธรรม...ทว่าขณะนี้โลกวิกฤติอย่างยิ่ง ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งระหว่าง “คน” กับ “คน” และระหว่าง “คน” กับ “สิ่งแวดล้อม”
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติคือความเป็นธรรม แทนที่จะมีความเป็นธรรมกลับมีความเหลื่อมล้ำอย่างสุดๆ ความเหลื่อมล้ำนำไปสู่ปัญหานานาประการรวมทั้งความขัดแย้งและความรุนแรง
“วิกฤติโลก”...เกิดขึ้นท่ามกลางความก้าวหน้าทางความรู้และเทคโนโลยีอย่างยิ่ง แต่ยังไม่สามารถทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และไม่มีหวังอันใด ว่าความรู้และเทคโนโลยีในทำนองเดียวกันที่มากยิ่งขึ้น จะช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ ตราบใดที่...โลภะ โทสะ โมหะ หรืออกุศลมูลยังครอบงำมนุษย์อยู่
มนุษยชาติไม่มีทางไปต่อไปด้วยการพัฒนาในระนาบหรือภพเดิม โดยไม่วิกฤติ...คงต้องหันมามองศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์
ในทางชีววิทยาแม้มนุษย์เป็นสัตว์และวิวัฒนาการมาจากสัตว์ ดังเช่น มนุษย์กับชิมแปนซีมีดีเอ็นเอที่มีความยาว 3 พันล้านตัวอักษรต่างกันไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ แต่มนุษย์มี “สมองส่วนหน้า” ที่เรียกว่า cerebral cortex ที่พอกขึ้นมาใหญ่มาก ทำให้มนุษย์เก่งเหนือสัตว์อื่นๆ ใช้ความเก่งนี้เอาเปรียบสัตว์อื่นๆ เข้าครอบครองโลกแทนสัตว์ ทำลายสัตว์สูญพันธุ์ไปเป็นอันมาก ทำลายสิ่งแวดล้อมจนธรรมชาติของโลกแทบสูญสิ้น
นอกจากนั้นมนุษย์ยังเอาเปรียบกันเองจนเกิดความขัดแย้ง รุนแรง และสงคราม แต่สมองมนุษย์นอกจากเก่งแล้วยังมีศักยภาพอีกแบบหนึ่งคือ “ศักยภาพด้านดี”...สามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของเพื่อนมนุษย์ ... เกิดความเห็นใจ และอยากทำเพื่อเพื่อนมนุษย์
ดังที่กล่าวว่ามี “เมล็ดพันธุ์แห่งความดี”...อยู่ในหัวใจ สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับสังคมนี้เรียกว่า “social brain”...เมื่อทำความดีแล้วจะเกิดความปีติ ความอิ่มสมบูรณ์ในตัวเอง จนอาจกล่าวว่า...มนุษย์ขาดความดีไม่ได้ จะทำให้ขาดความสมบูรณ์ในตัวเอง ...จะเห็นได้ว่ามนุษย์หนีไปหาวัตถุนิยมมากในระยะไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา แม้ร่ำรวยเงินทองก็รู้สึกขาดความสมบูรณ์ในตัวเอง ต้องไปหาอะไรมาเติม เช่น ยาเสพติด ความฟุ่มเฟือย ความรุนแรง
ซึ่งก็ไม่สามารถ...เติมเต็มให้ชีวิตที่ขาดความสมบูรณ์ในตัวเองธรรมชาติเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) ไปตามเหตุปัจจัยหรือความเป็นเหตุเป็นผล เป็นกระแสของเหตุปัจจัย (อิทัปปัจจยตา)...อันไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีตัวตน...(อนัตตา) ที่แยกส่วนเป็นเอกเทศ
...ความจริงตามธรรมชาติเป็นเช่นนั้นเอง
...
แต่มนุษย์เพราะความไม่รู้ (อวิชชา)...เข้าไปยึดมั่นในตัวตน (อัตตา) ซึ่งทำให้ขัดแย้งกับความเป็นจริง ความขัดแย้งคือทุกขตาอาการของอัตตาก็คือโลภะ โทสะ โมหะ อันก่อให้เกิดความทุกข์แก่ตนเองและผู้อื่น แต่ศักยภาพสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์คือ ศักยภาพในการเข้าถึงความจริงตามธรรมชาติที่ไม่มีอัตตา
การเข้าถึงความจริงตามธรรมชาตินี้เมื่อประสบเข้าแล้วมนุษย์ไม่รู้ว่าจะเรียกสภาวะนี้ว่าอะไร จึงเรียกต่างๆ กัน เช่น การเข้าถึงสิ่งสูงสุด การบรรลุธรรม (ชาติ) ...การเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า การเข้าถึงปรมาตมัน... การตื่นรู้ (Awakening) การบรรลุความเป็นทิพย์ เป็นคนใหม่...ผู้ที่เข้าถึงความจริงตามธรรมชาติจะเกิดสภาวะใหม่โดยสิ้นเชิง
คือ...มีความเป็นอิสระ เบาสบาย มีความสุขอันลึกล้ำ ที่เรียกว่า “วิมุติสุข” ประสบความงามอันล้นเหลือ เพราะความจริงตามธรรมชาติเป็นความงาม เกิดไมตรีจิตอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง อันเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ปฏิปทาทางพุทธศาสนาที่เรียกว่าสันติวรบทนั้น...มุ่งสู่การบรรลุศักยภาพอันสูงสุดของมนุษย์
ไม่เกลือกกลั้วกับอำนาจและเงิน เส้นทางแห่งศีล สมาธิ ปัญญา นั้นมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่...“ปัญญา” หรือ “การบรรลุความจริง” แม้สมาธิเป็นมรรคส่งต่อไปสู่ปัญญาก็ไม่ใช่สิ่งสูงสุดที่หยุดอยู่ที่นั่น การทำสมาธิแล้วเกิดนิมิตเป็นรูปพระหรือดวงแก้วหรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นเพียงนิมิตไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่กายแห่งธรรมที่ควรยึดติด ดังที่นำมาสอนกันผิดๆแล้วเกิดข้อถกเถียงว่า...“นิพพาน” เป็น...“อัตตา” หรือ...“อนัตตา” แต่ต้องทิ้ง...“นิมิต” มุ่งสู่...“ปัญญา”
ชาวพุทธไทย ทั้งพระและฆราวาสทั้งสาวกของธรรมกายหรือมิใช่ ในยามวิกฤติธรรมกายและวิกฤติโลก ถือเป็นโอกาสที่จะทำความเข้าใจหลักพุทธธรรมที่แท้และปฏิปทา เพื่อปูทางไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ?
...
เรามีวัดทั่วประเทศกว่า 30,000 วัด ถ้าทั้งพระและฆราวาสช่วยกันพัฒนาวัดให้เป็นสัปปายสถาน และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนในการปฏิบัติที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งมีการพัฒนาอย่างบูรณาการ ทั้งทางเศรษฐกิจ...จิตใจ...สังคม...วัฒนธรรม...สิ่งแวดล้อม...สุขภาพ...การศึกษา ...ประชาธิปไตย
ชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เข้มแข็ง “ชุมชนเข้มแข็ง”...ปฏิบัติธรรมอยู่ในตัว เสริมด้วยการเจริญสันติสมาธิและปัญญาจะยิ่งเป็นสังคมอาริยะ ผู้คนมีความสุขประดุจบรรลุนิพพาน...พ้นวิกฤติโลก.