“พรเพชร” กระตุก กกต. ในฐานะเจ้าของร่าง ก.ม.ประชามติ ช่วยกันชี้แจงแก้ปัญหา กรณีถูกยื่นศาล รธน.ตีความมาตรา 61 วรรค 2 เตรียมส่ง “สมเจตน์” ชี้แจงตุลาการศาล รธน. เจ้าตัวพร้อมไปในฐานะทำมากับมือ ยัน “ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย” ความหมายชัดเจน ไม่คลุมเครือ ชี้แม้คำวินิจฉัยชี้ว่าขัด รธน. ประชามติไม่ต้องเลื่อน พร้อมใช้ ก.ม.อื่นทดแทนเอาผิดปิดปากพวกบิดเบือน พท.ชี้ไม่มีเหตุผลอะไรสั่งเลื่อนประชามติ พร้อมวอนศาล รธน.เร่งวินิจฉัยชี้ขาด “จตุพร” ชี้โพรงจับอาการ “บิ๊กตู่-พรเพชร” เห็นสัญญาณประชามติทำต่อหรือเลิก ฟันธงแนวโน้มล้มโต๊ะแน่ เพราะรู้ผลแพ้ยับเยิน เช่นเดียวกับ “นิติราษฎร์” ระบุถ้าส่อเค้าไปไม่รอด ไม่เลื่อนก็เลิกเลย “สวนดุสิตโพล” ห่วง ประชามติจุดชนวนขัดแย้ง กังวลเรื่องความโปร่งใส
สืบเนื่องจากกรณีที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 วรรค 2 มีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวหรือไม่ จึงเกิดประเด็นตามมาว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้การลงประชามติวันที่ 7 ส.ค.2559 ต้องเลื่อนออกไปหรือไม่นั้น
“พรเพชร” เปล่าพูดเลื่อนประชามติ
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยให้ข่าวว่าจะต้องเลื่อนการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.2559 ออกไป หากศาล รัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะตามคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน และไม่เคยส่งสัญญาณให้เลื่อน การออกเสียงประชามติตามที่เป็นข่าว ตนเพียงให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้ พ.ร.บ.ประชามติยังมีผลบังคับใช้อยู่โดยสมบูรณ์ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสอง เป็นโมฆะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องพิจารณาว่ากฎหมายที่คงอยู่จะกระทบต่อการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและเป็นธรรมหรือไม่
...
กระตุก กกต.ช่วยกันแก้ปัญหา
นายพรเพชรกล่าวว่า ถ้า กกต.เห็นว่าต้องมีกลไกทางกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้การทำงานของ กกต.ไม่มีปัญหา สนช.ก็พร้อมดำเนินการ ขณะนี้ สนช.เตรียมการชี้แจงกระบวนการพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติ โดยมอบหมายให้ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติ และนายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช. เตรียมพร้อมทำคำชี้แจงข้อมูลความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหากมีคำสั่งรับไว้พิจารณา และรอความชัดเจนคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินว่ามีประเด็นใดบ้าง ดังนั้น กกต.ในฐานะเจ้าของร่าง กฎหมายควรช่วยกันชี้แจงและแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากบทบัญญัติกฎหมาย
“สมเจตน์” พร้อมไปชี้แจงศาล รธน.
