ส่งทีมมนุษย์กบ พร้อมอดีตหน่วยซีล ทร.พร้อมอุปกรณ์ดำน้ำ ค้นหานักประดาน้ำ หลังสูญหายขณะเข้าช่วยเหลือเหตุเรือชนในอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา แต่สุดท้ายต้องถอนตัวในเวลา 18.00 น. รอหาใหม่พรุ่งนี้ ด้วยผู้เชี่ยวชาญดำน้ำลึก...

จากกรณีนักประดาน้ำมูลนิธิกุศลศรัทธาสุราษฎร์ธานี เข้าทำการค้นหาผู้สูญหายจากอุบัติเหตุเรือท่องเที่ยวชนเรือขนาดเล็กของชาวบ้านที่กำลังลากจูงไม้ไผ่ ภายในอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา จนเป็นเหตุให้นายประจิตร สายเสมา อายุ 69 ปี จมน้ำหายไป ขณะที่นางประจบ ตาดำ อายุ 67 ปี ภรรยาปลอดภัย แต่ได้เกิดเหตุไม่คาดฝันเมื่อชุดประดาน้ำ นำโดยนายกิตติศักดิ์ บุญมานนท์ หัวหน้าหน่วยกู้ภัย โดยขณะที่นักประดาน้ำ 4 คน ได้ดำลงไปค้นหาผู้สูญหาย ซึ่งการปฏิบัติงานของทีมประดาน้ำได้มีการผูกทุ่นนำทางในแนวดิ่งจากด้านบนและด้านล่าง แต่ทุ่นด้านบนเกิดหลุด ทำให้นักประดาน้ำโผล่ขึ้นจากน้ำขึ้นมาแค่ 3 คนเท่านั้น แต่ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากแรงกดอากาศอย่างรุนแรง ต้องนำตัวส่งรักษาที่ จ.ภูเก็ต และนายชยุตม์ ทิพย์ชิต อายุ 21 ปี สูญหาย

ความคืบหน้าผู้สื่อข่าวรายงาน วันที่ 24 เม.ย.2559 พ.ต.อ.สนธิชัย อาวัฒนกุลเทพ รอง ผบก.ภ.จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย พ.ต.อ.วิชอบ เกิดเกลี้ยง รอง ผบก.(สอบสวน) เข้าตรวจสอบสำนวนการสอบสวนปากคำพยาน และร่วมสอบสวนปากคำ นางประจบ ตาดำ อายุ 67 ปี ภรรยาของนายประจิตร สายเสมา อายุ 69 ปี ผู้สูญหาย ซึ่งจากการสอบสวนปากคำพยาน ทราบว่า ขณะเกิดพบว่าเรือหางยาว มีนายวีรยุทธ ศรัทธาสุข อายุ 24 ปี เป็นคนขับนำนักท่องเที่ยว 8 คน ออกเดินทางจากท่าเทียบเรือ มุ่งหน้าถ้ำปะการัง ส่วนนายประจิตร และ นางประจบ ใช้เรือขนาดเล็กลากจูงไม้ไผ่จำนวน 400 ลำ มุ่งหน้าท่าเทียบเรือ จุดเกิดเหตุบริเวณหน้าถ้ำจันทร์ ลักษณะเป็นหน้าผายื่นเข้ามาในร่องน้ำ เป็นโค้งหักมุม ซึ่งผู้ขับเรือทั้ง 2 ลำ ได้ใช้เส้นทางเลียบหน้าผา จนเมื่อนายวีรยุทธ ควบคุมเรือผ่านหน้าผาออกไปก็เจอกับเรือของนายประจิตร ซึ่งใช้ความเร็วต่ำ ทำให้ไม่สามารถหยุดเรือ หรือหักหลบได้ทัน พุ่งเข้าชนกลางลำเรือของนายประจิตร จนเรือพลิกคว่ำ คาดว่านายประจิตรได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้จึงจมน้ำในที่สุด อย่างไรก็ตามเบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่านายวีรยุทธ ไม่มีใบอนุญาตขับเรือ จึงได้แจ้งข้อหาเป็นนายท้ายเรือโดยไม่มีใบอนุญาต และควบคุมตัวไว้ก่อน

ส่วนความคืบหน้าในการค้นหาผู้สูญหาย ล่าสุดได้มีการนำเรือตรวจค้นวัตถุใต้น้ำเข้าตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุ พบวัตถุต้องสงสัย ซึ่งคาดว่าจะเป็นถังออกซิเจนของนายชยุตม์ ทิพย์ชิต นักประดาน้ำมูลนิธิกุศลศรัทธาสุราษฎร์ธานี อยู่ลึกในระดับน้ำ 52 เมตร เจ้าหน้าที่จึงได้กำหนดจุดเพื่อรอการตรวจสอบจากทีมประดาน้ำ

...


