ผลไม้ภาคตะวันออก...กำลังทยอยออกสู่ตลาด เมื่อเจอกับ

ปัญหา “ภัยแล้ง”...อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงอย่างหนัก ต้องแข่งกับเวลา เพราะถ้าต้นตาย...จะเสียหายรุนแรงมาก

สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร บอกว่า ไม้ผลเป็นพืชที่อายุยาว ปลูกแล้วกว่าจะเริ่มออกดอกให้ผล บางชนิดต้องใช้เวลา 5 ปี...7 ปี...มังคุด 8 ปีกว่าจะได้ ทุเรียนอย่างน้อยก็ 6 ปี ถ้าตายจะเสียหายมาก เพราะกว่าจะฟื้นฟูได้ต้องใช้เวลาอีกหลายปี

“กรมฯให้ความสนใจดูแลเป็นพิเศษอย่างเช่น ภาคตะวันออก เขตปลูกไม้ผลประเทศไทย ปีนี้กระทบแล้งมากๆมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ต้องหาซื้อน้ำมารดต้นไม้ บางพื้นที่ก็ไม่มีให้ซื้อ ชาวบ้านก็ดิ้นรน”

พยายามให้คำแนะนำทางวิชาการ เช่น ให้ข้อมูลดูความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน เขตรากพืช ถ้าเนื้อดินละเอียดอุ้มน้ำได้ดีกว่าเนื้อดินหยาบหรือดินทราย อาจต้องสร้างวิธีการให้เกษตรกรเข้าใจ

ประการต่อมา...พยายามทำความเข้าใจว่า “อุณหภูมิสูง...ความชื้นในอากาศต่ำ...ลมแรง จำเป็นต้องให้น้ำบ่อยครั้งขึ้น หรือแม้กระทั่งตจการจัดการสวน ในการไว้ผลไม้ต่อต้น”

ถ้าหากไว้ลูกมากเกินไป อัตราความต้องการน้ำก็จะยิ่งมีมากขึ้น ฉะนั้น...ในช่วงวิกฤติอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ พี่น้องเกษตรกรสวนผลไม้ปลูกทุเรียนอยู่...ถ้าจะต้องรักษาต้นเอาไว้ก็อาจจะต้องเอาลูกออกบางส่วนไม่ให้แน่น จนมีความต้องการน้ำสูง บางสวนจึงอาจต้องตัดทุเรียนออกสัก 30 ...40 เปอร์เซ็นต์

ถัดมา...แนะนำให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีการใช้น้ำ...จากที่ใช้แบบฟุ่มเฟือย ปล่อยน้ำไหลไปทั้งผืนเลย ก็เปลี่ยนระบบน้ำหยด หัวน้ำ...สปริงเกอร์ นอกเหนือจากนั้นก็ให้เปลี่ยนเวลาให้น้ำ แทนที่ให้กลางวันก็เป็นช่วงกลางคืน ลดอัตราการสูญเสียจากการระเหย ที่สำคัญ...ไม่ต้องตัดหญ้าโคนต้นผลไม้ เพราะจะเสียน้ำได้ง่าย และเสริมด้วยวัสดุคลุมดินที่หนาแน่นพอสมควร คลุมโคนต้นเอาไว้เพื่อรักษาความชื้น อาจจะใช้ใบพืช ต้นเก่า โคนต้น...ไม่ควรเปิดโล่ง

...

ประเด็นต่อมา...การแก้ปัญหาภัยแล้ง การเข้าไปช่วยให้มีอาชีพเสริม ยกตัวอย่างภาคอีสาน ที่จังหวัดขอนแก่น...ร้อยเอ็ด ในพื้นที่อาจจะมีน้ำไม่มากก็เปลี่ยนวิธีการปลูก เข้ามาร่วมทำการเกษตรแปลงรวมในพื้นที่ 10 ไร่ ก็แบ่งกันทำคนละงาน สองงาน สามงาน จัดการแบ่งพื้นที่กันแล้วแต่ความสามารถ...ทำท้องร่อง ปล่อยปลาเลี้ยงเอาไว้ด้วย แล้วก็ดึงแหล่งน้ำเข้ามาปลูกผักอายุสั้น การจัดการศัตรูพืชก็ไม่ให้มีการใช้สารเคมี ใช้ไส้เดือนฝอยคุมศัตรูพืช