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิก สนช. ใน ฐานะอดีตประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. มอบหมายให้เป็นผู้ไปชี้แจงข้อมูล พ.ร.บ.ประชามติต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า พร้อมไปชี้แจง เพราะทำกฎหมาย ฉบับนี้มากับมือในชั้น สนช. ยืนยันว่า พ.ร.บ.ประชามติไม่มีเจตนารมณ์สกัดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และคำว่าก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ใน มาตรา 61 วรรคสอง มีความหมายชัดเจน เป็นที่เข้าใจของสังคมดี ไม่คลุมเครือ แต่เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพราะเห็นว่าคลุมเครือ ก็ไม่ติดใจ อาจมีความเห็นไม่ตรงกันได้ เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าแม้จะเป็นช่วงการรัฐประหาร แต่ประชาชนมีสิทธิใช้ช่องทางร้องเรียนเพื่อทวงสิทธิการแสดงความเห็นได้ ไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิ
ใช้ ก.ม.อื่นปิดปากพวกบิดเบือนได้
พล.อ.สมเจตน์กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า มาตรา 61 วรรคสอง ขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ก็คงวินิจฉัยในสองกรณีคือ 1.ให้ตัดถ้อยคำก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ออกจากวรรคสอง 2.ให้ตัดวรรคสองของมาตรา 61 ทิ้งไปทั้งวรรค หากศาลรัฐธรรมนูญให้ตัดถ้อยคำทิ้ง ก็ถือว่าถ้อยคำเหล่านี้ไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายประชามติ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุด ไม่จำเป็นต้อง เสียเวลานำกลับไปแก้เนื้อหาในชั้น สนช.อีกครั้ง ดังนั้น ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาทางใด จะไม่มีผลต่อการเลื่อนทำประชามติออกไป ตนพร้อม ยอมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในทุกกรณี ทั้งนี้หากมาตรา 61 วรรคสอง ไม่มีผลบังคับใช้จริง ก็ยัง มีกฎหมายฉบับอื่นมาใช้ทดแทนได้ อาทิ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.การพิมพ์ หรือ พ.ร.บ.การชุมนุมมาช่วยควบคุมฝ่ายที่ต้องการบิดเบือนเจตนารมณ์ ไม่ให้ฉวยโอกาสบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญได้
“นิคม” ชี้อาจมีเกมล้มโต๊ะประชามติ
นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 วรรคสอง ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีเจตนาดี ที่เห็นว่าการตีความคำในมาตราดังกล่าวยังคลุมเครือ แต่มันเข้าช่องพอดี ไทม์มิ่งได้ ศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องไว้ คำชี้ขาดจะออกมาอย่างไร ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่มีใครรู้ จะเป็นเงื่อนไขที่ฝ่ายรัฐบาลอ้างขอเลื่อนการทำประชามติออกไปได้หรือเปล่า ไม่มีใครแน่ใจ แต่สถานการณ์ออกได้หลายหน้า นักวิชาการบางกลุ่มยังออกมาบอกว่า อาจไม่มีการลงประชามติเกิดขึ้น ตนเชื่อเช่นกันว่าอาจจะไม่มีการลงประชามติก็ได้ เคยบอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าถ้ามีเงื่อนไขใดเกิดขึ้นมาเป็นไปได้ทั้งนั้น อีกทั้งขณะนี้เมื่อฝ่ายผู้ถือกฎหมายสับสน ไม่ว่าจะผู้ร่าง ผู้บังคับใช้ ผู้ปฏิบัติ ผู้ตรวจสอบ ยังเห็นไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันอีกด้วย
“สมพงษ์” จี้ศาล รธน.ชี้ขาดใน 7 วัน
นายสมพงษ์ สระกวี สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านการเมือง กล่าวว่า ทางออกดีที่สุด คือเมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้แล้ว จะปรับกี่ประโยค กี่คำพูด หรือยกออกทั้งฉบับ ควรดำเนินการให้เร็วที่สุด ไม่ควรเกิน 1 สัปดาห์ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับคนเป็นล้านๆ เกี่ยวข้องงบประมาณ ทั้งหน่วยงานราชการ ครู ก. ครู ข. ครู ค. ใช้เงินไป เยอะแล้ว ถ้าทำประชามติไม่ได้ จะทำอย่างไร คน จะได้รู้ว่าจะเดินทางไหนต่อ หรือถ้าอาจเห็นว่าประชามติคงไปไม่รอด จะอาศัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติตกไปทั้งฉบับ ก็ไม่มีใครว่าอะไร ตนเชื่อว่าเป็นไปได้ ศาล รธน.มักชี้ขาดเป็นคนสุดท้ายอยู่เสมอ ตั้งแต่ยุคพรรคการเมืองแล้ว มามัวเสียเวลาเรื่องนี้ จนประชาชนไม่พูดเรื่องเนื้อหารัฐธรรมนูญกับคำถามพ่วงกันแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญช่วยชาติได้ทางเดียวคือต้องฉับไว ไม่ต้องมีข้ออ้างอื่นใด วันนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ที่อาจยืดเวลาการวินิจฉัยไปได้
