28 เมษายนของทุกปี ใครหลายๆ คนคงเห็นเป็นเพียงแค่อีกหนึ่งวันที่อากาศร้อนมากที่สุดในช่วงเดือนเมษายน แต่สำหรับประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันนั้น คงจะเป็นอีกหนึ่งวันที่ยังคงอยู่ในความทรงจำ

วันที่ 28 เมษายน 2547 ได้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่สำคัญ เมื่อเจ้าหน้าที่และกลุ่มคนที่คาดว่าเป็นกองกำลังก่อความไม่สงบ ได้ปะทะกันที่มัสยิดแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดปัตตานีที่ชื่อว่า “มัสยิดกรือเซะ” มัสยิดโบราณอายุหลายร้อยปี สถานที่สำคัญของจังหวัดปัตตานี...ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 32 คน

และในวันเดียวกันนั่นเอง กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยังบุกโจมตีฐานที่มั่นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ...ทหารตามจุดต่างๆในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 107 คน บาดเจ็บ 6 คน ถูกจับกุม 17 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5 นาย และบาดเจ็บ 15 นาย

นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะเกิดขึ้น จนถึงวันนี้ปัญหาความไม่สงบได้กลายเป็นวาระที่สำคัญของทุกรัฐบาล ที่จะต้องแก้ไข พัฒนา นำสันติสุขกลับคืนสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 สรุปโดยสังเขปว่า...

“ผมห่วงปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุด ห่วงมาตั้งนานแล้ว ห่วงตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ. แนวทางในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สำคัญของรัฐบาลชุดนี้ จะต้องเดินหน้านั้น ประกอบด้วย 3 แนวทางดังนี้ การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม การพัฒนาการศึกษา...การกีฬา และการดำเนินการพูดคุยสันติสุข วันนี้ขอให้ทุกคนเข้าใจว่ารัฐบาลไม่ต้องการจะไปใช้อาวุธหรือใช้กำลัง...

...

เพียงแต่บังคับใช้กฎหมาย ถ้าไม่ได้อย่างอื่นก็จะไม่เกิด ไม่สงบ พัฒนาไม่ได้ แล้วเศรษฐกิจก็จะไม่ดี การท่องเที่ยวภาคใต้มีโอกาสมากที่สุดในอาเซียน แต่เขาไม่กล้ามา เพราะไม่ปลอดภัย ฝากพี่น้องชาวใต้ด้วยแล้วกัน วันนี้หากทุกฝ่ายร่วมมือ จะดีกว่านี้อีก 10 เท่า”

การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นวาระสำคัญ รัฐบาลชุดปัจจุบัน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยการดำเนินงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน ภาค 4) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.)

เน้นการดำเนินงานที่มีเอกภาพ แก้ปัญหาตรงจุด รวดเร็ว ทันใจ และตรงใจพี่น้องประชาชน

การดำเนินงานโครงการด้านการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และมีเป้าแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน พร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ทำให้การขับเคลื่อนงานการพัฒนาพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ทำให้วันนี้มีความก้าวหน้ามากขึ้น...

เมื่อพูดถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ จึงเป็นอีกหนึ่งงานที่สำคัญ ที่รัฐบาลภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ดำเนินการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯ

เน้นการทำงานที่รวดเร็ว รอบคอบ ฉับไว ดูแลทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฯ รวมถึงทรัพย์สินต่างๆด้วย โดย ศอ.บต.ได้เข้าไปช่วยเหลือ ดูแล และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกรายเป็นที่เรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนด จนเป็นที่พึงพอใจของพี่น้องประชาชน

โดยเฉพาะญาติของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ จากผู้ได้รับผลกระทบในวันนั้น วันนี้คนเหล่านี้กลายเป็นเครือข่ายในการทำงาน...การช่วยเหลือเยียวยา จาก “ผู้รับ” ในวันนั้น สู่ “ผู้ให้” ในวันนี้

คอลีเยาะ หะหลี บุตรของ นายมะแอ หะหลี ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ยิงปะทะที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า “ขอบคุณรัฐบาล ขอบคุณทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะ ศอ.บต.ที่ผ่านมาทำงานหนัก เพื่อจะทำให้พวกเราได้รับการช่วยเหลือเยียวยาที่เป็นธรรม ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ จากการช่วยเหลือมาตลอด ทำให้วันนี้เราเข้มแข็ง เราสามารถช่วยเหลือผู้อื่น ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาซึ่งตลอดเวลาที่เราได้ช่วยเหลือคนอื่นนั้น วันนี้เราก็ได้กลายมาเป็นผู้ให้ จากมือล่างสู่มือบน”

คอลีเยาะ บอกว่า ดิฉันได้ช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับการเดือดร้อน ด้วยการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือ หนึ่งในครอบครัวที่ได้เข้าไปช่วยเหลือคือ นายเจ๊ะมามุ มามะ ประสานส่วนที่เกี่ยวข้อง...ทำให้วันนี้ ได้รับความช่วยเหลือ หน่วยกำลังในพื้นที่เข้าไปซ่อมแซมบ้าน ทำให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต.ย้ำว่า การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบนั้น ไม่ใช่แต่เพียงว่าเป็นการช่วยเหลือเยียวยาที่เป็นตัวเงินเท่านั้น

หากแต่รัฐบาล โดย ศอ.บต.มุ่งเข้าไปสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทุกรายอีกด้วย จากสถิติการเก็บข้อมูล โดยชุดตรวจเยี่ยมติดตามผู้ได้รับผลกระทบฯ กรณีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 จำนวน 110 ครอบครัว ปรากฏว่า...เป็นที่พอใจ

คือได้รับการช่วยเหลือด้านต่างๆเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่น การช่วยเหลือซ่อมแซมบ้าน ดำเนินการแล้ว 94 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 16 ราย การอุดหนุนงบประมาณในการประกอบวิชาชีพ การส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพต่างๆ การอบรมให้ความรู้เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ดำเนินการแล้ว 63 ราย อยู่ในระหว่างดำเนินการ 47 ราย

...

การสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับบุตรผู้ได้รับผลกระทบฯ ดำเนินการแล้ว 81 ราย อยู่ในระหว่างดำเนินการ 29 ราย รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านจิตใจ โดยครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบฯ ทั้ง 110 ครอบครัว ได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย

สีตีมารีเยาะ ดือราโอะ ภรรยาของนายดือราเซะหะยีดอเลาะ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบบริเวณมัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี กล่าวทั้งน้ำตาว่า การได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล และ ศอ.บต. ทำให้ดิฉันนำเงินไปทำบุญให้กับสามีและผู้เสียชีวิตรายอื่นๆ จ่ายหนี้พร้อมซ่อมแซมบ้าน และสนับสนุนเป็นทุนการศึกษาแก่บุตร สิ่งสำคัญ คือ ฉันเป็นมุสลีมะห์ที่ได้โอกาสสำคัญในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์

อีกหนึ่งเสียงจาก พาดีละห์ สะแลแม ภรรยาของนายสะมาแอ ลาเตะ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบบริเวณมัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี บอกว่า ดิฉันได้ใช้เงินเยียวยาที่ได้รับ ทำบุญให้กับสามีผู้เสียชีวิต และนำเงินบางส่วนไปจ้างทำฮัจญ์ให้แก่สามี ตามที่ได้เคยฝากและมีเจตนาที่อยากทำ พร้อมกับนำเงินบางส่วนไปซื้อสวนยาง เพื่อใช้ประกอบทำอาชีพ “ขอบคุณรัฐบาล และ ศอ.บต.มากๆ นอกจากนี้ ดิฉันได้เป็นเครือข่ายเยียวยาในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบรายอื่นๆ ให้ได้รับการช่วยเหลือ ไม่ใช่เพียงว่า ช่วยเฉพาะเรื่องการเยียวยา แต่ช่วยในทุกๆเรื่อง ตามที่เราช่วยได้”

เส้นทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้...เปลี่ยนรอยร้าวในหัวใจ ปรับมุมคิดที่มีต่อภาครัฐ ดึงทุกฝ่ายให้ร่วมมือกัน เชื่อหวังกันว่า...ปัญหากำลังจะเป็นไปในทิศทางที่ดี.