ผลสอบ คตง.พบอุโมงค์ไฟ กทม. 39.5 ล้านบาท ส่อทุจริตฮั้วประมูล เตรียมส่ง ป.ป.ช. ชี้มูล เอาผิด "สุขุมพันธุ์" พร้อม 9 ขรก.เอี่ยวกังฉิน...
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้แถลงข่าว กรณีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) พิจารณารายงานผลการตรวจสอบโครงการค่าใช้จ่ายในการประดับตกแต่งไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ของสำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว กทม. วงเงิน 39.5 ล้านบาท อย่างเป็นทางการ ภายหลัง สตง.นำเสนอรายงานผลการสอบสวนให้ คตง. เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. 2559
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ระบุว่า ในการดำเนินการดังกล่าวพบว่า มีการนำงบฉุกเฉินมาใช้แทนงบปกติ เนื่องจากสภากรุงเทพมหานครไม่อนุมัติงบปกติให้ นอกจากนี้บริษัทที่เข้าร่วมซื้อซองและประกวดราคาอย่างน้อย 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท คิวริโอ ทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด (ผู้ชนะการประกวดราคา) บริษัท สรรค์สร้าง จำกัด (คู่เทียบการเสนอราคา) และบริษัท จิปาถะ ไอเดีย จำกัด (ร่วมซื้อซอง) ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน รวมถึงมีหญิงสาวรายหนึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจาก 3 บริษัท ไปแจ้งเพิ่มวัตถุประสงค์การทำธุรกิจไฟฟ้าประดับตกแต่ง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ บริพัตร) ขณะเดียวกัน กทม. ได้สอบถามทีโออาร์จากบริษัท จิปาถะฯ ก่อนที่จะจัดทำทีโออาร์เสร็จภายในวันเดียว
นอกจากนี้ในทีโออาร์ระบุถึงเงื่อนไขเอกลักษณ์ความเป็นไทย แต่ไฟประดับที่จัดทำออกมาไม่มีเอกลักษณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกันบริษัท คิวริโอฯ ที่ชนะการประกวดราคาก็สั่งซื้อของจากต่างประเทศมาเตรียมไว้ก่อนจะมีการประกวดราคาขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ คตง.ได้พิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ผู้ว่าฯ กทม. นายธวัชชัย ผอ.กองการท่องเที่ยว น.ส.ปราณี ผอ.สำนักวัฒนธรรม พร้อมกับคณะกรรมการที่กำหนด TOR รวม 9 ราย มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และน่าเชื่อว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินและทรัพย์สินของแผ่นดิน รวมถึงเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) จึงมีมติเห็นชอบที่จะดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำความผิดทั้งหมด
...
เบื้องต้นแจ้งให้ รมว.มหาดไทย แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกับผู้บริหารสูงสุดของ กทม. รวมทั้งดำเนินการทางวินัยและอาญาแก่เจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนนี้อาจเข้าข่ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย โดยภายในสัปดาห์นี้จะส่งสำนวนการไต่สวนให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาต่อไป
ขณะที่ความเสียหายนั้น ปัจจุบันคณะกรรมการตรวจรับการจ้าง ยังตรวจรับไม่เสร็จ เพราะจำนวนดวงไฟมีทั้งหมด 5 ล้านดวง กทม.จึงยังไม่ได้เบิกจ่ายงบประมาณจากงบฉุกเฉินมาจ่ายแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี สตง.ได้ให้ข้อแนะนำว่าไม่ควรเบิกจ่ายงบมาใช้ เนื่องจากหากพบว่า มีการฮั้วราคากันจริง หรือมีการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติ อาจจะทำให้ราชการเสียหายได้
ส่วนการจะดำเนินการส่งรายชื่อให้นายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอให้ใช้ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) แต่ปัจจุบัน ศอตช. ยังไม่มีนโยบายให้รวบรวมรายชื่อข้าราชการหรือบุคคลที่เข้าข่ายมีพฤติการณ์กระทำความผิด แต่หาก ศอตช.ส่งสัญญาณมา จะรวบรวมรายชื่อข้าราชการให้ตามขั้นตอน.