กรมวิชาการเกษตร รับมอบไม้พะยูงลักลอบส่งออกกลับประเทศ ตามอนุสัญญาไซเตส หลังทางการมาเลเซีย จับกุมได้เมื่อ 2 ปีก่อน จำนวน 158 ท่อน มูลค่า 2 ล้านบาท แต่หากหลุดประเทศปลายทาง จะมีมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 25 เม.ย. 59 ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา ภายในศูนย์วิจัยยางสงขลา ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานในพิธีรับมอบไม้พะยูง จากสหพันธรัฐมาเลเซีย ตามอนุสัญญาไซเตส โดยมี นางฮาจา นอชาฮายา ฮาซซิม รองอธิบดีสภาอุตสาหกรรมไม้แห่งประเทศมาเลเซีย เป็นผู้ส่งมอบ พร้อมด้วย นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่เข้าร่วมเป็นสักขีพยานจำนวนมาก
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เนื่องจากกรมป่าไม้ และกรมวิชาการเกษตร ร่วมประชุมหารือเตรียมความพร้อมในการรับมอบไม้พะยูงของกลางคืนจากสหพันธรัฐมาเลเซีย เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยกรมวิชาการเกษตร จะรับมอบไม้พะยูง และส่งมอบไม้พะยูงจากสหพันธรัฐมาเลเซีย ซึ่งเป็นของกลางที่กรมศุลกากรมาเลเซีย จับกุมได้ ณ บริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยหน่วยงาน Malasian Timber Industry Board (MTIB) เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค. 56 จำนวน 158 ท่อน น้ำหนักประมาณ 5,000 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท แต่หากส่งออกไปยังประเทศที่มีความต้องการ จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 10 เท่า หรือประมาณกว่า 20 ล้านบาท
...
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาไซเตส ที่กำหนดให้มีการคืนของกลางพืชในบัญชีอนุสัญญาไซเตส ที่สหพันธรัฐมาเลเซีย จับยึดได้ แล้วส่งคืนให้กับราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นประเทศถิ่นกำเนิด พร้อมแสดงให้นานาชาติ และสำนักเลขาธิการไซเตส ได้เห็นถึงความร่วมมือในการร่วมกันปราบปรามป้องกันการลักลอบค้าพืชป่าที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง พร้อมร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่สืบไป
อย่างไรก็ตาม ในกรณีไม้พะยูง ที่ทางมาเลเซียจับกุมได้นั้น จัดเป็นไม้อนุรักษ์ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร โดยการส่งออก นำเข้า หรือนำผ่านจะต้องได้รับหนังสืออนุญาตไซเตส จากกรมวิชาการเกษตร ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าผิดกฎหมายในกรณีไม่มีใบอนุญาตตัดและลักลอบส่งออก.