พท.ชี้ไม่มีเหตุผลเลื่อนประชามติ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เรื่องประชามติใครกันแน่ที่บิดเบือน สิ่งที่ประธาน กรธ. บอกสงครามโลกเกิดถึงจะเลื่อนวันลงประชามติ ตนกลับเห็นแย้ง เพราะถ้าไทยไม่ได้เข้าร่วมก็ไม่จำเป็นต้องเลื่อน ส่วนประเด็นมาตรา 61 วรรคสอง ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ก้าวร้าว รุนแรงและหยาบคาย” เป็นปัญหา ก็ไม่มีประโยชน์ที่ต้องเลื่อน ยกเว้นถ้าศาลวินิจฉัยล่าช้า เห็นปัญหาที่ผ่านมามีการบิดเบือนกฎหมายประชามติ จำกัดเสรีภาพผู้ที่เห็นต่างแสดงความเห็น จนประชาชนไม่ได้รับข้อมูลทั้งสองด้าน ไม่เป็นไปตามหลักสากล จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เห็นต่างได้แสดงความเห็นอย่างเพียงพอเสียก่อน อย่างนั้นพอมีเหตุผลเลื่อนได้
ปมปัญหาคือปิดกั้นฝ่ายเห็นต่าง
“แต่วันนี้ปัญหาจริงๆคือกฎหมายประชามติ มาตรา 7 ถูกละเมิดโดยผู้มีอำนาจ รวมทั้ง กรธ. ทำเสรีภาพแสดงความเห็นไม่ได้รับการคุ้มครอง ส่วนมาตรา 61 กำกวม ถูกใช้บิดเบือน เช่น ใส่เสื้อ ข้อความว่า รับ-ไม่รับ ทั้งๆที่ไม่ได้บอกว่า รับ-ไม่รับ อะไร แล้วถูกตีความผิดกฎหมาย หรือจัดเสวนาโดยไม่มีหน่วยราชการเข้าร่วม แจกเอกสารเผยแพร่ความคิดเห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ดีอย่างไร ก็ทำไม่ได้ กลายเป็นการบิดเบือน มีโทษร้ายแรง ถือเป็นการโกงประชามติอีกทางหนึ่ง ที่ไม่เป็นธรรมและไม่เสรี” นายจาตุรนต์กล่าว
วอนศาล รธน.เร่งวินิจฉัยคำร้อง
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเตรียมยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อความในมาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.ประชามติว่าขัด กับรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 หรือไม่ ว่า ข้อความที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคือคำว่า “ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย” เป็นเพียงการขยายข้อความในวรรคหนึ่ง ที่ห้ามก่อความวุ่นวายในการทำประชามติ การเขียนขยายความแบบนั้นทำให้ต้องตีความ ไม่ชัดเจนว่าเจตนารมณ์คืออะไร ผิดหลักการเขียนกฎหมาย ที่สำคัญมีโทษที่รุนแรงจำคุกมากสุดถึง 10 ปี ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญต้องรีบวินิจฉัย หากผลออกมาเห็นว่าควรแก้ไข สนช.ต้องรีบดำเนินการปรับแก้ถ้อยคำให้มีความชัดเจน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำให้กระทบกับกฎหมายทั้งฉบับ แต่ประเด็นคือจะมีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อไหร่ ถ้าใช้เวลานานก็จะมีผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายระหว่างการทำประชามติ ส่วนตัวเห็นว่าเมื่อมีความชัดเจนตรงนี้แล้ว คนที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญก็มีความปลอดภัยมากขึ้น เพราะรู้ว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ ไม่ต้องไปกังวลเกี่ยวกับการตีความอีก
นปช.ให้จับสัญญาณที่ “บิ๊กตู่–พรเพชร”
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวในรายการมองไกลผ่านยูทูบว่า ถึงการทำประชามติว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถูกล้มมาแล้วในขั้นตอนขอมติจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเป็นฐานเสียงรัฐบาล แต่งตั้งจาก คสช. เมื่อกล้าเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า นายบวรศักดิ์จึงเข้าใจฝ่ายอำนาจว่าเขาอยากอยู่ยาว ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นั้น นายมีชัยควรจับอาการของ พล.อ.ประยุทธ์ และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ในกรณีศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณากฎหมายประชามติขัดแย้งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หรือไม่ เพราะบุคคลทั้งสองคนนี้ สะท้อนพฤติกรรมยกเลิกทำประชามติไว้ชัดเจน ตนเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการยกเลิกการทำประชามติ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ามาตรา 61 วรรค 2 ของกฎหมายประชามติขัดรัฐธรรมนูญ และนายพรเพชรยังแสดงอาการให้ กกต. พิจารณาจะทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้ หรือไม่
