ศุกร์สุขภาพประจำสัปดาห์นี้ขอนำเสนอเกี่ยวกับอาการของไข้เลือดออก เพื่อเป็นแนวทางในการเฝ้าสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ป้องกันหรือรักษาได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

ระยะที่ 1 : ระยะไข้สูง
มีไข้จะสูง 2–7 วัน แม้จะรับประทานยาลดไข้ แต่ไข้ก็มักจะไม่ลด มีอาการหน้าแดง ตาแดง ซึม มักเบื่ออาหารและอาเจียนร่วมด้วย บางรายอาจปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวา ส่วนมากไม่มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรือไอ ประมาณวันที่ 3 อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามใบหน้า แขน ขา ซอกรักแร้ ในช่องปาก อาจคลำพบตับโต กดเจ็บ บางรายมีอาการรุนแรงและปรากฏอาการระยะที่ 2 ต่อไป

ระยะที่ 2 : ระยะช็อกและมีเลือดออก
มักเกิดช่วงวันที่ 3–7 ไข้จะเริ่มลดลง แต่ผู้ป่วยกลับมีอาการทรุดหนัก มีภาวะช็อก เช่น ซึม ตัวเย็น เหงื่อออก ชีพจรเบาและเร็ว ความดันโลหิตต่ำ นอกจากนี้อาจมีเลือดออกตามส่วนต่างๆ เช่น เลือดออกตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ระยะนี้กินเวลาประมาณ 24–72 ชม. ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

ระยะที่ 3 : ระยะฟื้นตัว
ในรายที่ได้รับการรักษาถูกต้องและทันเวลา มีภาวะช็อกไม่รุนแรง อาการต่างๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มรับประทานอาหารได้ หรือลุกนั่งได้

...

การรักษา
ถ้าอาการไม่รุนแรง มีเพียงไข้สูง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ยังไม่มีอาการเลือดออกหรือภาวะช็อก ควรปฏิบัติดังนี้
1. ให้ผู้ป่วยพักผ่อนมากๆ หากมีไข้สูง ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ และให้ยาลดไข้พาราเซตามอล (ห้ามใช้แอสไพรินโดยเด็ดขาด) ถ้าเป็นผู้ป่วยเด็กและเคยชัก ควรให้รับประทานยากันชักไว้ก่อน เฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
2. ถ้าผู้ป่วยอาเจียนมาก มีภาวะช็อก หรือเลือดออก ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

เราสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้โดยการดูแลบริเวณบ้านให้สะอาด อย่าให้มีน้ำขัง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถหลีกเลี่ยงโรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อดังกล่าวมาสู่สมาชิกในครอบครัวและคนรอบข้างได้

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี