“ในรัฐธรรมนูญปี 2550 เคยงงว่า... ในเมื่อประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้วตั้งแต่ปี 2545 ทำไมจึงมีการระบุให้สิทธิการรักษาพยาบาลในสถานบริการภาครัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเฉพาะในส่วนของผู้ยากไร้เท่านั้น
และ...ในร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 เช่นกัน ยังมีเนื้อหาที่ระบุเช่นเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นเนื้อหาที่ไม่ทันสมัยกับสถานการณ์ เนื่องจากประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มของประเทศ
ดังนั้น...รัฐธรรมนูญจึงไม่ควรกำหนดสิทธิเฉพาะผู้ยากไร้ แต่ควรระบุว่าประชาชนทุกภาคส่วนมีสิทธิเข้าถึงบริการสุขภาพภาครัฐได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแทน หรือรัฐต้องจัดให้ประชาชนทุกส่วนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน”
เสียงจาก จอน อึ๊งภากรณ์ ที่ปรึกษากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงสิทธิด้านการรักษาพยาบาลและบริการสุขภาพ ในร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ที่เตรียมจะลงประชามติ
จอน ย้ำว่า การที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 เขียนให้เฉพาะ “คนยากไร้”...ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับการรักษาพยาบาล สิ่งที่จะตามมาคือจะก่อให้เกิด “การแบ่งชนชั้น” ในสังคม
แทนที่ “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” จะเป็นของประชาชนทุกคน ในที่สุดจะกลายเป็นการจัดระบบรักษาพยาบาลสำหรับ “คนยากจน” เท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนั้น “คนยากจน” จะได้รับบริการชั้น 3...โดยเป็นบริการรักษาพยาบาลที่ด้อยกว่าประชาชนกลุ่มอื่นๆ
ย้อนไปตอนรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ควรตัดคำว่า “ผู้ยากไร้” ออก เพราะเรามี “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” แล้ว แต่ในปี 2559 กลับยังเขียนแบบเดิมอีก...สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมรับคุณค่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทั่วโลกต่างชื่นชม
...
บุญยืน ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสมุทรสงคราม เสริมว่า แนวนโยบายรัฐบาลและกลุ่มคนที่ยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ถือว่าย้อนยุคไปไกลมาก ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำอยู่ได้ตัดคำว่า... “เสมอหน้า”...“เท่าเทียม” และ “การเข้าถึง” ออก ที่สำคัญกว่านั้นคือในรัฐธรรมนูญ 2550 เขียนเรื่องการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการรักษาพยาบาล แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ตัดออกด้วย ฉะนั้น...รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถ “ปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ” ให้ก้าวหน้าไปได้เลย?
สถานการณ์ระบบหลักประกันสุขภาพในวันนี้จึงอยู่ในสภาวะสั่นคลอน สุ่มเสี่ยง...ขณะที่ในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เองก็กำลังอยู่ระหว่างการสรรหาตัวเลขาธิการคนใหม่
“น่าเป็นห่วงว่า...หากได้เลขาฯคนใหม่ที่ไม่มีแนวคิดก้าวหน้า หรือคิดแต่ดึงอำนาจกลับไปที่กระทรวงสาธารณสุข อนาคตของระบบหลักประกันก็คงจะมืดมนมาก...ระบบคงกลับไปเป็นของผู้ยากไร้ด้อยโอกาส...การให้บริการก็จะทำเท่าที่ทำได้ การเรียกร้องมาตรฐานการรักษาก็คงเป็นไปด้วยความยากลำบาก”
บุญยืน บอกว่า เลขาธิการ สปสช. ต้องเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ ยอมรับเรื่องการถ่วงดุลและยืนอยู่บนผลประโยชน์ประชาชน เดิมที...การมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น เป็นแนวคิดที่มีการแยกบริการและการให้บริการออกจากกัน เป็นแนวคิดของประกัน เพียงแต่รัฐเป็นคนจ่ายเงินแทนประชาชน
