"วิษณุ" ชี้ ประชามติไม่ผ่าน เลือกใช้รัฐธรรมนูญปี 40 หรือ 50 เลยไม่ได้ ผิดหลักยึดอำนาจ ขณะทางเลือกไม่พ้นนำข้อดี รธน. 4 ฉบับ มาปรับใช้ โยน คสช. ชี้ชัดพูดทางออกเอง ปัดออกความเห็น "วัฒนา" โพสต์เฟซบุ๊กไม่รับร่าง

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 18 เม.ย. 59 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีเสียงคัดค้านหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะนำรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ มาผสมปรับใช้ใหม่ ว่า สื่อสรุปเอาเอง แค่บอกว่าสามารถทำได้ เช่น หยิบฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาเป็นต้นแบบ หรืออาจจะเอาร่างรัฐธรรมนูญปี 58, 59 หรือรัฐธรรมนูญปี 40, 50 มาปรับใช้ก็ได้ ที่จริงแล้วทั้ง 4 ฉบับ ก็ลอกกันมา และเวลาเรามองก็มอง 200 มาตรา ต่างกับนักการเมือง มองแค่ประเด็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกรัฐมตรีคนนอก และอำนาจ ส.ว. ขณะที่รัฐธรรมนูญไทย ที่มีมา 19 ฉบับ ได้ลอก ดัดแปลง ขยายความกันมา ไม่ได้ผิดไปจากกันมากเท่าไหร่ แต่ถ้าให้นำรัฐธรรมนูญปี 40 หรือปี 50 เลือกเอาฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้เลย แล้วเอาบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญปี 59 มาใส่เลย ถ้าอย่างนั้นก็จะตอบไม่ได้ว่ายึดอำนาจทำไม ถ้ากลับไปใช้กฎเกณฑ์กติกาเดิม ดังนั้น ควรเอาส่วนดีของแต่ละฉบับมา แต่จะให้ชัดๆ ต้องให้ คสช. พูดเอง อยากให้ใจเย็น เพราะอีก 3 เดือน ก็จะรู้ผลแล้ว

เมื่อถามถึงกรณีที่เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ออกมาแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า เท่าที่ดูการแสดงความคิดเห็นยังอยู่ในร่องในรอย ไม่เข้าข่ายความผิดชี้นำ เป็นการชี้จุดอ่อน 3-4 ข้อ ที่มีเหตุมีผล ไม่มีการเมืองซ่อนเร้น แต่ถ้าเป็นการบิดเบือน หลอกล่อ อย่างนั้นจะผิด ซึ่งทั้งนี้อยู่ที่ตัวบุคคล คำพูด และเวลาด้วย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามต่ออีกว่า กรณีที่ นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถือมีความผิดหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไม่มีความเห็น ส่วนการลงคะแนนเสียงประชามติ ต้องมีผู้สังเกตการณ์หรือไม่ ต้องแล้วแต่ กกต. แต่จริงๆ แล้ว มีหรือไม่มีก็ได้ เพราะการทำประชามติมีเพียงแต่รับหรือไม่รับ ไม่มีได้เปรียบเสียเปรียบเหมือนการเลือกตั้งทั่วไป

...

ส่วนคำถามว่า หากประชามติไม่ผ่าน คสช. ควรปลดประเด็นที่ฝ่ายต่างๆ ไม่เห็นด้วยหรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า ต้องรอให้ผลออกมาก่อน แล้วค่อยว่ากัน ซึ่งไม่ว่าประชามติจะออกมาอย่างไร คำถามหลักหรือคำถามพ่วง จะเป็นตัวบอกหน้าตาของรัฐธรรมนูญต่อไป ส่วนร่างใหม่จะเสร็จเร็วหรือช้า อยู่ที่กฎหมายลูกที่มีหลายฉบับ ที่ต้องละเอียดรอบคอบ แต่ธงการเลือกตั้งไม่เปลี่ยนจากปี 60 แน่

สำหรับประเด็นที่ว่า หากประชามติไม่ผ่าน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ กรธ.ชุดเดิม ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ นายวิษณุ ระบุว่า เป็นไปได้ทุกทาง และเป็นไปได้ที่จะตั้งทั้ง นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ ประธาน กรธ. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างฯ รวมถึงตนเอง ที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญ หากไม่ผ่านประชามติ ส่วนแนวโน้มการทำประชามติจะไม่ผ่านหรือไม่ ที่ขณะนี้มีหลายกลุ่มออกมาคัดค้าน ก็อยู่ผู้มีสิทธิ์ทั้ง 50 ล้านคน ตัดสินใจ.