(ภาพจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข)
รพ.สต.ในเขต อ.โพนพิสัย หนองคาย ร่อนหนังสือแจ้ง อสม. เตือนปชช.โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ห้ามเดินทางข้ามไป อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี ที่อยู่ติดกัน หลังพบชาวอำเภอสร้างคอมป่วย ติดเชื้อไวรัสซิกา เดินทางไปทำงานไต้หวัน และถูกกักตัวไว้...
วันที่ 28 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางนิรวรรณ อุดมวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสร้างนางขาว อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ได้ออกหนังสือประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนส่งไปยัง อสม.ทุกหมู่บ้านในตำบลสร้างนางขาว เป็นหนังสือที่ นค.0332.1(2)/83 เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2559 ระบุว่า
ทาง รพ.สต.สร้างนางขาว ได้รับแจ้งจากทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคายว่า พบผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคไวรัสซิกา ในพื้นที่ตำบลเชียงดา อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อกับตำบลสร้างนางขาว โดยไวรัสชนิดนี้มียุงลายเป็นพาหะนำโรค และเป็นเชื้อไวรัสที่ต้องแจ้ง รวมถึงสามารถติดต่อกันอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น จึงขอให้ อสม.ทุกหมู่บ้านเฝ้าระวังสถานการณ์ของการเกิดโรคร่วมกัน ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในหมู่บ้าน นอนกลางวันหรือกลางคืนต้องกางมุ้งทุกครั้งและห้ามให้ประชาชนในเขตรับผิดชอบเดินทางไปยังพื้นที่อำเภอสร้างคอม โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ห้ามเดินทางไปยังพื้นที่เกิดโรคเป็นอันขาด เพราะถ้าได้รับเชื้อจะทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ เมื่อพบว่ามีประชาชนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ผู้ที่สัมผัสโรคไวรัสหรือผู้ที่มีอาการไข้ ตาแดง มีผื่นขึ้น หลังจากซักประวัติแล้วพบว่ามาจากพื้นที่เกิดโรค ให้แนะนำไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสดังกล่าว และห้ามประชาชนในพื้นที่เดินทางไปยังอำเภอสร้างคอม เพราะหากเดินทางไปแล้วอาจจะได้รับเชื้อไวรัสซิกา กลับมายังพื้นที่ได้
...
คนอำเภอสร้างคอม ไปไต้หวัน ตรวจพบไข้ซิกา ถูกกักตัว
ส่วนที่ จ.อุดรธานี นพ.มิต ประสันนาการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 งานระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุข จ.อุดรธานี ได้รับแจ้งจาก สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 จ.อุดรธานี ว่า พบผู้ป่วยโรคไข้ซิกาในไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้เดินทางมาจาก อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี 1 ราย เดินทางไปทำงานที่ไต้หวัน และตรวจพบว่าเป็นไข้ซิกา ขณะนี้ถูกกักตัวเพื่อรับการรักษาที่สนามบินไต้หวัน หลังได้รับแจ้งรายงาน ได้ส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อควบคุมป้องกันโรคติดต่อของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 จ.อุดรธานี และเจ้าหน้าที่ในเขตรับผิดชอบ ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามผู้อาศัยร่วมบ้านกับผู้ป่วยจำนวน 5 ราย เพื่อดำเนินการควบคุมป้องกันโรค พร้อมทั้งเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิดตามเกณฑ์มาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ทั้งนี้ ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทั้งในระดับอำเภอและระดับจังหวัดเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและร่วมกับฝ่ายท้องถิ่นดำเนินการพ่นยากำจัดยุงตัวแก่ในเขตที่พบผู้ป่วยและใกล้เคียงเป็นที่เรียบร้อย ดำเนินการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน กำจัดลูกน้ำยุงลายและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ในหมู่บ้านที่พบผู้ป่วยและหมู่บ้านใกล้เคียง จัดทำแผนรณรงค์ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยความร่วมมือของฝ่ายท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่
นพ.สมิต เปิดเผยต่อไปว่า จากการเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิดร่วมบ้านผู้ป่วยทั้ง 5 ราย พบว่า แม่ผู้ป่วยมีผื่นเล็กน้อย ไม่มีไข้ ส่วนรายอื่นๆ ไม่มีอาการผิดปกติ ซึ่งจะต้องติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่องเป็นเวลา 28 วัน หากพบมีอาการผิดปกติจะได้ดำเนินการกักตัวและควบคุมโรคทันที นอกจากนี้ยังตรวจเลือดและปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์ในเขตรับผิดชอบทุกรายเพื่อเฝ้าระวังโรค
"โรคไข้ซิกาเกิดจากเชื้อไวรัสซิกา มียุงลาย เป็นพาหะนำโรค มีระยะฟักตัวเฉลี่ย 4-7 วัน สั้นที่สุด 3 วัน และยาวที่สุด 12 วัน อาการที่พบบ่อย คือ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ข้อบวม ปวดหลัง ผู้ป่วยอาจมีอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรง ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจทำให้เด็กทารกที่คลอดมามีสมองเล็ก หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว สามารถไปรับการตรวจได้ที่ รพ.สต.และโรงพยาบาลชุมชนทุกอำเภอ และขอความร่วมมือให้ประชาชนกำจัดลูกน้ำยุงลายและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเป็นประจำทุกสัปดาห์ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไข้ซิกา ไม่ได้ร้ายแรงเหมือนไข้เลือดออก เมื่อพบเชื้อให้เข้ารักษา และอยู่ในพื้นที่ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ป่วย ก็สามารถไปเดินทางไปมาหาสู่กันได้ตามปกติ อย่าตื่นตระหนก สำหรับแรงงานชายไทยที่ถูกกักตัวรักษาไช้ซิกาในสนามบินไต้หวัน ได้เดินทางเข้าไปทำงานตามปกติ" นพ.สมิต กล่าว