“เราไม่ได้บอกว่าคนของกระทรวงสาธารณสุขไม่ดีนะ แต่ถ้าเอาคนที่มีแนวคิดเป็นไปตามกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด อีกหน่อย...อนาคตระบบหลักประกันก็เข้าไปอยู่กับกระทรวงเหมือนที่เคยทำมา แล้วการให้บริการก็เป็นไปแบบแค่นี้ก็พอแล้ว ไม่มีทางก้าวหน้าไปได้”
หลังปิดรับสมัครผู้สมัครเลขาธิการ สปสช.ไปเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา...มีผู้สมัครชิงตำแหน่ง 8 คน ระหว่างนี้ “คณะกรรมการสรรหาเลขาธิการ” ที่บอร์ด สปสช.ตั้งขึ้นจะทำหน้าที่สรรหาให้เหลือ 3 คน เพื่อส่งให้บอร์ด สปสช.ตัดสินใจเลือกเลขาธิการคนใหม่ในวันที่ 2 พฤษภาคมนี้
เพื่อทำหน้าที่เลขาธิการ สปสช.ต่อจาก นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการคนปัจจุบันที่ยังคงถูก ม.44 เด้งไปช่วยราชการที่กระทรวงสาธารณสุข พุ่งเป้าจับตา...การเลือกเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ครั้งนี้ให้ดีๆ เพราะช่วงสองปีที่ผ่านมา “สปสช.” และเจตนารมณ์ระบบ “30 บาทรักษาทุกโรค”...มีความไม่มั่นคงอย่างมาก
เสมือนมีความพยายาม แรงผลักจากหลายฝ่ายจ้องที่จะล้ม...เปลี่ยนเจตนารมณ์หลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า สำหรับประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค ให้กลายมาเป็นเฉพาะการสงเคราะห์ผู้ยากไร้
สุภัทรา นาคะผิว อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สะท้อนมุมมองต่อไปว่า ตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะ สปสช.เป็นกลไกที่ทำให้ระบบสุขภาพขับเคลื่อนไปได้
ดังนั้น...ตัวเลขาธิการ สปสช.จำเป็นต้องได้คนที่เข้าใจแก่น เข้าใจหลักการและเจตนารมณ์ของระบบสุขภาพ รวมทั้งรักษาระบบไม่ให้ผิดเพี้ยนไป อีกทั้งต้องไม่ทำให้ระบบโดดเดี่ยว ต้องมีมุมมองการทำงานกับภาคีภาคส่วนต่างๆ เพื่อเป็นแนวร่วมในการรักษา...พัฒนาระบบต่อไป
“ตอนนี้...ต้องบอกว่ามีภัยคุกคามระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะยังมีความเข้าใจผิดว่าระบบหลักประกันสุขภาพเป็นการสร้างภาระให้รัฐบาล อีกอย่างคือการมีระบบหลักประกันสุขภาพก็ทำให้คนบางส่วนเสียผลประโยชน์ที่เคยมี เพราะฉะนั้นความไม่เห็นด้วยกับระบบหลักประกันก็มีมาตลอด และพยายามทำให้ระบบมีปัญหา ซึ่งการล้มระบบหลักประกันไม่ใช่แค่ทำให้ สปสช.ไม่มีอยู่...
การมี สปสช.อยู่ แต่เจตนารมณ์เดิมถูกแปรเปลี่ยนไป ก็ถือว่าเป็นการล้มระบบเหมือนกัน การเขียนรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพออกมาในลักษณะนี้ เหมือนถอยหลังเข้าคลอง กลายเป็นเรื่องการสงเคราะห์ผู้ยากไร้”
ธาดา วรรธนปิยะกุล ประธานเครือข่ายมูลนิธิหมออนามัย มองว่า เลขาธิการ สปสช.คนใหม่ควรให้ความสำคัญกับ “ระบบปฐมภูมิ”...มากกว่าที่เป็นอยู่ ถ้ามาจากสายที่ผ่านงานปฐมภูมิมาก่อน เช่น โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลจังหวัด ก็น่าจะทำงานได้ดี เพราะเคยผ่านประสบการณ์มาทุกระดับ
...
แต่...ถ้าได้คนที่อยู่แต่ในกระทรวง อยู่ฝ่ายวิชาการ ไม่เคยผ่านงานระดับภูมิภาค ไม่เคยอยู่ในระดับอำเภอหรือจังหวัด วิธีคิด มุมมองก็จะต่างกันและอาจเป็นปัญหาได้
เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ตัดเรื่องการเข้าถึง “ความเท่าเทียม” ออกจะมีผลกระทบต่อการทำงาน เพราะ “สิทธิมนุษยชน” หรือ “สิทธิที่เท่าเทียม” กัน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจำแนกได้...ถ้าเป็นคนไทยก็ควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน ดังนั้นควรคงหลักการไว้เหมือนเดิม
ที่สำคัญ...เลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ก็ควรยืนหยัดให้เป็นไปตามเจตนารมณ์เดิม ว่า “คนไทย” ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับบริการเท่าเทียมกันในเรื่องสุขภาพ... ไม่แยกกลุ่มเป็น “คนรวย”...“คนจน”
การเลือกเลขาฯ สปสช. เป็นอีกจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ จะออกหัวหรือก้อย จะเดินหน้า...ถอยหลัง...จะทำให้เกมการยึด สปสช. ชนะหมากทั้งกระดาน ล้มหลักการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กลับไปเป็นระบบสงเคราะห์เหมือนเดิม? วันที่ 2 พฤษภาคมนี้...ชวนให้ติดตามอย่ากะพริบตา.