น่าสนใจว่า...กลุ่มที่รวมกันเฉพาะกิจไปได้สวย ผลิตผัก...สู้แล้ง ส่งขายได้ มีรายได้ดีทีเดียว

สมชาย บอกอีกว่า อีกโครงการทำกับวัดทุ่งกุลาเฉลิมพระเกียรติฯ หลวงพ่อมีที่ว่าง 21 ไร่ ก็ขอพื้นที่มาทำโครงการ...ด้วยปัญหาทุ่งกุลาพอถึงหน้าแล้งทำอะไรไม่ได้เลย ต้องหนีออกมาทำงานที่อื่น รับจ้าง แต่ด้วยความมั่นใจว่า ถ้ามีน้ำ มีการจัดการที่ดีเราทำได้แน่ ก็เลยลองใช้ที่วัดแบ่งคนละงาน ยกร่อง ใช้น้ำวัดที่ใส่แท็งก์ที่มีไม่มาก

วางท่อจัดการระบบให้ดีๆ เริ่มต้นจากปลูกพืชผักง่ายๆ ผักบุ้ง เย็นก็มารดน้ำ ตัดผักรอส่ง...ติดต่อขายส่งไปยังห้างสรรพสินค้า “สองเดือนที่ผ่านมา...ไม่น่าเชื่อว่า เกษตรกรสามารถทำรายได้กว่าเดือนละ 5,000 บาท ในยามแล้งจัดขนาดนี้ถือเป็นรายได้ที่ไม่น้อยเลยทีเดียว”

ภาพใหญ่...การแก้ปัญหาที่ผ่านมา ในบทบาทกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการแก้ปัญหา “ภัยแล้ง” ตามนโยบายรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งลดพื้นที่การปลูกข้าว ...หันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่ากลุ่มพืชตระกูลถั่ว... ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ที่ดำเนินการมาล่วงหน้า เตรียมพันธุ์ ให้ใช้ได้ทันฤดูกาล ตั้งแต่ 25 พฤศจิกายนปีที่แล้ว...

“รอปลูกเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จในเดือนธันวาคม...ขณะนี้กำลังเก็บเกี่ยวกันอยู่ ได้ผลผลิตออกมาแล้วตามสมควร ในบางพื้นที่ก็ได้ผลผลิตค่อนข้างดี บางพื้นที่อาจจะมีปัญหาบ้างกระทบแล้ง หรือว่าในช่วงมกราคมอาจจะกระทบหนัก เพราะถั่วเขียวเจอกับอากาศหนาวเย็น อาจจะมีกระทบบ้าง...แต่ในภาพรวมคิดว่าได้ผลดี”

เช่น ถั่วเหลือง 400 กว่าราย ได้ผลผลิตค่อนข้างดี...ถั่วเขียว 212 ราย ...ถั่วลิสง 144 รายที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ กลุ่มที่สมัครใจเมื่อได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์แล้วจะคืนกลับมาใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ผลิตต่อเนื่องต่อไปเรื่อยๆ

ส่วนที่เหลือ กลุ่มเกษตรกรที่ผลิตเอง ขายถั่วเอง...1,113 ราย พื้นที่ 1,970 กว่าไร่ ได้ผลผลิตก็จะขายตามราคาท้องตลาด ก็เป็นที่พอใจของพี่น้องเกษตรกรเช่นกัน

มองไกลต่อเนื่องเมื่อผ่านวิกฤติภัยแล้งไปแล้ว ก็ต้องเตรียมการเข้าสู่ “ฤดูฝน”...ความพร้อมด้านปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาเคมีที่ต้องใช้ในแปลง เมื่อมีฝนปุ๊บก็เพาะปลูกได้ทันที

อธิบดีสมชาย ย้ำว่า การควบคุมมาตรฐาน การจำหน่ายปัจจัยการผลิต ต้องเข้มงวด บริษัท ห้างร้านที่จะขายของให้พี่น้องเกษตรกร ที่ผ่านมากรมฯให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก เข้าไปตรวจสอบใกล้ชิด นับตั้งแต่การนำเข้า สุ่มตรวจตามศูนย์จำหน่าย ร้านค้ามากกว่า 12,800 ครั้ง

