คณะวิจัยจาก ม.เทคโนโลยีสุรนารีและเจ้าหน้าที่อุทยานผีเสื้อ เดินทางสำรวจป่าต้นน้ำลำแชะอุทยานแห่งชาติทับลาน พบผีเสื้อกลางวันกว่า 18 ชนิด คาดระบบนิเวศมีความสมดุลและป่ามีความอุดมสมบูรณ์

ดร.รุจ มรกต อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช สำนักวิชาการเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมกับ นักศึกษาบัณฑิตศึกษา ม.เทคโนโลยีสุรนารี และเจ้าหน้าที่อุทยานผีเสื้อเฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา เดินทางเข้าไปสำรวจปริมาณและระบุสายพันธุ์ผีเสื้อกลางวันในพื้นที่เขตต้นน้ำมูล เหนือเขื่อนลำแชะ เขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ท้องที่ ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา

...

น.ส.สุกัญญา ลาภกระโทก หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวว่า จากการสำรวจผีเสื้อกลางวันบริเวณป่าต้นน้ำเขื่อนลำแชะ เพียงจุดเดียวคือบริเวณริมลำธารหางเขื่อนลำแชะ พบผีเสื้อกลางวัน 18 ชนิด ได้แก่

ผีเสื้อหางดาบธรรมดา (Graphium antiphates)
ผีเสื้อหางดาบลายจุด (Graphium nomius)
ผีเสื้อหางดาบลายขีด (Graphium aristeus)
ผีเสื้อหนอนจำปีธรรมดา (Graphium agamemnon)
ผีเสื้อหนอนจำปีจุดแดงต่อ (Graphium arycles)
ผีเสื้อหนอนจำปีจุดแยก (Graphium doson)
ผีเสื้อม้าลายลายจุด (Graphium megarus)
ผีเสื้อเหลืองสยามธรรมดา (Cepora iudith)
ผีเสื้อเหลืองสยามลายขีด (Cepora nerissa)
ผีเสื้อเหลืองสยามขอบดำ (Cepora nadina)
ผีเสื้อหนอนใบกุ่มธรรมดา (Appias albina)
ผีเสื้อหนอนใบกุ่มขอบตาลไหม้ (Appias lyncida)
ผีเสื้อหนอนใบกุ่มเส้นดำ (Appias libythea)
ผีเสื้อปลายปีกส้มใหญ่ (Hebomoia glaucippe)
ผีเสื้อปลายปีกส้มเล็ก (Ixias pyrene)
ผีเสื้อหนอนคูนธรรมดา (Catopsilia pomona)
ผีเสื้อแผนที่ลายหินอ่อน (Cyrestis cocles)
ผีเสื้อฟ้าดอกถั่วสีเงิน (Catochrysops panormus)

ทั้งนี้ความหลากหลายของผีเสื้อกลางวันที่พบสามารถบ่งชี้ให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผีเสื้อส่วนใหญ่นั้นจะกินพืชอาหารเฉพาะที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตามยิ่งพบชนิดพันธุ์ของผีเสื้อหลากหลายมากชนิดเท่าใด ก็แสดงให้เห็นว่าผืนป่าก็ยังคงมีความหลากหลายของพืชมากชนิดเช่นเดียวกัน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการลงพื้นที่สำรวจระบุสายพันธุ์ของผีเสื้อบริเวณนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง และอาจจะมีการเก็บตัวอย่างเพื่อรวบรวมบันทึกของมูลไว้ให้ได้ทำการศึกษาและเผยแพร่ต่อไปด้วย

...

(ภาพจาก : มหา'ลัย เครดิตภาพ นายประชาธิป มากมูล ขอบคุณทีมงาน ปชส.มทส.)