ศาลเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีโรงงานอบลำไยระเบิดที่สันป่าตอง มีคนตาย 36 คน สู้คดีถึง 17 ปี ให้จำคุกและออกหมายจับจำเลยทั้ง 3 คน ชาวบ้านครวญ จำเลยติดคุกหมดแล้วใครจะชดใช้ที่ฟ้องแพ่งไป 206 ล้าน...

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 พ.ค. 59 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 15 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นายชมเชษฐ์ จรัสกร ผู้พิพากษาศาล ได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ 5822/2542 คดีหมายเลขแดงที่ 4308/2556 ที่พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่พร้อมโจทก์ร่วม 17 คน ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 คือ บริษัท หงษ์ไทยเกษตรพัฒนา จำกัด จำเลยที่ 2 นายปธาน ตรีฉัตร ผู้จัดการ จำเลยที่ 3 นายเทิดพันธ์ ฉันทะโรจน์ศิริ ประธานกรรมการบริหารบริษัท และจำเลยที่ 4 นายลีหง เหิน หุ้นส่วนชาวไต้หวัน ในฐานความผิด พ.ร.บ.โรงงาน โดยมีญาติของผู้เสียชีวิตและประชาชนเจ้าของบ้านพักที่อาศัยรอบโรงงานที่ได้รับความเสียหายเกือบ 30 คน เดินทางมาร่วมรับฟังด้วย

ทั้งนี้ เหตุการณ์ เกิดขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2542 ที่โรงงานลำไยอบแห้งของบริษัทหงษ์ไทยเกษตรพัฒนา จำกัด ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ สาเหตุของการระเบิดเนื่องจากขนย้ายสารโพแทสเซียมคลอเรตเข้ามาเก็บไว้ในโรงงานทำให้เกิดการอัดและระเบิดขึ้น หลังเหตุระเบิดส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 36 ราย บาดเจ็บ 102 ราย และบ้านเรือนเสียหาย 571 หลังคาเรือน ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นมากกว่า 100 ล้านบาท

...

คดีนี้ ศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้ผู้บริหารโรงงานมีความผิดในข้อหาโยกย้ายยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาตและข้อหาต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษจำคุก 1 ปี แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี และสั่งปรับเงิน 90,000 บาท ส่วนข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลยกฟ้องจำเลย ประกอบด้วย จำเลยที่ 1 คือ บริษัทหงษ์ไทยเกษตรพัฒนา จำกัด จำเลยที่ 2 นายปธาน ตรีฉัตร ผู้จัดการ จำเลยที่ 3 นายเทิดพันธ์ ฉันทะโรจน์ศิริ ประธานกรรมการบริหารบริษัท และจำเลยที่ 4 นายลีหงเหิน หุ้นส่วนชาวไต้หวัน โจทก์อุทธรณ์

ต่อมา วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำตัดสินให้จำคุกจำเลยที่ 2 และ 3 เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน และให้จำคุกนายลีหงเหิน ซึ่งหลบหนีไป เป็นเวลา 10 ปี มีการยื่นฎีกา จนศาลได้นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา หลังต่อสู้คดียาวนานถึง 17 ปี

สำหรับบรรยากาศที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งญาติผู้เสียชีวิตและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งเป็นโจทก์ร่วม ได้เดินทางมารับฟังคำตัดสิน ฝ่ายจำเลยมีนายปธาน ตรีฉัตร ผู้จัดการจำเลยที่ 2 พร้อมทนายความมาศาล ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ได้มาร่วมฟังคำพิพากษาและการพิจารณาคดีในช่วงที่ผ่านมา โดยอ้างว่าต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งศาลเห็นว่ามีพฤติกรรมที่จะหลบหนี เพราะไม่มาฟังคำตัดสินทั้งสองครั้ง จึงได้ให้ออกหมายจับแล้ว ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นชาวไต้หวัน คาดว่าหลังเกิดเหตุได้หลบหนีไปนานแล้ว โดยศาลใช้เวลาในการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกากว่า 1 ชั่วโมง

นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความฝ่ายโจทก์ เปิดเผยภายหลังศาลมีคำพิพากษาในคดีนี้ว่า ศาลฎีกาได้ตัดสินทั้งหมด 3 ความผิด คือ 1. การคุ้มครองความปลอดภัยในสถานประกอบการ 2. การเคลื่อนย้ายสารยุทธภัณฑ์ หรือสารอันตราย โดยไม่ได้รับอนุญาต และ 3. ผิดตามพ.ร.บ.คดีอาญามาตรา 291 ร่วมกันประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตและได้รับอันตรายสาหัส โดยจำเลยที่ 1 บริษัท หงษ์ไทยเกษตรพัฒนา จำกัด สั่งปรับเป็นเงินจำนวน 60,000 บาท จำเลยที่ 2 นายปธาน ตรีฉัตร ผู้จัดการ และมาร่วมรับฟังคดีในวันนี้ศาลสั่งจำคุก 6 ปี 10 เดือน 20 วัน ซึ่งได้ถูกควบคุมตัวทันทีหลังจากฟังคำพิพากษาเสร็จ ส่วนจำเลยที่ 3 นายเทิดพันธ์ ฉันทะโรจน์ศิริ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ให้จำคุก 10 ปี 2 เดือน ไม่ได้มารับฟังคำพิพากษาจึงได้ให้ออกหมายจับ และจำเลยที่ 4 นายลีหงเหินหุ้นส่วนชาวไต้หวัน ให้จำคุก 10 ปี ไม่ได้มาฟังคำพิพากษาเช่นกัน จึงได้ให้ออกหมายจับไว้ หลังจากนี้ตนจะได้คัดคำพิพากษาของศาลฎีกาในวันนี้ เพื่อนำไปแถลงต่อศาลอุทธรณ์ เพื่อรื้อคดีแพ่งมาตัดสินอีกครั้ง โดยค่าเสียหายที่มีการเรียกร้องทั้งหมด จำนวน 206 ล้านบาท คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์ น่าจะรวบรวมข้อมูลและยื่นต่อศาลอุทธรณ์ได้

ด้าน นางบัวแก้ว ตาจุมปา อายุ 50 ปี สามีของนายทวี ตาจุมปา อายุ 32 ปี ที่ได้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อครอบครัว ซึ่งการตัดสินคดีในวันนี้ ตนเห็นจำเลยยังรับโทษน้อยไป น่าจะได้รับการลงโทษที่มากกว่านี้ แต่ทั้งนี้ถือว่าสิ้นสุดในเรื่องคดีอาญาแล้ว คงเหลือแต่คดีแพ่ง ที่เรียกร้องค่าเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น เพราะนอกจากการเสียชีวิตของคนในครอบครัวแล้ว บางครอบครัวยังมีบ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

ขณะที่ นางสาวรัชนี นิลจันทร์ อายุ 47 ปี ผู้ประสานงานตัวแทนชาวบ้านกรณีโรงงานลำไยระเบิด เปิดเผยว่า คดีนี้กลุ่มชาวบ้านต่อสู้กันมาอย่างยาวนานกว่า 17 ปี ซึ่งตนก็พอใจในคำตัดสินของศาล และเห็นว่าการต่อสู้คดีที่มีมาอย่างยาวนานยังคงได้รับความยุติธรรมแม้ว่าก่อนหน้านี้ในศาลชั้นต้นจะพิจารณาแล้ว แต่ทางครอบครัวของผู้เสียชีวิตเห็นว่า ไม่ได้ดำเนินคดีเรื่องของความประมาทที่เป็นเหตุให้มีคนเสียชีวิต จึงได้มีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจนกระทั่งมาฟังคำตัดสินในวันนี้ก็เป็นที่น่าพอใจ หลังจากนี้คงต้องนำผลการตัดสินของศาลฎีกา ไปฟ้องในคดีแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายอีกครั้ง โดยญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บทั้งหมด รวม 400 กว่าราย ได้เรียกค่าเสียหายรวมกว่า 206 ล้านบาท แต่ยังไม่ทราบว่าการต่อสู้ในคดีแพ่งจะเป็นอย่างไร เพราะทางนายปธาน ผู้จัดการของโรงงานดังกล่าวได้ถูกจับกุมแล้ว ส่วนที่เหลือก็หลบหนี แต่อย่างไรก็จะต้องสู้ให้ถึงที่สุด.