ส่อเค้ายกเลิกเพราะรู้ว่าแพ้ยับเยิน
“คนสำคัญทั้งสองนั้นมีพฤติกรรมผ่านทั้งการล้มร่างรัฐธรรมนูญและยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้เลือกตั้ง เมื่อ 2 เม.ย. 2557 เป็นโมฆะมาแล้ว ผมคงไม่เชื่อนายมีชัย แม้ยืนยันไม่เลิกทำประชามติ แต่ขอเลือกเชื่ออาการของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งได้สะท้อนว่าผลทำประชามติ 7 ส.ค. จะออกมาแบบแพ้ยับเยิน จึงให้เดินหน้าไปถึงวันประชามติไม่ได้ จึงแสดงถึงการกลัว เพราะการทำประชามติเป็นสิ่งสะท้อนความ ต้องการของประชาชนต่อรัฐบาล จึงเกิดความวิตกกัน ถ้าเกิดแพ้ประชามติขึ้นมา นายมีชัยต้องรู้ว่าตัวเองไม่มีอำนาจ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ให้ทำงานคงต้องจบกัน ยิ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า ลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ เมื่อแป๊ะต้องการยกเลิกประชามติแล้ว จะยังค้านหรือ” นายจตุพรกล่าว
จี้นายกฯพูดชัดๆแผนเลวร้ายอะไร
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวในรายการมองไกลผ่านยูทูบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พบแผนการใครกำลังทำสิ่งเลวร้าย ถึงขั้นบอก พูดมากประเทศไม่ปลอดภัย ท่านรู้อะไรมา แล้วท่านจะมาอดทนกับคนที่มาทำให้ชาติไม่ปลอดภัยได้อย่างไร ถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วพบการกระทำดังกล่าว ท่านต้องอดทนไม่ได้ เมื่อทุกเรื่องท่านไม่เคยทนอะไรได้เลย แต่เรื่องเลวร้ายกับประเทศชาติกลับทนได้
“ผมไม่ได้มาระราน เพื่อจะมีปัญหากับท่าน ถ้าประเทศนี้ มีคนคิดแผนการเลวร้าย น่ากลัว แล้วประเทศไม่ปลอดภัยนั้น ผมเป็นคนไทย พล.อ.ประยุทธ์ต้องพูดออกมาเลยว่า ท่านพบอะไร เพื่อให้คนไทยรับรู้ และเตรียมรับมือกับสิ่งที่เลวร้ายนี้ เพราะชาติไม่ได้หมายถึงท่านคนเดียว ผมไม่รู้เรื่องดังกล่าวคืออะไร และผมเชื่อว่า ผู้นำไม่พูดอะไรลอยๆ ท่านต้องบอกคนไทยมาว่าท่านรู้อะไรมา ถ้าพูดแล้วจะหนาว น่ากลัว ประเทศไม่ปลอดภัย ผมเชื่อว่าคนไทยต้องการจะฟัง” นายจตุพรระบุ
“นิติราษฎร์” ถกไม่รับหรือบอยคอต
วันเดียวกัน เวลา 13.00 น. ที่ห้อง 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ คณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.จัดเสวนาเรื่อง “รัฐธรรมนูญ” เนื่องในโอกาสจัดพิมพ์หนังสือรัฐธรรมนูญ ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน โดยนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวถึงกรณีกระแสทอล์กออฟโซเชียลในกลุ่มผู้ต่อต้าน คสช.ที่เปิดประเด็นข้อถกเถียงกันอย่างร้อนแรงบนโลกออนไลน์ตลอดสัปดาห์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเรื่องที่ว่าสมควรจะไป vote no คือไปลงประชามติไม่รับ กับ no vote หรือการบอยคอต ไม่ไปลงประชามติ โดยนายวรเจตน์ระบุว่า สมมติว่ามีการแข่งขันชกมวยมีฝ่ายแดงกับฝ่ายน้ำเงิน ฝ่ายน้ำเงินชกได้เต็มที่ใช้อาวุธได้ทุกอย่าง ในขณะที่ฝ่ายแดงต้องชกแบบปิดตาข้างหนึ่ง ใช้หมัดได้ข้างเดียว แล้วเกิดการถกเถียงกันว่า กติกาแบบนี้ไม่น่าลงแข่ง เพราะไม่ยุติธรรม อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าให้ขึ้นไปชกเผื่อฟลุก ถามว่าถ้าขึ้นชกแล้วแพ้บนกติกาที่ไม่เป็นธรรมจะถือเป็นความพ่ายแพ้หรือ แล้วคนที่ชนะจะถือเป็นชัยชนะที่เป็นธรรมหรือไม่ การเข้าแข่งขันไม่ได้หมายความว่าจะยอมรับกติกาที่ไม่เป็นธรรม เพราะการออกแบบกติกาจะเป็นตัวกำหนดความชอบธรรมที่เหลือคือคนที่เข้าแข่ง วันหนึ่งถ้ามีกติกาที่เป็นธรรมเกิดขึ้นใหม่ ก็ลงแข่งใหม่ได้ ถ้าชนะจึงถือเป็นชัยชนะที่แท้จริง