“ตรวจแล้วก็เก็บตัวอย่างกลับมาเพื่อตรวจสอบว่าเป็นปุ๋ยปลอมไหม... สารเคมีมีคุณภาพหรือเปล่า หรือว่าด้อยคุณภาพ นอกเหนือจากนั้น...เมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรต้องเตรียมก็เข้าไปเก็บตัวอย่างเพื่อดูว่ามีมาตรฐานจริงๆ”

“ปุ๋ย”...ปีหนึ่งเรานำเข้ามากว่า 5 ล้านตัน มีมูลค่า 50,000-60,000 ล้านบาท ปีที่แล้วนำเข้า 4.6 ล้านตัน...มูลค่า 5.6 หมื่นล้านบาท ถือว่าต่ำสุด...สูงสุดในปี 2555 นำเข้า 5.3 ล้านตัน...มูลค่า 8.1 หมื่นล้านบาท

“นำเข้าน้อยลง แต่ปริมาณการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มขึ้น...เป็นทิศทางที่ดี เกษตรกรปรับเปลี่ยนใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น อาจใช้เสริมเป็นอินทรีย์...เคมี ปรับปรุงโครงสร้างของดินให้พืชสามารถดูดธาตุอาหารไปใช้ได้ดี”

ทั้งหมดเหล่านี้นำไปสู่เรื่อง “การลดต้นทุนการผลิต” ที่ถูกต้องที่สุดก็คือใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ถูกต้องที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ เลือกพื้นที่ดิน ปริมาณน้ำที่มีเหมาะสมกับพืช นับรวมไปถึงเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม...ใช้ปุ๋ยตามอัตราส่วนถูกต้องในช่วงเวลาที่เหมาะสม...ตามที่พืชต้องการ

...

“เหมือนกับเวลาเราจะกินอาหาร อิ่มอยู่จะให้อาหารอร่อยอย่างไรก็ไม่อร่อย กินไม่ลง แต่ถ้าให้เวลาหิว...เวลาที่พืชต้องการ แล้วก็ให้อาหารที่ถูกต้อง ก็สามารถดูดซึมปุ๋ยไปใช้ประโยชน์ เจริญเติบโตได้ดี ถ้าให้เวลาไม่ถูกต้อง...ไม่ใช่เวลาที่ต้องการ ก็จะไม่เกิดประโยชน์ สูญเงินโดยใช่เหตุ”

“เกษตรกรไทย” อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ปี การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจจะยุ่งยากกว่า แต่วันนี้ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า ถ้ายังทำการเกษตรอยู่แบบเดิมมีแต่จะ “ขาดทุน” ทำข้าว...ทำนา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่นาก็ถูกยึดไปเพราะไม่สามารถมีเงินใช้หนี้ เป็นหนี้พอกพูนเพิ่มทุกปี

สมมติว่ามีที่ 15 ไร่...ถ้าทำนาต่อไร่ได้ข้าว 80 ถังต่อไร่ ได้ข้าวเปลือก 12 ตันกว่าเท่านั้น ข้าวราคาตันละ 7,000 บาท ขายได้ 80,000 กว่าบาทเท่านั้น คำถามสำคัญมีว่า...ใน 1 ปีทำนาขายข้าวได้เงินเท่านี้ หักต้นทุนแล้วแทบจะไม่เหลืออะไรเลย กำไรน่าจะไม่เกิน 20,000 บาท แต่ต้องใช้ทั้งปี...จะไหวหรือ

ปรับเปลี่ยนการผลิตสู้ภัยแล้ง ภัยเศรษฐกิจ...พื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกข้าว...เอาไว้ยังชีพ อีกส่วนหนึ่งไปทำอย่างอื่นเพื่อก่อให้เกิดรายได้มากขึ้นอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทำการเกษตรระยะสั้น 30 วัน...50 วันก็ได้เงินมาใช้จ่ายหมุนเวียน ดำเนินตามแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ...เกษตรกรจะยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเอง

สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ทิ้งท้ายว่า “เกษตรกรไทย”...ต้องทำการเกษตรแบบคิดอย่างมีเหตุมีผล...ไม่ใช่ทำตามๆกันไป.