ต่อมาเวลา 15.00 น. ที่ศูนย์อำนวยการค้นหา บริเวณท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ เขื่อนรัชชประภา ทีมประดาน้ำซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญสูงสุดในการประดาน้ำกู้ภัย โดยผู้ดำน้ำค้นหา 4 คน เป็นอดีตหน่วยซีล กองทัพเรือ นำโดย นายพีรวัส เกตุกรรณ์ ครูสอนดำน้ำอดีตหน่วยซีล กองทัพเรือ ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ และวางแผนเข้าค้นหา เบื้องต้นพบว่า บริเวณที่เกิดเหตุมีน้ำลึกตั้งแต่ 50 เมตรขึ้นไป ลักษณะน้ำเย็นจัด เป็นขุ่นเป็นตะกอนและมีความมืดมาก รวมถึงมีแรงดันอากาศมากกว่าปกติ โดยชุดค้นหาได้แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ชุด ทำหน้าที่ป้องกันผิวน้ำ 5 คน รักษาความปลอดภัยนักประดาน้ำ 5 คน และนักประดาน้ำ 4 คน รวมนักประดาน้ำทั้งสิ้น 14 คน ทั้งนี้นายอวยชัย อินทร์นาค รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี ได้เฝ้าติดตามการทำงานและคอยอำนวยความสะดวกทีมประดาน้ำด้วยตนเองบริเวณจุดเกิดเหตุ

นายอวยชัย อินทร์นาค รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่าได้วางแผนการค้นหารอบด้านตั้งแต่ริมชายฝั่ง ริมภูเขา และการค้นหาใต้น้ำ โดยได้ประสานทีมครูสอนดำน้ำที่มีความเชี่ยวชาญน้ำลึกจากภูเก็ตมาร่วมค้นหา หากไม่เพียงพอก็จะขอครูสอนดำน้ำจากเกาะเต่าที่ชำนาญการดำน้ำลึกระดับ 100 เมตร มาช่วย แต่ก็ทราบว่าการค้นหาใต้น้ำค่อนข้างลำบาก เนื่องจากมีความลึก น้ำเย็น และมืด ถือเป็นอุปสรรคต่อนักดำน้ำ แต่ก็จะใช้ความพยายามในการค้นหาให้พบ

นายอวยชัย กล่าวด้วยว่า จากการรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คาดว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัยในการบังคับเรือของเรือหางยาวท่องเที่ยว และเรือขนาดเล็กของชาวบ้านในช่วงทางโค้งพอดี จึงเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสอบสวนอย่างละเอียด พร้อมเตือนให้ทุกคนที่ลงในเขื่อนได้ใส่ชูชีพทุกคน ทั้งนักท่องเที่ยวและชาวบ้านเอง ซึ่งปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวใส่ชูชีพกว่าร้อย 90 แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่ค่อยปฏิบัติตาม

ต่อมาเวลา 16.00 น. นักประดาน้ำทั้งหมดได้เดินทางไปยังจุดที่เกิดเหตุ หลังจากที่ ปภ.จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้นำเรือเรดาห์ตรวจหาสัตว์น้ำ หรือเรือซาวเดอร์ ค้นหาจุดที่คาดว่าเป็นผู้สูญหาย จนได้หมายวางทุ่น เพื่อเป็นจุดค้นหาทั้งหมด 3 จุด ต่อจากนั้นนักประดาน้ำได้แบ่งชุดการทำงาน โดยชุดแรก ใช้นักประดาน้ำทั้งหมด 7 คน ในจุดแรก ดำลงไปในความลึก 55 เมตรจากระดับผิวน้ำ แต่ไม่สามารถมองเห็นพื้นผิวข้างล่างได้ เนื่องจากความลึกของน้ำทำให้เกิดความมืดสนิท และต้องยกตัวขึ้นมายังระดับผิวน้ำ ต่อจากนั้นนักประดาน้ำพยายามจะค้นหาผู้สูญหายในจุดที่ 2 ซึ่งอยู่บริเวณใกล้กัน ห่างกันเพียง 50 เมตร ใช้เวลาในการค้นหาครึ่งชั่วโมง ก่อนจะเลิกภารกิจในเวลา 18.00 น. เนื่องจากมืดค่ำเสียก่อน

รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี กล่าวด้วยว่า ในวันนี้ได้เริ่มค้นหาร่างผู้สูญหายในช่วงบ่าย เนื่องจากต้องรอผู้เชี่ยวชาญดำน้ำลึกและถังออกซิเจนแบบพิเศษที่ทาง จ.สุราษฎร์ธานี ได้ร้องขอจากครูฝึกดำน้ำที่ จ.ภูเก็ต และในวันนี้การปฏิบัติการล้มเหลว ซึ่งแผนการค้นหานั้น ได้ติตต่อประสานนักดำน้ำที่มีความเชี่ยวชาญน้ำลึกที่ ต.เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถมาช่วยปฏิบัติภารกิจได้ในวันพรุ่งนี้.